คุยกับผู้กำกับ ‘กระเบนราหู’ หนังคว้ารางวัลจากเวนิส อุทิศแด่ชาวโรฮิงญา – โดย ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี

คุยกับผู้กำกับ ‘กระเบนราหู’ – ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตผู้ลี้ภัยในปัจจุบันนี้เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แต่กลับมีภาพยนตร์ไทยไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา

เมื่อต้นเดือนที่ผ่าน ภาพยนตร์เรื่อง “กระเบนราหู” (หรือ “Manta Ray” ในภาษาอังกฤษ) ได้สร้างชื่อบนเวทีนานาชาติอีกครั้ง ด้วยการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขา Orizzonti จากเทศกาลหนังเวนิสไปครอง นับว่าเป็นภาพยนตร์สัญชาติไทยเรื่องแรกที่ได้รางวัลอันทรงคุณค่านี้

นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างความประหลาดใจให้กับหลาย ๆ คนในวงการหนังไทย เจ้าของผลงานหรือผู้กำกับคือ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง บอกว่าเขาเองก็ประหลาดใจไม่แพ้กัน

คุยกับผู้กำกับ

พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับ ‘กระเบนราหู’

แม้ “กระเบนราหู” จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา แต่พล็อตของเรื่องนั้นช่างเรียบง่าย ภาพยนตร์ความยาว 105 นาทีนี้เล่าเรื่องของชาวประมงคนหนึ่ง (รับบทโดย วัลลภ รุ่งกำจัด) ที่พบคนแปลกหน้ากำลังนอนหมดสติ (รับบทโดย อภิสิทธิ์ หะมะ) จึงช่วยเหลือและรับชายแปลกหน้าคนนั้นเข้ามาอยู่ในบ้าน แต่เมื่อวันหนึ่งชาวประมงหายตัวไป ชายแปลกหน้าคนนี้ก็เริ่มเข้ามาครอบครองสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน รวมถึงภรรยาของชาวประมง (รับบทโดย รัสมี เวระนะ) ด้วย

แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้พูดถึงชาวโรฮิงญาอย่างตรงไปตรงมา แต่คุณพุทธิพงษ์ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์บนหน้าเว็บไซต์ของภาพยนตร์ว่า เขาขออุทิศผลงานชิ้นนี้ให้กับเหยื่อชาวโรฮิงญา

ผมหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสะท้อนความเปราะบางและไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ สุดท้ายแล้ว ผมก็แค่อยากสร้างหนังที่มีเจตนาที่ดีต่อมนุษย์ด้วยกัน เท่านั้นเอง” พุทธิพงษ์กล่าวในแถลงการณ์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่กี่วันหลังจากพุทธิพงษ์เดินทางถึงกรุงเทพ ผู้สื่อข่าวจึงรีบคว้าตัวผู้กำกับคนนี้มาพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ของเขา

  • ทำไมจึงตั้งชื่อเรื่องว่า “กระเบนราหู”

เราชอบดำน้ำ แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นนักดำน้ำมืออาชีพนะ ดำน้ำเป็นงานอดิเรกมากกว่า เราจำได้เมื่อประมาณปี 2009 เป็นทริปแรกที่เราไปดำน้ำอันดามัน เราไม่เคยรู้จักกระเบนราหูมาก่อน เคยได้ยิน แต่ไม่เคยเจอ เผอิญลงไปครั้งนั้นแล้วก็เจอกระเบนราหูพอดี ตัวมันใหญ่มาก

วิธีการเจอคือมันว่ายเข้ามาหาเรา แล้วเรามือใหม่มาก มันน่ากลัว แต่มันว่ายมาหาแล้วก็บินผ่านไป แล้วจริง ๆ แล้วโปรเจ็กต์ไม่ได้ชื่อ “กระเบนราหู” มาตั้งแต่ต้น มันชื่อ “Departure Day” มาตลอดเลยก่อนที่จะถ่าย เราก็ไม่รู้ว่าทำไมมันไม่ควรจะเป็นชื่อนี้ ก็เลยตั้งชื่อใหม่ว่า “กระเบนราหู”

และเราก็ชอบตรงที่กระเบนราหูมันเป็นสัตว์กินแพลงก์ตอน มันจะว่ายไม่หยุดเหมือนปลาวาฬ และต้องกินแพลงก์ตอนไปเรื่อย ๆ เลยเป็นส่วนนึงที่พูดถึงเรื่องความไม่มีบ้าน เดินทางไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีขอบเขตด้วย นอกจากนี้กระเบนราหูที่เราเจอมันอยู่ในทะเลอันดามันที่ ๆ คนอพยพเขาก็อยู่ตรงนั้นเยอะ เราเลยเลือกชื่อนี้

  • โปรเจ็กต์เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2552 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีข่าวเรื่องชาวโรฮิงญามากเท่าตอนนี้

ตอนนั้นปีพ.ศ. 2552 มีข่าวเรือ 6 ลำที่มีโรฮิงญา 300 คนมาแล้วถูกผลักออกไปแล้วตาย เราเลยคิดว่าอัตลักษณ์มันเริ่มสร้างผลร้ายแล้ว การที่เราหวงความเป็นชาติมันเป็นผลร้าย ทำให้ผมตามเรื่องโรฮิงญามาตั้งแต่ปีนั้นเลยว่ามีอะไรบ้าง สิ่งที่เรารับรู้มามีแต่เรื่องโศกนาฏกรรม ทำให้เราอยากจะพยายามทำหนังให้เขา แต่ก็ไม่ใช่โปรเจ็กต์ที่พูดในฐานะโรฮิงญาหรือเป็นเสียงของผู้อพยพ แต่พูดในฐานะคนที่มองเขา ว่าเราคิดกับเขายังไง

สิ่งที่ที่ทำให้เราประหลาดใจมากคือคนเกลียดโรฮิงญา คือเราก็รู้ตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าคนไทยชอบดูถูกประเทศเพื่อนบ้านแหละ แต่การดูถูกอันนั้นมันยังไม่เคยสร้างวิกฤตขนาดนี้ แต่พอกับโรฮิงญา มันเป็นวิกฤตเลยที่คนไทยพยายามใส่ความเกลียดให้เขาเยอะๆ เราเลยคิดว่าน่าจะเอามุมมองนี้มาทำหนังของเราได้

  • ระหว่างการถ่ายทำ ได้ลงพื้นที่ไปพบชาวโรฮิงญาจริงๆ ไหม มีการหาข้อมูลอย่างไรบ้าง

พอเราทำหนังเรื่องนี้ออกมา คนจะคิดว่าเราเป็นองค์กร NGO หรือเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษย์ อะไรงี้ แต่เราไม่ใช่เลย ไม่ใช่เลย แต่เราก็พยายามหาข้อมูลเท่าที่ทำได้ ลงพื้นที่ไปหาข้อมูลที่ระนองเราก็ไปมา วันที่เราคิดว่าเรามีเงินทำหนังจริง ๆ คือช่วงที่เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยปีพ.ศ. 2558 ข้อมูลเรื่องผู้อพยพมันมีความอ่อนไหวมากในตอนนั้น หาข้อมูลยากจริง ๆ ทุกหน่วยงานเขาไม่ช่วยเลย คือเราเข้าใจเขานะ เขาไม่รู้จักเรา เราอาจจะเป็นใครก็ไม่รู้ เราอาจเอาเรื่องของเขาไปทำเรื่องร้าย ๆ ก็ได้ แต่สุดท้ายเราก็พยายามหาจนได้ ได้คุยกับชาวโรฮิงญาตัวจริงประมาณ 30-40 คน

เราก็กลัวเหมือนกันนะ กลัวคนดูคาดหวังว่าหนังจะพูดเรื่องโรฮิงญาหรือเปล่า เพราะในหนังไม่ได้พูดเรื่องโรฮิงญาเลย ในหนังเราพยายามพูดเป็นกลาง พยายามไม่ตัดสินใจว่าใครถูกหรือผิด เราก็เข้าใจความขัดแย้งนี้

เหมือนโลกปัจจุบันมันอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ทุกอย่างมันกำลังจะโดนกลืนเข้าหากัน เราเข้าใจว่าอัตลักษณ์มันพยายามต่อสู้ คนที่เป็นเจ้าของประเทศพยายามแสดงอัตลักษณ์

เรามองว่าชาตินิยมมันไม่ได้ผิดหรอก แต่สิ่งที่ผิดคือชาตินิยมที่สร้างขึ้นมาแล้วไปมองคนอื่นที่ต่ำกว่า ผลักให้คนที่ต่างเป็นผู้ร้าย อันนี้มันผิด แต่การที่เรารักและใช้ความดีเพื่อให้อัตลักษณ์เราเด่นชัด มันไม่มีอะไรที่ผิดเลย

รัสมี เวระนะ และ อภิสิทธิ์ หะมะ ในภาพยนตร์ ‘กระเบนราหู’

  • ทำไมถึงให้คนแปลกหน้าเป็นใบ้ พูดไม่ได้

เราคิดว่าตัวละครตัวนี้ไม่น่าจะพูด เพราะเราไม่รู้ว่าจะให้เขาพูดภาษาอะไร เราไม่อยากให้หนังมันชี้เฉพาะไปว่าคนนี้คือโรฮิงญา แต่เราคิดว่าปัญหาของผู้อพยพทั่วโลกเป็นภาษาสากล และเป็นปัญหาสากล เราก็เลยอยากให้คนนี้เป็นตัวแทนคนที่โดนข่ม กดขี่ ก็เลยไม่อยากให้เขาพูดภาษาใดออกมา

แต่หนังมันโดนชี้ว่าเป็นหนังโรฮิงญา เพราะเอาจริง ๆ มันก็เกิดจากแรงบันดาลใจของเราที่มาจากคนโรฮิงญา ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกที่เรารู้จักและเจอกันตัวต่อตัว กลุ่มอื่นเราก็เคยแค่ได้ยินหรือจากการอ่านหนังสือเท่านั้น

ชาวประมง (วัลลภ รุ่งกำจัด) ช่วยเหลือคนแปลกหน้า (อภิสิทธิ์ หะมะ)

  • ภาพยนตร์มีกระแสตอบรับที่ดี คุณคิดว่าเป็นเพราะองค์ประกอบของหนังหรือสารเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัย

จริง ๆ เราได้คุยกับกรรมการเลย คือหลังประกาศรางวัลมีงานเลี้ยง กรรมการก็เดินเข้ามาคุย เขาบอกว่าชอบหนังเราเพราะสองประเด็น อันแรกคือเรื่องผู้อพยพ กับอย่างที่สองคือชอบที่หนังเรามีภาษาภาพยนตร์ที่ประหลาดมาก มันได้ความความรู้สึกที่มันแปลกประหลาด

จริง ๆ เราไม่ได้คิดมาก่อนหรอกว่าภาษาภาพยนตร์เราต้องเป็นยังไง เพราะพื้นฐานเราไม่ได้เริ่มจากการคนเขียนบท เราไม่ใช่คนทำภาพยนตร์แบบนั้นตั้งแต่ต้น ทำไม่ได้ด้วยแหละ ในบทภาพยนตร์เรามีแค่ 30 หน้าเองอะ โดยปกติมันต้องร้อยกว่าหน้า 30 หน้า แต่หนังมันมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนถ่ายทำ หลาย ๆ ฉากที่เกิดจากการไม่ได้เตรียมหรือวางแผนมาก่อน เราเลยคิดว่าการปะติดปะต่อไม่สมบูรณ์แบบนั้น มันอาจจะสร้างภาษาบางอย่างขึ้นมาก็ได้มั้ง

อย่างที่เราบอกว่าเราไม่ถนัดการเขียนสคริปต์ และเราไม่รู้ว่าคนในหนังมันต้องพูดอะไรกัันบ้าง บางคนชอบบอกว่าเรามินิมอลมาก แต่เอาจริง ๆ เราไม่รู้เลยว่าคนมันจะพูดอะไรเยอะขนาดนั้นในหนัง เราก็เลยนึกคำพูดที่เหมาะสมสำหรับเราในการพูด ทำให้บทสนทนามันน้อยยยย (ลากเสียง) มากเลยอะ พื้นฐานเรามาจาก Fine Arts อะ เป็นคนมองภาพมาตลอด เราก็เลยใช้ภาพเป็นส่วนใหญ่ในการเล่า

ส่วนเรื่องเสียง เราให้ความสำคัญกับเสียงมันไม่ด้อยไปกว่าภาพเลย หนังเราจะบันทึกเสียงของผู้ลี้ภัยตัวจริงไว้ เราไม่อยากให้มีภาพผู้ลี้ภัยในหนังของเรา เราไม่รู้ว่าจะมาทำความเศร้าโศกซ้ำทำไม เราเลยใช้เสียงของพวกเขาแทน เราให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาทำเสียง อืมมมมม (ฮัมในลำคอ) เป็นเสียงมันออกจากร่างกายแค่นี้ แล้วเราก็เอาเสียงพวกเขามาต่อกันให้เป็นเหมือนเสียงประสาน เป็นเพลงตอนจบ

ที่ทำแบบนี้เพราะเรารู้สึกว่าเวลาเราได้ยินเสียงต่ำ หัวใจเราจะเต้นอีกแบบนึง เราเลยคิดว่าถ้ามีคลื่นเสียงต่ำแบบนี้ในหนังไปทั้งเรื่องเลย มันน่าจะทำให้คนอยู่ในภาวะที่กดดันลงมา แล้วมันช่วยเรื่องภาพได้มาก

  • การชนะรางวัลจากเทศกาลหนังเวนิส มันมีความหมายกับคุณยังไงในฐานะผู้กำกับ

หลังจากทำหนังเสร็จ เรารู้ว่าต้องพยายามเอาไปฉายเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ เพราะถ้าฉายที่ไทยเลย เราเดาว่าคงไม่มีคนสนใจดูหรอก ช่วงเวลาที่ทำเสร็จมี 2 เทศกาล คือเวนิส กับโลคาโนที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่เราก็ตัดสินใจเอาเวนิสก่อนละกัน แต่พอส่งไปไม่กี่วันเอง เขาก็ตอบกลับมาเลยว่าเขาเอาหนังเรา แค่ตอนนั้นก็ดีใจแล้ว ส่วนเรื่องรางวัลนี่อยู่เหนือความคิดเลยอะ เพราะทุกคนไม่เคยคิดว่าจะได้รางวัล

เราก็กลัวเหมือนกันว่าคนดูจะคิดว่า โหย หนังโคตรกระแดะเลย ทำไมไม่ฉายเมืองไทยวะ ทำไมต้องเอาไปฉายเมืองนอกก่อน เรารู้ว่ามีคนคิดแบบนี้แหละ แต่การเอาไปฉายเมืองนอก อย่างน้อยเราไปฉายเวนิส 4 รอบ คนดูรอบนึง 700-800 คน เราได้รีวิว เราได้อะไรกลับมาเต็มเลย เหมือนเป็นการพัฒนาตัวเอง พัฒนาทีมงาน เรามองว่ามันเป็นประโยชน์ของการพัฒนาภาพยนตร์ ฉายโตรอนโตเราก็ได้ฟี้ดแบ็กกลับมา เราคิดว่าการฉายหนังที่เทศกาลมันไม่ได้เอาความเท่อย่างเดียว เราได้ผลที่ดีกลับมาด้วย

  • คิดมั้ยว่าหนังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

ไม่คาดหวังเลย เหมือนเราอาจจะมีใจลำเอียงไปเห็นใจชาวโรฮิงญาไปแล้ว เราคิดว่าความลำเอียงที่เกิดขึ้นกับเรา ก็เกิดจากการที่เรารู้ข้อมูลพวกนี้ ไปหาข้อมูลมาด้วยตัวเอง แต่หน้าที่ของเราคืออยากให้มีการพูดถึงพวกเขาอีกครั้งนึง แล้วมีคนเริ่มมาสนใจพวกเขาอีกครั้งนึง แค่นั้นก็พอแล้ว มันอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโลกขนาดนั้น เราอาจจะไม่มีพลังพอ แต่ถ้าหนังมันสร้างคำถาม ทำให้คนกลับมาคิดอีกรอบนึง ก็น่าจะพอแล้ว

ภาพยนตร์ “กระเบนราหู” ยังไม่มีกำหนดฉายในประเทศไทย

อ่านเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ : Thai Director on Rohingya and a Crisis of Hate

**************************************

อ่านข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง :

กระเบนราหู (Manta Ray) หนังไทยที่เพิ่งคว้ารางวัลในเวนิส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน