อ.อ.ป.ตัดไม้สักสร้างสภาใหม่ เตรียมส่งล็อตแรก 200 ท่อนภายในสัปดาห์นี้ ที่เหลือภายในสิ้นปี ระบุเป็นไม้เศรษฐกิจ ทำทุกขั้นตอนอย่างถูกกฎหมาย เผยเป็นภารกิจในการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

รัฐสภาใหม่ – กรณีรัฐสภามีโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณเกียกกาย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยรัฐสภาว่าจ้างบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลน ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า สงบ 1051 เป็นผู้ชนะการออกแบบ

โดยให้มีเสาไม้ประดับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทั้งภายในและภายนอกอาคารตามแบบสัญญาจ้าง และตามแบบสถาปัตยกรรมที่กำหนดว่า ต้องใช้ไม้สักเหลากลม ไม่คดงอ ไม่มีกระพี้ ไม่มีตาไม้ ที่ทำให้เสียความแข็งแรงและสวยงาม เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ยาว 5 เมตร จำนวน 4,534 ต้น จะต้องใช้ไม้สักที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีขึ้นไป นั้น

วันที่ 1 ต.ค. นายสุกิจ จันทร์ทอง รองผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันอ.อ.ป. ดูแลป่าเศรษฐกิจประมาณ 1,200,000 ไร่ทั่วประเทศ เป็นป่าไม้สัก 245 แห่ง รวมกว่า 600,000 ไร่ มีป่าสักจำนวน 40-50 ล้านต้น โดยอ.อ.ป.ได้เริ่มปลูกไม้สักมาตั้งแต่ปี 2510 ไม้สักที่มีอยู่ส่วนใหญ่จึงเป็นไม้ต้นใหญ่อายุหลายสิบปี

โดยทุกปีอ.อ.ป.จะตัดจำหน่ายไม้สักส่งภายในประเทศประมาณ 6 – 7 หมื่นลูกบาศ์กเมตรต่อปี หรือประมาณ 5 – 6 แสนต้นต่อปี แต่จะมีการปลูกเพิ่มทดแทนปีละประมาณ 9 แสนต้นต่อปี ซึ่งเป็นภารกิจหน้าที่ของอ.อ.ป. ในการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยปกติอยู่แล้ว

นายสุกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ก็เป็นลูกค้ารายหนึ่งของอ.อ.ป. ซึ่งมาทำสัญญาซื้อขายไม้สักรวม 1,000 ท่อน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ความยาว 5 เมตร

โดยเหลาเป็นท่อนกลม ซึ่งเราทำตามแบบโครงสร้างเสากลมของรัฐสภาที่ว่าจ้างไว้ เมื่อตัดท่อนคัดแยกตามแบบแล้ว ส่วนที่เหลือของต้นนั้นๆ จะนำไปขายตามปกติ คือ เราใช้ทุกส่วนของต้นไม้อย่างเป็นประโยชน์ ไม่มีการทิ้งขว้างแต่อย่างใด ส่วนราคาซื้อขายไม่อยากเปิดเผย แต่เป็นราคาตลาดไม้ตามปกติ และมีค่าดำเนินการต่างๆ ค่าเหลากลมเพิ่มไปด้วย

รองผอ.อ.อ.ป. กล่าวว่า ส่วนไม้สักที่ซื้อขายกันนั้นยืนยันว่า เป็นไม้สักจากสวนป่าเศรษฐกิจทางภาคเหนือ และถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน มีการทำทะเบียนก่อนตัด และหลังตัด แหล่งที่มาของสวนป่าอย่างละเอียด ซึ่งการตัดไม้สักไปนั้นอ.อ.ป.ได้ปลูกไม้ทดแทนอย่างสม่ำเสมอ และดำเนินการตามภารกิจในการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัด

ดังนั้นไม้สักที่อ.อ.ป.ส่งมอบให้บริษัท ชิโน-ไทย จึงไม่มีการสวมไม้จากธรรมชาติอย่างแน่นอน โดยภายในสัปดาห์นี้ บริษัท ชิโน-ไทย จะมารับไม้สักล็อตแรกเองที่จ.ลำปาง จำนวน 200 ท่อน ส่วนที่เหลืออีก 800 ท่อนจะทำการส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน