เปิดสถิติ เด็กถูกรังแก ในร.ร. ไทยรั้งที่ 2 ของโลก ชี้ใช้ความรุนแรง มีสิทธิ์เป็น ‘อาชญากร’

เด็กถูกรังแก– จากกรณีรุ่นพี่ชั้น ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา จำนวน 8 คน ได้พานักเรียนหญิง ป.4 ป่วยออทิสติก เข้าไปในห้องเรียนบอกว่าจะถักเปียให้ แต่ปรากฏว่ารุ่นพี่ กลับรุมกระชากผม และทำร้ายร่างกาย รวมถึงเอาเท้าเหยียบหน้าอย่างรุนแรง โดยผู้ปกครองเด็กผู้เสียหาย จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด แถมยังแฉว่า โรงเรียนจะให้เด็กที่กระทำความผิดจ่ายเงินให้รายละ 500 บาท เพื่อขอให้จบเรื่องนั้น

วันที่ 11 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อดีตอธิบดี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้สถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น และไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยอย่าง ที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เข้าใจ เด็กที่รังแกกันมีตั้งแต่ระดับอนุบาล และที่น่าห่วงคือ ขณะนี้เด็กเข้าถึงสื่อโซเซียลง่าย พ่อแม่และครูมีเวลาให้เด็กน้อย เด็กเรียนรู้ความรุนแรงจากเกม สื่อต่างๆ และไปใช้กับเพื่อน

“เด็กจำนวนมากกำลังเผชิญการถูกรังแก ล้อเลียน ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้น และยังพบปัญหาใหม่ มีการรังแกกันผ่านสื่อออนไลน์ทั้งการใช้ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอคลิปบนโลกอินเตอร์เน็ตด้วย” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

และว่า ข้อมูลผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2553 การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศพบว่าร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ อีกร้อยละ 43 บอกเคยถูกคนอื่นรังแก

“การรังแกกันหรือล้อเลียนกันในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้น และเป็นการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง การทำร้ายกัน มีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์จิตใจร่างกาย และคุณภาพชีวิตในระยะยาว นักเรียนที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย

ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว” อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน