ผู้กำกับเอ็มวี ประเทศกูมี ชี้หากสังคมไม่ได้รู้สึกแบบในเพลง มันจะเงียบหายไป เชื่อเพลงไม่ได้ทำลายประเทศ ถามกลับ ประเทศที่บอกว่า ถูกทำลาย เป็นประเทศของใคร

ภายหลังกลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD เผยแพร่เพลงแร็พสะท้อนสังคมการเมือง ประเทศกูมี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ก่อจะเผยแพร่มิวสิกวีดีโออย่างเป็นทางการ โดยเลียนฉากจากโศกนาฎกรรม 6 ต.ค. 2519 ตอกย้ำความจริงน่าอดสูสังคมไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ต.ค. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมากล่าวถึงเพลงดังกล่าวว่า อาจมีเนื้อหาผิดกฎหมาย ก่อนที่ บก.ปอท. จะระบุว่า มิวสิกวีดีโอและเพลง เข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ รวมทั้งอาจดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์เพลงนี้ด้วย

ข่าวสดออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม หรือ พี่เปีย ผู้กำกับ และผู้วางแผนรูปแบบมิวสิกวิดีโอเพลง ประเทศกูมี เพื่อถามถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของกลุ่มศิลปินแร็พที่ทำโปรเจ็กต์นี้

เพลงคือ…ศิลปะที่บอกเล่าความจริง

เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ พี่เปีย เผยว่า “ความจริง” ที่เกี่ยวกับสังคมการเมืองที่มีมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น 14 ต.ค. 2516 ก็มีการแต่งเพลงแสดงทัศนะทางสังคม เช่น เพลงเพื่อชีวิต และก็มาจนถึงปัจจุบัน การแสดงออกเชิงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ศิลปินมีสิทธิจะผลิตผลงานที่สะท้อนทัศนะคติของเขา ศิลปะคือที่ที่ใช้ศิลปินในการสื่อสารให้กับคนทั่วไป เป็นผู้ส่งสาร ที่ต้องมีคนรับสาร เสพงาน ถ้างานชิ้นนั้นไม่น่าสนใจ หรือคนที่รับสารไม่รู้สึกว่าตรงกับสิ่งที่เขาคิด สุดท้ายกระแสก็จะเงียบ

ศิลปะสามารถสร้างแรงสะเทือนให้กับสังคมได้มาก เพลงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของการวิพากษ์ผู้มีอำนาจในแบบที่เพลงแร็พทำ ส่วนเราเป็นคนกำกับวิดีโอ เพื่อเสริมการเล่าเรื่องที่ศิลปินขับร้อง เราอยากพูดในสิ่งที่สะท้อนสังคมที่กำลังเกิดขึ้น อยากมีพื้นที่เสรีภาพในการพูด คนที่มีความเห็นที่แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ เราเป็นเพื่อนกันได้ เป็นพี่น้องกันได้ ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องมีทัศนะคติที่สอดคล้องกัน ศิลปินจึงเป็นเหมือนเนื้อดินให้กับงานศิลปะ

“หากสิ่งที่เราพูดในเพลงไม่จริง หรือไม่ไปกระตุ้นความรู้สึกคนฟัง มันไม่มีทางติดกระแส มันเหมือนเสียงที่เราตะโกนไปในความว่างเปล่า แต่หากมีคนไม่ชอบ พูดในสิ่งตรงข้ามที่เพลงนั้นนำเสนอ มันก็เป็นสิทธิเสรีภาพเขา เรามองว่างานศิลปะที่ดี จะโตในสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพ ที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้”

แรงสั่นสะเทือนหลังเพลงกระเด็นเข้าหูคนฟัง

ผู้กำกับเอ็มวี ประเทศกูมี เล่าต่อว่า “เพลงนี้เหมือนเป็นปากเสียงที่พูดแทนความรู้สึก” คุณต้องยอมรับว่า ความจริงเพลงนี้มันก็เหมือนข่าวแปะ (ข่าวที่ถูกนำเสนอจากสื่อกระแสหลัก) ที่มันมีความอยุติธรรมเกิดขึ้น คนทำผิดแต่ไม่ได้รับการลงโทษ มันอาจจะแสลงหูผู้มีอำนาจ แต่เรายืนยันว่า เราพูดความจริงในมุมของเราเอง และมีสิทธิ์ที่จะพูดสิ่งที่เราคิด

เมื่อถามต่อว่า เหตุใดเพลงประเทศกูมี ถึงสร้างการระคายเคืองให้แก่ผู้มีอำนาจ พี่เปีย ตอบว่า เพราะในเพลงนี้ ‘รัฐ’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจ’ ตกเป็นจำเลย แม้ว่าเราจะไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่เชื่อว่าสังคมรับรู้ และตีความเองได้

สิ่งที่ประเทศกู(ไม่)มี

เมื่อเปรยถึงคำถามนี้ พี่เปียได้หยุดคิด ก่อนส่ายหัวและหัวเราะเสียงดัง พร้อมตอบว่า ก็ไม่มีเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการพูด ควรเปิดช่องโอกาสให้คนหายใจได้บ้าง เราก็อยู่กับคุณมา 4 ปีแล้ว และก็คาดหวังว่าจะเกิดการเลือกตั้ง สุดท้ายสังคมจะคลายล็อกหรือไปข้างหน้า เราก็ต้องกลับมาสู่กติกาที่เป็นประชาธิปไตย

ประเทศกูมีคือผลผลิตที่ทำร้ายประเทศไทย ?

มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมองประเทศไทยอย่างไร … เรามองประเทศไทยในฐานะ แผ่นดินที่รัก และรวบรวมพลเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ เราคิดว่าการพูดความจริง หรือการที่ประเทศยินยอมจะให้พูดในสิ่งที่ประชาชนคิดได้ มันเป็นประเทศที่น่าอยู่

“แต่ถ้าคุณมองประเทศนี้เป็นของคุณ หรือเป็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คุณก็จะรู้สึกว่า คนที่ทำเพลงเหล่านี้นี้ออกมาคือ คนที่ทำร้ายประเทศ เพราะคุณมองอีกกลุ่มว่าไม่ใช่คนในประเทศ”

อ่าน : เราก็แค่…พูดความจริง! เปิดใจผู้กำกับเอ็มวีเพลงแร็พสุดฮอต #ประเทศกูมี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน