อุทธรณ์สั่งคุก 2 ปี 8 เดือน ‘วีระ-ณัฐวุฒิ-วิภูแถลง-เหวง’คดีบุกบ้านป๋าปี 50 ก่อนให้ประกันตัวสู้ในชั้นฎีกา เต้นขอบคุณศาล แต่ยังห่วง‘จตุพร’ ‘วิษณุ’เผย 6 ก.พ.เส้นตายรธน. 6 ก.พ. หากไม่โปรดเกล้าฯลงก็ต้องตกไป ยันถึงตกก็ไม่ใช่ทางตันมีทางออก ส่วนโทษประหารคนทุจริต ถ้าถึงรัฐบาลก็ต้องทบทวน สปท.ชงอีกปรองดอง ให้คนต่างแดนกลับมาประกันตัวสู้คดี

บิ๊กตู่ให้ 3ด.แก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวในช่วงต้นของการประชุมว่า การประชุม ต่อไปนี้ทุกคณะให้เวลา 3 เดือน ในทุกเรื่อง ถ้า 3 เดือนไม่ยุติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องดูแลงานโครงสร้างทั้งหมด รวมทั้ง ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบแล้วยังพบมีปัญหาอยู่บ้างในทางปฏิบัติ ยังติดปัญหาหลายอย่าง จึงต้องมีคณะทำงานปฏิรูปขึ้นมา เช่นเดียวกับเรื่องนี้ คือการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจทั้งหมด อยู่ที่ความร่วมมือ หรือที่ทุกคนมีจิตใจอยากจะทำ อยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นผลดีกับประเทศโดยไม่นึกถึงตัวเอง เรื่องนี้เป็นวิธีที่ตนเองคิดมาตลอด

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2560 ก่อนแถลงผลการประชุมว่า เป็นการแจ้งสถานการณ์ข้าวของปีนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวในลำดับที่ 2 รองจากอินเดีย รวมถึงข้าวหอมมะลิของไทยก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงได้หารือและอนุมัติตั้งคณะทำงานข้าวครบวงจรของกระทรวงพาณิชย์ขึ้นมา พร้อมกำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นคนปลูกและคนขายจะต้องกอดคอกัน ทั้งนี้รัฐบาลมีมาตรการหลายอย่างออกไปแล้ว 14 มาตรการ ซึ่งใช้เงินหลายแสนล้านบาท แต่จำเป็นต้องไปดูแลคนอื่นเขาด้วย

ป้อมลั่นเดินตามโรดแม็ป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโพลระบุไทยยังไม่พร้อมเลือกตั้งในปี 2560 แล้วรัฐบาลพร้อมจะทำงานต่อไปถึงปี 2561 หรือไม่ว่า ไม่ว่าผลสำรวจจะเป็นอย่างไร รัฐบาลยืนยันต้องเดินหน้าไปตามโรดแม็ปที่สัญญากับประชาชนไว้ในภาพรวม ส่วนเรื่องอื่นรัฐบาลไม่ได้คิดว่าจะต้องอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้หรือจะอยู่ไปกี่ปี ทั้งนี้รัฐบาลพยายามจะปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง แม้จะมีเรื่องมากกว่าร้อยเรื่องก็ดำเนินการอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้พูดคุยและวิเคราะห์กับพล.อ.ประยุทธ์ถึงการดำเนินการตามโรดแม็ปหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะขั้นตอนขั้นที่หนึ่งก็ยังไม่เสร็จ จากนั้นจะมีขั้นตอนขั้นที่สองและสามไปจนถึงการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ทุกอย่างมีขั้นตอน

วิษณุชี้ม.ค.นี้ตั้งกก.ปฏิรูป4คณะ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองขึ้นในการขับเคลื่อน มี 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ โดยตั้งสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองขึ้นด้วยว่า การดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยการออกคำสั่งตามมาตรา 44 กำหนดโครงสร้าง ส่วนรายชื่อกรรมการแต่ละชุดนั้น คาดว่าจะออกเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ ต่อไป

นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีชื่อบุคคลจากภาคส่วนใดบ้าง แต่คาดว่าแต่ละชุดจะมีกรรมการจำนวนไม่มาก เพื่อไม่ให้เสียเวลาหารือเรื่องต่างๆ มากเกินไป ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการทั้งหมดได้ภายในเดือนม.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม นายกฯ เคยระบุว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง ที่นายกฯ เป็นประธาน รองนายกฯ ทุกคนร่วมอยู่ในกรรมการ ภายในสัปดาห์นี้

ถ้างานไม่เสร็จส่งต่อรัฐบาลหน้า

เมื่อถามว่าเหตุใดนายกฯ จึงหยิบยกเรื่องการผลักดันการปฏิรูปและการปรองดองขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญในช่วงนี้ นายวิษณุกล่าวว่า เดิมคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มบังคับใช้ช่วงเดือนพ.ย.2559 ตามมาด้วยการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ช่วง 1 ปีที่เหลือหลังจากเริ่มใช้รัฐธรรมนูญจะหยิบเรื่องปรองดองมาดำเนินการ แต่ขณะนี้ล่วงเลยเวลาที่เราคาดการณ์ไว้มา 1 เดือนเศษแล้ว จึงคิดว่าหยิบเรื่องการสร้างความปรองดองขึ้นมาทำเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการชุดนี้มารับช่วงต่องานจาก สปท. ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สปท.จะส่งงานปฏิรูปมาให้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ส่วนงานที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติจะส่งมาที่คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วนการสร้างความปรองดองนั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมเคยทำไว้ บวกกับงานที่สปท.จะเสนอมาให้รัฐบาล รวมถึงข้อเสนอต่างๆ จากนักการเมืองและฝ่ายต่างๆ ทั้งหมดจะถูกส่งมาที่คณะกรรมการปรองดอง เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันหมดวาระ งานของคณะกรรมการเหล่านี้ยังไม่เสร็จสิ้นก็ต้องส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งรับไปทำต่อ ซึ่งเขาจะทำตามหรือไม่ทำตามแนวทางเดิมก็ได้ แต่เห็นว่าอย่างน้อยในช่วงนี้ควรจะทำให้เป็นรูปเป็นร่าง เพื่อเป็นหน้าตาของรัฐบาล

ชี้ 6 ก.พ. เส้นตายรธน.ใหม่

เมื่อถามถึงกรณีคาดการณ์ว่ารัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หากยังไม่โปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในกรอบเวลา 90 วัน นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ขอตอบประเด็นนี้ กลัวว่าพูดไปแล้วจะผิด และไม่อยากให้เกิดความคาดหมายว่าจะต้องเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหากครบ 90 แล้วยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญลงมาจะเป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า “ก็ตกไป จะทำอย่างไรต่อก็ต้องพิจารณากัน อาจต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะมันไม่มีช่องทางอะไรเขียนไว้ และถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจริง รัฐบาลต้องประกาศให้ทราบ จะมุบมิบทำไม่ได้ เรื่องแบบนี้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำได้แต่เพียงคิดไว้ในใจ ไม่มาแลกเปลี่ยนกันตอนนี้ แต่เมื่อมีอะไรขึ้น คงต้องพูดกันได้ ซึ่งกรอบ 90 วันนั้นคือวันที่ 6 ก.พ.นี้ และถึงอย่างไรประเทศไม่มีทางตัน”

เล็งทบทวนประหารคดีทุจริต

นายวิษณุยังกล่าวถึงสปท. เห็นชอบรายงานเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ของกมธ.ด้านการเมือง ให้ประหารชีวิตคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไปว่า ขณะนี้สปท.ยังไม่ได้ส่งให้รัฐบาลพิจารณา แต่คดีทุจริต ตามกฎหมายเดิมมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่จะต้องพิจารณากระแสโลกที่ไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตด้วย และไทยได้รับปากกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่นครเจนีวา ไว้ว่าเราจะไม่เลิกโทษประหารชีวิตในทันที แต่อะไรที่มีโทษประหารชีวิตอยู่ จะพยายามแก้กฎหมายให้มีทางเลือกอื่น หรือจำคุกตลอดชีวิต และอะไรที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตจะกำหนดโทษจำคุกเป็นจำนวนปีไป ในระยะยาวจะค่อยๆ ลดลง แต่เรายืนยันว่าจะไม่เลิกโทษประหารชีวิตในทันที

“กรณีที่เป็นกฎหมายใหม่ เราจะไม่เขียนให้มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต หรือถ้ามีโทษประหารชีวิตเราจะระบุไว้ว่า หรือเพื่อให้เป็นทางเลือก เพราะมันมีมาตรการที่เล่นงานหรือจัดการคนทุจริตเกินพันล้านบาทหลายมาตรการ ทั้งนี้การออกกฎหมายมีทางหลายทาง ไม่ใช่จะเอาโทษหนักอย่างเดียว เพราะบางทีอาจจะใช้ไม่ได้ผลก็ได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายมาถึงรัฐบาลจะต้องดูอีกที”นายวิษณุกล่าว

มีชัยยันส่งกม.ทันโรดแม็ป

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงระยะเวลาของโรดแม็ปสู่การเลือกตั้งว่า การกำหนดระยะเวลาของโรดแม็ปขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ แต่กรธ.ยืนยันว่าจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 240 วัน ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนด เบื้องต้นกรธ.จะส่งร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. กรธ.จะส่งให้สนช.ภายหลังเพราะต้องรอความชัดเจนในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และกกต. จากสนช.ก่อนว่าจะปรับแก้เนื้อหาอย่างไรบ้าง และจะเสร็จสิ้นเมื่อไร เพราะพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับจะต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องและมีทิศทางเดียวกัน

ลั่นกรธ.ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่ามีทางหรือไม่ที่การพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับจะเสร็จสิ้นก่อน 240 วัน นายมีชัยกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพรรคและกกต.ว่าจะปรับตัวตามกฎหมายฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะถ้าพรรคไม่พร้อม จนไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ก็จะเป็นปัญหา และหากสนช.มีมติไม่เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ. เชื่อว่ากรณีเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นก็เป็นเหตุสุดวิสัย คิดว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของกรธ.ในการพิจารณาเสนอร่างพ.ร.บ.ให้สนช.จนกว่าจะผ่าน แต่เชื่อจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากแก้ไขเฉพาะในประเด็นที่สนช.ไม่เห็นด้วยเท่านั้น และกรธ.ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 10-15 วัน โดยยืนยันว่าร่างกฎหมายที่กรธ.จะส่งไปนั้น กรธ.ไม่หวงเหมือนงูจงอางหวงไข่ที่ไม่ให้ใครมาแตะต้อง

เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีปัจจัยนอกทำให้โรดแม็ปต้องเลื่อนออกไปกว่าที่กำหนด นายมีชัยกล่าวว่า ตอนนี้ยังกำหนดอะไรไม่ได้ และเรื่องปัจจัยภายนอกไม่ใช่หน้าที่ของกรธ.ที่ต้องไปคำนึงถึงเหตุการณ์ภายนอก เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ยืนยันว่ากรธ.จะทำหน้าที่ในส่วนของกรธ.ให้ดีที่สุด ถ้าทันเป็นปีนี้ คิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นช่วงปลายปีหรือก็เป็นต้นปี 2561

สปท.ชงใช้ม.44สร้างปรองดอง

คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน เตรียมเสนอรายงานเรื่อง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง 10 หน้ากระดาษ ช่วงแรกระบุถึงสภาพปัญหาสาเหตุความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2548-2557 และมีข้อเสนอมาตรการแก้ปัญหาขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ส่วนมาตรการและวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง การรู้รัก สามัคคี สามารถดำเนินการได้โดยการให้มีกฎหมายเฉพาะโดยผ่านกระบวนการทางสนช.หรือจะใช้อำนาจตามมาตรา44 ก็สุดแต่ครม.และหัวหน้าคสช.จะพิจารณา

ส่วนหัวข้อที่น่าสนใจคือหัวข้อ 2.5 ที่ระบุถึงการแก้ปัญหาคนที่ต้องคดีในช่วงวิกฤตการเมือง แยกเป็น (1) มาตรการแก้ปัญหาต่อกลุ่มแกนนำผู้สั่งการและฝ่ายประชาชน (2) ใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยหลักการของการให้โอกาส

“(3) ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาที่เกี่ยวกับการเมือง และยังหลบหนีอยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ โดยให้ได้กลับเข้ามาประเทศไทย พร้อมให้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัว (ปล่อยตัวชั่วคราว) ไปต่อสู้คดีได้ทุกกรณีภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้ (4) ส่วนคดีความที่ได้มีคำพิพากษาและคดีได้ถึงที่สุดไปแล้ว อันมิใช่คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 211 และมิใช่คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ให้ชะลอการลงโทษไว้ก่อนและให้ปล่อยตัวไป โดยมีเงื่อนไขห้ามบุคคลดังกล่าวกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลังปัญหาการเมืองไทย”

ให้ยอมรับผิดแล้วปล่อยตัวไป

นอกจากนี้มีข้อเสนอหลายประการโดยเน้นย้ำแนวทางเพื่อให้เกิดความปรองดองและการให้โอกาสผู้ต้องคดีความ นำไปสู่ความรู้รักสามัคคี โดยคดีการเมืองที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือที่เกี่ยวกับคดีทางการเมือง หรือ แสดงออกทางการเมือง รวมถึงผู้ที่หลบหนีคดีตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 22 พ.ค.2558 หากบุคคล ดังกล่าวกลับมามอบตัว หรือถูกดำเนินคดีตกเป็นจำเลยให้การยอมรับต่อศาลว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือตามถูกฟ้องคดีต่อ ศาล ก็ให้หยุดโทษหรือให้พักการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ก่อนเช่นกัน และให้ปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราวมีกำหนด 5 ปี หากระหว่างระยะเวลาดังกล่าว จำเลยมิได้ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือมิได้กระทำความผิดอาญาใดๆ ให้คดีดังกล่าวยุติลงเสมือนว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด และให้ปล่อยตัวไปดำเนินชีวิตตามปกติ

สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และอยู่ระหว่างการหลบหนี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มีมาตรการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหากลับมามอบตัวเพื่อต่อสู้คดี โดยให้ได้รับการประกันตัวได้ทุกคดีและให้คดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป หรือจะให้การยอมรับตามที่ถูกกล่าวหาหรือตามที่ถูกฟ้องคดีต่อศาล ก็ให้ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวให้กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปเช่นกัน

สมคิดชี้โหมข่าวเลื่อนเลือกตั้ง

ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบล ราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเลื่อนการเลือกตั้งไปกลางปี 2561 ว่า เป็นการปฏิบัติการทางการข่าว โหมกระแสจากทุกทาง อ้างปัจจัยอื่นๆ ซึ่งไม่รู้อะไร จากนั้นผลโพลภายใต้อาณัติก็จะออกมาเห็นด้วยในการเลื่อนการเลือกตั้ง การออกกฎกติกาต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ใช้วิธีการนี้มาตลอดเวลา เป็นการใช้ระบบเผด็จการเต็มรูปแบบ เครื่องมือ คือพวกมาจากการแต่งตั้งบางกลุ่มที่อยากอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ เช่น นักวิชาการขายวิญญาณบางคนที่ได้ประโยชน์จากอำนาจ นายทุนที่ได้รับประโยชน์จากเผด็จการ บางคนอ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทั้งที่ยึดอำนาจมาจะสามปีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นทีท่าจะเห็นมรรคผลอะไร

“วันนี้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ. ประวิตร กำลังจะคล้อยตามกระแสที่กลุ่มเหล่านี้สร้างขึ้น โดยไม่สนใจใยดีกับการดำรงชีวิตอย่างยากลำบากของประชาชน อยากจะเลื่อนไปกี่ปีก็เชิญตามสบาย แต่ต้องหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลหน่อย อย่าให้ถึงขั้นประชาชนออกมาเรียกร้องอีกเลย” นายสมคิดกล่าว

สมชายชี้ปรองดองต้องทำจริง

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลตั้งคณะกรรมการปรองดองว่า ตนพูดมาตลอดว่าปรองดองเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีคำว่าสายไป แต่อาจจะไม่ใช่ของง่าย และขอให้ปรองดองอย่างจริงจัง อย่าเพียงสร้างภาพ อย่าปรองดองกันแต่เพียงคำพูด ขอให้ลงถึงปัญหาจริงๆ ว่าปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน จะดับปัญหานั้นอย่างไร ที่สำคัญคืออย่าใช้หลายมาตรฐาน เพราะที่ผ่านมาจุดนี้ถูกว่ากล่าวมา ตนบอกเสมอว่าใครใดทำเรื่องปรองดองได้สำเร็จ จะเป็นวีรบุรุษของชาติ เพราะวันนี้บ้านเมืองเราแตกแยกกันรุนแรง ซึ่งทุกคนรู้ดี ขอให้ลงมาสัมผัสจริงๆ และแก้ตรงต้นเหตุ ไม่ใช่พูดว่าจะแก้ แต่ทำไปทำมาแล้วเหมือนเดิมเพราะแบบนี้ไม่มีประโยชน์ ขอให้กำลังใจผู้ทำ และขอให้ทำอย่างจริงจัง โดยเห็นแก่ชาติ บ้านเมือง และประชาชน

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับต้นเหตุ ตนคิดว่าตั้งแต่ปี 2549 บ้านเมืองเราแตกแยก มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง ซึ่งการปฏิบัติกับแต่ละฝ่ายก็ถูกนินทาว่าไม่เท่าเทียมกัน ตรงนี้ต้องแก้ให้หมด อย่าเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าผู้แก้เป็นรัฐบาลก็ต้องยืนอยู่ตรงกลาง อย่ายืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องแก้ให้จบ ตนคิดว่าคนที่ทำต้องรู้ดี ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเจอปัญหาความแตกแยก อยากให้ความแตกแยกนั้นหมดลง

เมื่อถามว่าการปรองดองต้องใช้วิธีนิรโทษกรรมหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ทำได้หลายอย่าง นิรโทษกรรมอาจเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายๆ ส่วน ต้องดูให้ชัดเจน ทั้งเรื่องความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรม ความแตกแยกระหว่างสีเสื้อ ต้องแก้ทุกกระบวนการ

อุทธรณ์ชี้คดีล้อมบ้าน‘ป๋า’

เมื่อเวลา 14.50 น. ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปี 2550 คดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนพ.เหวง โตจิราการ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216, 297, 298 ประกอบมาตรา 33, 83 และ 91

กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของพล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

ชั้นต้นคุกวีระ-เต้น-วิภูแถลง-เหวง

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.58 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และนพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 พร้อมให้ริบของกลางทั้งหมด

ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ว่าจำเลยไม่อยู่ในวันที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 4-7 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวและทำเพื่อปกป้องการถูกคุกคาม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในการลงโทษ ส่วนนายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ซึ่งศาลยกฟ้อง นั้นอัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์

วันนี้อัยการโจทก์ จำเลยที่ 1, 4-7 เดินทางมาศาลพร้อมกับนางธิดา โตจิราการ อดีตประธาน นปช., นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายสมหวัง อัสราษี รวมถึงภรรยาของนาย ณัฐวุฒิ คนใกล้ชิดและประชาชนที่มาให้กำลังใจกว่า 30 คน

อุทธรณ์สั่งขัง‘นพรุจ’ไม่รออาญา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีตำรวจ 2 นายซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุม เบิกความว่าขณะเกิดเหตุชุมนุมและระหว่างนั้นพบ นายนพรุจจำเลยที่ 1 ได้ปาอิฐตัวหนอนใส่กลุ่มตำรวจที่พยายามเข้าจับกุม แล้วยังขับรถกระบะพุ่งใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ท้ายรถกระบะ แต่รถกระบะได้เสียหลักหักหลบชนขอบฟุตปาธ พบนายนพรุจยืนอยู่ด้านหลังรถกระบะ มือข้างหนึ่งถือด้ามธง อีกมือหนึ่งถืออิฐตัวหนอน และใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 1 ได้กระโดดทิ้งเข่าคู่ลงไปใส่ตำรวจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ข้อมือหัก ซึ่งการกระทำของจำเลยบนรถกระบะซึ่งโดดเด่นเป็นพิเศษเป็นที่จดจำและสนใจให้กับผู้ที่พบเห็น รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์ ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้อ้างว่าขณะนั้นตนไม่อยู่ในที่เกิดเหตุนั้น แต่เดินทางไปรับญาติของตนเอง ในชั้นพิจารณาจำเลยเบิกความยอมรับว่าเป็นแกนนำกลุ่มพิราบขาว

ดังนั้น การที่จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นไปได้ ประกอบกับจำเลยไม่มีบุคคลอื่นมาเบิกความสนับสนุน จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ซึ่งพยานโจทก์ที่อยู่ในที่เกิดเหตุรู้เห็นเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในขณะนั้นไม่มีเหตุปรักปรำจำเลย จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้และที่ขอให้ศาลลดโทษโดยอ้างเหตุมีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูบิดามารดาและบุตร รวม 5 คน แต่เป็นเหตุผลส่วนตัวของจำเลยอีก ทั้งเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ทำร้ายเจ้าหน้าที่จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ชี้ 4 แกนนำนปช.พูดยั่วยุ-สั่งการ

ส่วนของจำเลยที่ 4-7 อุทธรณ์สู้ว่าไม่มีเจตนาใช้กำลัง ไม่ได้เป็นแกนนำและสั่งปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง ส่วนการใช้อิฐตัวหนอนตอบโต้เพื่อป้องกันการคุกคาม เป็นการป้องกันตัวโดยชอบตามกฎหมาย ศาลเห็นว่าระหว่างการชุมนุมซึ่งมีการปาขวดน้ำและอิฐตัวหนอนใส่เจ้าหน้าที่จนผ่านจุดสกัดกั้น และเจ้าหน้าที่ถอยร่นไปบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ซึ่งระหว่างนั้นกลุ่มจำเลยได้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยปลุกเร้าระบุว่าให้ลุยเข้าไป ยึดรถเลย บุกมาแค่ไหนไม่กลัว สู้กันเลย ต่อไปเป็นสงครามประชาชน ใครมี มือถือโทร.ตามพี่น้องเข้ามาร่วม ซึ่งมีเสียงเฮและปรบมือตอบรับจากกลุ่มผู้ชุมนุม และระหว่างนั้นตำรวจได้แจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยไม่ยอมยุติ

กระทั่งเวลา 23.00 น. ตำรวจจึงบุกเข้าจับกุมจำเลย ซึ่งการกระทำนั้นแม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่การปราศรัยของจำเลยมีลักษณะใช้ถ้อยคำยุยงให้ผู้ชุมนุมรู้สึกฮึกเหิมกล้าสู้กับตำรวจ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ระหว่างนั้นจำเลยกับพวกสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการยุติการชุมนุม และที่จำเลยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะให้สิทธิรับรองไว้ แต่การชุมนุมต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น สุจริตไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง แต่พฤติการณ์ ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การชุมนุมของจำเลยไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ มีเจตนาพิเศษให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และมีอำนาจสั่งการใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งการที่จำเลยอ้างว่าการกระทำต่อเจ้าหน้าที่เป็นการป้องกันการคุกคามนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย

โดนคุกคนละ 2 ปี 8 ด.ไม่รออาญา

พยานโจทก์เป็นตำรวจหลายนายรวมทั้งสื่อมวลชน เบิกความสอดคล้องกับภาพถ่ายและวิดีโอบันทึกในที่เกิดเหตุจึงรับฟังได้ว่า จำเลย 4-7 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายฯ ตามมาตรา 215 และ 216

ส่วนที่จำเลยที่ 4-7 อุทธรณ์ต่อสู้ว่าการกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวนั้นฟังขึ้นบางส่วน เนื่องจากการชุมนุมของจำเลยมีเจตนาเดียวเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย และความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้น ก็รับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ตัวการร่วม ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็น ผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด

หลังฟังคำพิพากษา กลุ่มผู้ใกล้ชิดรีบเข้ามาให้กำลังใจจำเลย และสอบถามถึงผลคดี โดยจำเลยทั้ง 4 มีสีหน้ากังวลเล็กน้อย ก่อนที่ทนายความจำเลยจะยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 500,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งห้า ระหว่างฎีกา

ศาลให้ประกัน-เต้นยังห่วงจตุพร

ต่อมาเวลา 18.00 น. ภายหลังศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้วอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 5 โดยตีราคาประกันคนละ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขเดิมคือ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต

นายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอบคุณศาลที่เมตตาให้ประกันตัว จากนี้จะหารือกับทนายเพื่อรวบรวมหลักฐานต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป เราน้อมรับและเคารพคำวินิจฉัยของศาล เมื่อกระบวนการยังไม่ถึงที่สุดก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะต้องต่อสู้คดีกันต่อ แม้พวกตนจะได้รับอิสรภาพแล้ว แต่ก็ยังห่วงใยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่ยังไม่ได้รับอิสรภาพ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเราจะต้องดำเนินการเพื่อให้นายจตุพรได้รับการประกันตัวจากศาลต่อไป

เมื่อถามว่าอาการป่วยของนายจตุพรในขณะนี้ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ได้พบกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว อาการดีขึ้นแต่ยังไม่เรียกว่าหายดี อยู่ในระยะต้องเฝ้าระวัง ขณะนี้ทราบจากประชาชนที่ไปเยี่ยมว่านายจตุพรมีอาการหนาวสั่น และขอตัวกลับไปกินยาหลังเยี่ยมเสร็จ พวกตนห่วงใยและหวังว่าจะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอก แต่ถ้าไม่สามารถออกมารักษาตัวภายนอกได้ ร.พ.ราชทัณฑ์ก็เหมาะสมแล้ว จากที่หารือกับอธิบดีด้วยวาจา ได้อธิบายเหตุผล ความจำเป็น หลักเกณฑ์และระเบียบของเรือนจำ ซึ่งสิ่งที่เราทำไม่ใช่การกดดันกระบวนการยุติธรรม หรือแทรกแซงการทำหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ แต่เป็นความห่วงใย หลังจากนี้จะไปเยี่ยมและติดตามอาการของนายจตุพรอย่างใกล้ชิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน