สนช.ถกแก้รธน.ชั่วคราววันนี้ ตั้งกมธ.เต็มสภาพิจารณาผ่าน 3 วาระรวด ‘วิษณุ’ ระบุ 10 อรหันต์ปรับแก้ร่างฉบับผ่านประชามติ ไม่ต้องรีบร้อน ‘บิ๊กตู่’ ลุยตั้งกรรมการ 4 ชุด เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูป-ปรองดอง-บริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ เร่งซ่อม-เสริม-สร้าง หวังเห็นผลในปีแรก เพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ พร้อมตั้งเป้าไทยมีรายได้สูงใน 15 ปี โวยสื่อบิดเบือนข่าวแก้รธน.ชั่วคราว ‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะทีมปรองดอง ดึงผู้ใหญ่ อดีตผู้นำกองทัพร่วมวง เชิญพรรคการเมืองเปิดอกคุย กลาโหมขอขยายเวลาฎีกาคดี ‘มาร์ค’

‘บิ๊กตู่’ถกตั้งกก.ปฏิรูป-ปรองดอง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในการเป็นประธานการประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญ เพราะประชุมเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) ซึ่งเป็นชุดสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ เป็นคณะที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติ ศาสตร์ของประเทศในทุกด้าน ซึ่งได้หารือกันมาหลายครั้งแล้วในหลายเรื่องด้วยกัน

วันนี้ต้องจัดทุกอย่างให้อยู่ในกรอบและสร้างการรับรู้ เพื่อให้สังคมเข้าใจเพื่อนำไปสู่แนวทางที่จะเดินหน้าการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต ซึ่งตลอด 3 ปีได้ทำอะไรหลายอย่างและมีความคืบหน้าจำนวนมาก ทั้งการแก้ปัญหา การเริ่มต้น การทำใหม่ แต่ทั้งหมดอยู่ในกรอบของกฎหมายเดิมที่มีอยู่ แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะกฎหมายหลายฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้

ตั้งเป้าไทยมีรายได้สูงใน 15 ปี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้จึงอยากให้ปลดล็อกพันธนาการเหล่านั้นให้ได้ก่อน แล้วมาหาทางว่าประเทศไทยต้องการอะไรอีกในเรื่องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน และในสิ่งที่ทำแล้วก็ต้องหาด้วยว่ามีปัญหาอุปสรรค อยู่ตรงไหน และอะไรที่ควรทำให้ได้ใน 1 ปีให้สำเร็จ ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นในทุกมาตรการ นี่คือสิ่งสำคัญ เปรียบคณะกรรมการชุดนี้เหมือนกล่องที่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ (ECU) เปรียบข้าราชการเป็นกลไกของรถที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อทำโครงสร้างและมอบหมายความรับผิดชอบให้รองนายกฯ รัฐมนตรี รวมถึงการขับเคลื่อนทั้งหมดซึ่งมีเอกชนร่วมด้วย ตรงนี้จะเป็นอนาคตของประเทศไทย ว่าจะทำอย่างไรให้พัฒนาไปสู่ระดับบน จากเดิมเราอยู่ในประเทศ รายได้ปานกลาง จะทำให้เป็นประเทศที่มี รายได้สูงภายใน 15 ปี จึงต้องปฏิรูปในหลายเรื่องด้วยกัน จึงเชิญทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ซึ่งเกี่ยวกับแม่น้ำทั้ง 5 สาย ให้มาทำงานในส่วนนี้ด้วย

เริ่มต้นซ่อม-เสริม-สร้าง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจําสํานักนายกฯ เป็นผู้ชี้แจงถึงรายละเอียดการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะหากชี้แจงเป็นส่วนๆ จะไม่เกิดความเข้าใจ ทุกคนสนใจแค่ประเด็นปรองดองกับนิรโทษกรรมเท่านั้น เรามุ่งหวังว่าประเทศจะเดินได้อย่างไรในปี 15 ปี และรัฐบาลที่อยู่ตามโรดแม็ปจะทำอะไรไว้บ้าง เพื่อเริ่มต้นซ่อม เสริม สร้าง อันหมายถึงซ่อมของเก่า เสริมให้แข็งแรงขึ้น และสร้างเรื่องใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ในปี 2560

เราต้องสร้างความรับรู้ทั้งโลกและคนไทยเองได้รู้ว่าประเทศไทยกำลังจะมีโครงการนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและได้ผลประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ ซึ่งเป็นอนาคต เหมือนกับโครงการโชติช่วงชัชวาลเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า วันนี้มีโครงการอีอีซี และหลายอย่างต้องคิดใหม่ ต้องมีกฎหมายสำคัญ ประชาชนต้องร่วมมือและเข้าใจว่าจะได้ประโยชน์จากตรงไหน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้ง เราก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม แน่นอนว่ามันต้องการความเปลี่ยนแปลงและต้องดูแลประชาชนให้ได้ อย่าไปกังวลรัฐบาลนี้ เพราะมุ่งเน้นว่าทำอย่างไรประชาชนจึงจะไม่เดือดร้อน ทุกอย่างต้องปรับปรุงเปลี่ยน แปลงบ้าง เราไม่สามารถใช้กฎหมายและกติกาเดิมๆ เดินหน้าต่อไปได้

ตำหนิสื่อบิดเบือนข่าวแก้รธน.

“เรื่องสำคัญ ผมต้องขอเรียนกับสื่อมวลชนว่าอย่าไปเสนอข่าวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมอ่านแล้วไม่สบายใจ ไปลงข่าวว่าทรงรับสั่งแก้ไข มีที่ไหน ผมพูดหรือ เขียนข่าวแบบนี้มันเสียหายเข้าใจหรือเปล่า ไปเขียนเอามันได้อย่างไร ไปเปิดดูก็แล้วกัน ผมบอกว่าผมรับหนังสือลงมา แล้วไปเขียนได้อย่างไรว่าทรงรับสั่งให้แก้ไข มันไม่ใช่ การทำงานรัฐบาล ก็ทำงาน ส่วนข้างบนก็มีคณะทำงานส่วนพระองค์ท่าน เขาพิจารณาแล้วนำขึ้นถวายพระองค์ท่านและส่งกลับลงมาก็เท่านั้น ผมก็ดำเนินการตามนั้น พยายามจะเอามาเกี่ยวกันอยู่ได้ เสร็จแล้วก็เป็นประเด็นให้คนนำมาบิดเบือน ขอร้องก็แล้วกัน รู้จักบ้างว่าอะไรมันตรงไหน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ได้เดินออกจากวงสัมภาษณ์ เพื่อกลับไปยังห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า แต่เมื่อถึงทางเชื่อมระหว่างตึกสันติไมตรีและตึกไทยคู่ฟ้า ได้หันมายังกลุ่มผู้สื่อข่าว พร้อมเปิดหน้าเพจข่าวบนโทรศัพท์มือถือของสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งให้ดู พร้อมกล่าวว่า “เป็นอย่างไร เห็นหรือไม่ สื่อต่างประเทศเขาไปนำเสนอเสียหาย”

ผู้สื่อข่าวชี้แจงว่าในการแถลงข่าวของ นายกฯ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายกฯพูดเองว่ามีพระราชกระแสลงมาว่ามี 3-4 รายการที่จำเป็นต้องแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ พล.อ. ประยุทธ์ชี้แจงทันทีว่า ตนพูดว่าท่านทรงรับสั่ง การรับสั่งดังกล่าวนั้นหมายถึงการรับสั่งผ่านองคมนตรี ไม่ใช่รับสั่งลงมา ไปลงข่าวได้อย่างไร มันเสียหาย จากนั้นนายกฯได้เดินกลับ ขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้าทันที

ตั้งกก.4 ชุด-ผุดมินิคาบิเน็ต

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเกิดขึ้นเนื่องจากนายกฯ มีนโยบายนำประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกฯ (PMDU) ขึ้นมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญของนายกฯ ซึ่งทั้ง 4 ชุดนี้ จะมีนายกฯคอยกำกับดูแล

สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะมีนายกฯและรองนายกฯ ดูแล แล้วยังมีประธานสนช.และรองประธานสนช. 1 คน และประธานสปท.และรองประธานสปท.อีก 1 คนเข้ามาร่วม ส่วนคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์นั้น เป็นเรื่องภายในของคณะรัฐมนตรี(ครม.)หรือที่เรียกว่า มินิคาบิเน็ต ประกอบด้วยการบริหารงาน 3 ระดับคือ ระดับบัญชาการ ซึ่งนายกฯกำหนด 10 ประเด็นยุทธศาสตร์ขึ้นมาขับเคลื่อน จากเดิมกำหนดวาระปฏิรูป 37 เรื่อง ระดับการกำกับการพัฒนา และระดับหน่วยงานหรือกลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง

หวังเห็นผลในปีแรก

นายสุวิทย์กล่าวว่า การขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดคือ กลไกบริหารจัดการการปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกฎหมาย นำประชารัฐเข้ามาขับเคลื่อนกลไกที่ไม่ใช่ภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึงปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ โดยนายกฯ สั่งการว่าจากนี้ทุกอย่างต้องมีเป้าหมายและมีเคพีไอที่ชัดเจน ส่วนการปฏิรูปแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือ การใช้อำนาจบริหารหรือการปรับเปลี่ยนกลไก ซึ่งในเรื่องกฎหมายมี 41 ฉบับที่นายกฯให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ที่ต้องเร่งรัด นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอีก 59 ฉบับ โดย 17 ฉบับเกี่ยวกับการปฏิรูป ซึ่งในกรอบนี้จะให้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศเป็นผู้ขับเคลื่อน

ส่วนคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้น ที่ประชุมมอบให้พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นผู้ดูแล เรื่องสำคัญเรื่องแรก คือความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม และ ในยุทธศาสตร์ 20 ปีนั้น นายกฯเน้น 5 ปีแรกเป็น 5 ปีที่สำคัญที่สุด แต่ในปีแรกที่รัฐบาลชุดนี้ยังอยู่จะทุ่มน้ำหนักลงไปให้มากเพื่อให้มีผลสำเร็จ ซึ่งนายกฯเรียกว่าซ่อม เสริม และสร้าง ทั้งนี้ เรื่องปรองดองอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าต้องเสร็จภายในกี่ปีคงไม่ได้ เพียงแต่การปฏิรูปบางเรื่องนั้น ต้องเสร็จตามรัฐธรรมนูญ เช่น ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ต้องทำให้เกิดผลในปีนี้ให้ได้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในอีก 4 ปี ซึ่งนายกฯย้ำว่ารัฐบาลมีความจริงใจ และตั้งใจให้กรรมการทั้ง 4 ชุดเดินไปพร้อมกัน

‘บิ๊กป้อม’นั่งหัวโต๊ะปรองดอง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้ตนทำเรื่องยุทธศาสตร์การสร้างความปรองดอง ซึ่งได้หารือกับนายกฯถึงแนวทางไปบ้างแล้ว ส่วนคณะกรรมการสร้างความปรองดอง จะเป็นผู้ใหญ่ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ มีอดีตผู้นำกองทัพและพลเรือน ขณะนี้อยู่ระหว่างทำโครงสร้างและขั้นตอนสร้างปรองดองและอยู่ร่วมกันได้ คาดว่าจะลงนาม อนุมัติภายในเย็นวันนี้ เมื่อจัดทำโครงสร้างเสร็จ จะเสนอเรื่องถึงนายกฯให้ความเห็นชอบ

จากนั้นจะนัดประชุมคณะกรรมการก่อนเชิญตัวแทนพรรคต่างๆมาร่วมพูดคุย เพื่อรับฟังสิ่งที่เขาเสนอแนะว่าจะทำอะไรหรืออยากได้อะไรบ้าง แล้วจะนำรวบรวมความต้องการเหล่านั้นไว้ เมื่อถามว่าหลังจากนั้นจะมีการลงสัตยาบันร่วมกันหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ผมจะจัดการเอง สื่อไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องมาสอนผม”

สนช.พร้อมออกกม.รองรับ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 กล่าวว่า การประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ เป็นการกำหนดนโยบายและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะเร่งรัดมาตรการเรื่องการปฏิรูปประเทศให้ลงมือปฏิบัติเห็นผลภายใน 1 ปี คือปี 2560 และเป็นแผนระยะเวลาที่ต้องแล้วเสร็จไม่เกินปี 2564 ซึ่งนายกฯบอกว่าถ้าได้ลงมือภายในปี 2560 จะมีการส่งมอบภารกิจไปยังรัฐบาลชุดหน้าเพื่อสานต่อเพราะมีการเริ่มต้นไว้แล้ว การดำเนินการหลายเรื่องต้องมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจึงเป็นเหตุผลว่าสนช.ทำไมเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เพราะกฎหมายจะทยอยมายังสนช.ในเดือนมี.ค. ซึ่งตนแจ้งที่ประชุมว่าสนช.พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการบัญญัติ กฎหมายที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้หรือจำเป็นต้องออกมาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรม

เมื่อถามว่าการทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป สนช.จะทำตามกรอบกฎหมายเดิมหรือต้องหย่อนระยะเวลา นายสุรชัยกล่าวว่า ต้องนำไปหารือกันในวิปสนช.เพื่อช่วยกันคิดในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการทำงานเพื่อให้มีการรวดเร็ว สอดรับกับนโยบาย รัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ต่อไป

ชงร่างพ.ร.บ.คดีการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การเมือง สนช. ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ…. มีทั้งสิ้น 33 มาตรา เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2559 มีสาระสำคัญกำหนดให้นายกฯ เป็นผู้รักษาการและรับสนองพระบรมราชโองการ ห้ามบุคคลที่กระทำความผิด 3 ประเภทไม่ได้รับประโยชน์ จากกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ 1.ความผิดอาญาทำให้เหตุการณ์รุนแรง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 2.ความผิดฐานทุจริตประพฤติมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 และ 3.ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 11 คน ประกอบด้วย ผู้ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการอัยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สถาบันพระปกเกล้า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สภาทนายความ และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยแต่งตั้งฝ่ายละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจาการภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสันติวิธีหรือสิทธิมนุษยชน 2 คน ซึ่งทำการคัดเลือกกันเอง เป็นกรรมการ และให้ปลัดสำนักนายกฯ เป็นเลขานุการ

แยกแยะความผิดให้ชัดเจน

มาตรา 18 กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ (1) รวบรวมข้อเท็จจริงและข้อมูลคดีเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 ต.ค.2557 ที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชน และจะต้องจัดให้รับฟังความเห็นของผู้เสียหาย ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และห้ามเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นคณะกรรมการจะมีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(2) กำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความผิด ความได้สัดส่วนของการกระทำ รวมทั้งผลกระทบต่อชาติและประชาชนด้วย โดยจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้แต่งตั้ง

(3) กำหนดมาตรการและหลักเกณฑ์การอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีอาญาที่เป็นผู้ให้ความจริง อันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของคณะกรรมการในคดีความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และแสดงความสำนึกเสียใจต่อผลของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

(4) ดำเนินการจำแนกคดีอาญาตามหลักเกณฑ์ และกำหนดมาตรการอำนวยความยุติธรรมที่จะใช้กับผู้ถูกดำเนินคดีอาญาแต่ละรายตามเหตุผลหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมกับประเภทของการกระทำและความผิด

วางกฎอำนวยความยุติธรรม

(5) เสนอข้อมูลการจำแนกคดีอาญาและความเห็นในการใช้มาตรการอำนวยความยุติธรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีอาญาแต่ละรายต่อพนักงานอัยการหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยการเสนอดังกล่าวควรมีความเห็นของผู้เสียหายและผู้ถูกดำเนินคดีอาญาประกอบด้วย และเมื่อพนักงานอัยการได้รับเรื่องแล้ว ให้พนักงานอัยการเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งต่อไป โดยให้ถือข้อมูลการจำแนกคดีอาญาและความเห็นในการใช้มาตรการอำนวยความยุติธรรมตามเหตุผลหรือเงื่อนไขดังกล่าวเป็นคดีที่มีเหตุที่อัยการสูงสุดจะใช้อำนาจสั่งหรือไม่สั่งคดี

ส่วนประเด็นสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือมาตรา 20 ระบุว่าในการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อหาความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตามพ.ร.บ.นี้ ให้ศาลพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการมาตรา 18(5) ประกอบด้วย ถ้าศาลเห็นสมควรให้ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าผู้กระทำความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองรายนั้นมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ แม้โทษจำคุกที่ศาลจะกำหนดหรือได้กำหนดนั้นจะเกินกว่า 5 ปี หรือศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ และมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขอื่นหรือระยะเวลาเพื่อคุมความประพฤติ ผู้กระทำความผิดนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ตามที่เห็นสมควร

หากศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีเห็นว่า ผู้ถูกดำเนินคดีอาญารายใดไม่ควรรับโทษจำคุกหรือควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ให้ถือเป็นเหตุผลหรือเงื่อนไขที่มีเหตุอันควรปรานีหรือเหตุบรรเทาโทษแล้วแต่กรณีตามประมวลกฎหมายอาญาสำหรับผู้ถูกดำเนินคดีอาญารายนั้น

กำหนดให้มีการเยียวยา

ในกรณีที่คดีใดถึงที่สุดก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ มีผลใช้บังคับ เป็นคดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลอาจลดโทษ รอการกำหนดโทษ รอการลงโทษ หรือลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดได้ตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา ผู้อนุบาล หรือ ผู้พิทักษ์ของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือคณะกรรมการร้องขอให้ศาลมีอำนาจกำหนดเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นเสียใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 ได้

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการเยียวยา โดยคณะกรรมการต้องสำรวจปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการการเยียวยา และจัดทำฐานข้อมูลสถานะของการได้รับการเยียวยาของ ผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รวมถึงทายาทผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บพิการหรือทุพพลภาพ ผู้ที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 และกำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้นำเข้าหารือในการประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ในส่วนคณะกรรมการสร้างความปรองดอง ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกระบวนการผลักดันผ่านเป็นกฎหมายในที่ประชุมสนช. ล่าสุดยังไม่มีกำหนดเข้าสู่วาระการประชุมแต่อย่างใด

‘พรเพชร’แจงแก้รธน. 3 วาระ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการนัดประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 10 คนเพื่อยกร่างมาตราที่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านประชามตินั้นยังตอบไม่ได้ ต้องรอให้ผ่านการประชุม สนช.ในวันที่ 13 ม.ค.ก่อน อย่าลืมว่าด่านแรกของวันที่ 13 ม.ค.คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ผ่าน และเมื่อผ่านความเห็นชอบทั้งหมดแล้วจะถึงขั้นตอนการแก้ไข จากนั้นค่อยว่ากัน ไม่ต้องรีบร้อน

ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ในวันที่ 13 ม.ค.ว่า เหตุที่ต้องพิจารณา 3 วาระรวดเนื่องจากมีเงื่อนไขที่ สนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน หากมีสมาชิกขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อความไปจากร่างที่เสนอมา จะต้องได้รับความเห็นชอบจากครม. และ คสช.ในฐานะผู้เสนอ จึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา และเชิญตัวแทนจาก คสช.และครม.ที่มีอำนาจเต็มมาร่วมประชุมด้วย ทราบว่าได้มอบหมายให้นายวิษณุ ส่วนจะใช้เวลาพิจารณานานแค่ไหนขึ้นอยู่กับสมาชิก หวังว่าวันเดียวเสร็จ แต่คงใช้เวลาพอสมควรเพราะการลงมติวาระแรกและวาระที่ 3 ต้องขานชื่อทีละคน แต่หากไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องพิจารณาในวันถัดไป

เชื่อไม่กระทบกฎหมายลูก

นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนเนื้อหาการแก้ไขนั้นเป็นขั้นตอนขอรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ทูลเกล้าฯ กลับคืนมาแก้ไข จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้ขอรับร่างที่ทูลเกล้าฯ ไปกลับคืนมาเพื่อแก้ไขตามพระราชกระแสรับสั่ง โดยทราบจากนายวิษณุว่าจะแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์เพียงหมวดเดียว สำหรับขั้นตอนเมื่อได้รับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกลับคืนมาแล้วจะเป็นอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ โดยจะตั้งคณะกรรมการพิเศษที่เป็นกรรมการกฤษฎีกา ส่วนที่มีชื่อตนด้วยนั้นเพราะตนเป็นกรรมการกฤษฎีกาด้วย

เชื่อว่าขั้นตอนจากนี้จะไม่กระทบต่อ กรอบเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติบังคับใช้อย่างเป็นทางการถึงจะเริ่มต้นนับหนึ่ง ขณะนี้ กรธ.ยังไม่ได้ส่งร่างมาให้ สนช.ดำเนินการ แต่ได้ประสานกันภายในเพื่อขอร่างมาให้ สนช.ศึกษาล่วงหน้าอย่างไม่เป็นทางการก่อน เป็นการขอรู้ข้อสอบล่วงหน้าโดย สนช.จะตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมา หากมีความเห็นอย่างไรอาจจะส่งสัญญาณไปให้ กรธ.ก่อนได้ ส่วน กรธ.จะส่งมาเมื่อใดทราบว่า กรธ.ยังไม่พร้อมเพราะเนื้อหายังไม่ลงตัว

‘บิ๊กป้อม’ชี้คดีมาร์คว่าไปตามกม.

วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม เร่งรัดให้กระทรวงกลาโหมยื่นฎีกาคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งอัยการได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นฎีกาไว้ถึงวันที่ 13 ม.ค.แต่จนถึงขณะนี้กระทรวงกลาโหมยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใดว่า ไม่ลำบากใจ ทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากจะต้องมีการยื่นฎีกา ทางกรมพระธรรมนูญทหารจะเป็น ผู้ดูแล ให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่คงใช้เวลายื่นไม่นาน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการบริหาร

พล.ร.อ.กฤษฎา เจริญพานิช เจ้ากรมพระธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งให้พนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณา เพราะพนักงานอัยการเป็นตัวแทนกระทรวงกลาโหม และที่พนักงานอัยการเป็นคู่กรณี เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหน้าที่ราชการ เราก็ทำตามกฎหมาย หากยังไม่สามารถยื่นให้เสร็จภายในวันที่ 13 ม.ค. ก็ทำหนังสือขอขยายเวลาออกไป ตนเห็นว่านายอภิสิทธิ์ได้ยื่นฎีกามาเหมือนกัน มันยังมีความเกี่ยวพันกันอยู่ ส่วนที่ห่วงว่าจะไม่ทันยื่นต่อศาลฎีกานั้นไม่ต้องห่วง เราทำตามกรอบระยะเวลาอยู่แล้ว เรื่องนี้ทันแน่นอนเพราะวิธีพิจารณาสามารถขยายได้

อัยการ-อภิสิทธิ์ยื่นฎีกา

พล.ร.อ.กฤษฎากล่าวว่า เราในฐานะคู่ความ กระทรวงกลาโหม ต้องแจ้งพนักงานอัยการว่า เนื่องจากขณะนี้มีความเห็นที่ยังไม่สามารถยื่นฎีกาได้ทัน จึงขอให้พนักงานอัยการกรุณายื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ขอขยายระยะเวลาเพื่อไม่ให้คดีนี้สิ้นสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ แพ่ง) จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ขณะเดียวกันเราต้องแก้ฎีกาของนายอภิสิทธิ์ ที่ยื่นต่อศาลไว้ นายอภิสิทธิ์ก็ต้องแก้ฎีกาจากกระทรวงกลาโหมด้วยเช่นกัน กว่าเรื่องทุกอย่างจะลงตัวเข้าที่เข้าทางและศาลฎีกาจะพิจารณาก็ใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเรื่องดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมาย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนได้ยื่นฎีกาไปแล้ว ส่วนที่พล.อ.ประวิตรระบุว่าถ้าจะต้องมีการยื่นฎีกา กรมพระธรรมนูญทหารจะเป็นผู้ที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายนั้น ก็เป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหมจะดำเนินการ ตนไม่เครียด ไม่ซีเรียสอะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน