ญาติฉุน-บุกถึงที่ แห่โลงประท้วง! สธ.สั่งสอบด่วน
จับแล้วสามี สาดน้ำกรด สาววัย 38 ก่อนไปเสียชีวิตที่ร.พ. ด้านร.พ.พระราม 2 แจงถูกกล่าวหาไม่รับรักษาคนไข้ ระบุวันเกิดเหตุพยาบาลประเมินอาการแล้วพบว่าไม่ร้ายแรง จึงแจ้งสิทธิว่าหากไปรักษาที่ร.พ.บางมด ที่มีสิทธิ 30 บาทจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ด้านคนเจ็บก็เห็นดีด้วย ยังให้ค่ารถเดินทาง แต่กลับไปเสียชีวิตที่ร.พ.บางมด ต้องดูก่อนว่าเสียชีวิตจากอะไร ขณะที่สธ.สั่งรองอธิบดีสบส. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุหากร.พ.ไม่รับรักษาคนไข้จริงมีทั้งโทษจำและปรับ อาจถึงขั้นพักใบอนุญาตร.พ.
จากกรณีที่เพจชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม โพสต์ถึงกรณีที่น.ส.ช่อลัดดา ทาระวัน อายุ 38 ปี ถูกนายคำตัน สีหนาท อายุ 50 ปี สามีใหม่สาดน้ำกรดใส่ใบหน้าด้วยความหึงหวง จนญาติและลูกสาววัย 12 ปี พามาส่งโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการรักษา และให้นั่งแท็กซี่ไปรักษายังโรงพยาบาลอื่น จนกระทั่งน.ส.ช่อลัดดาเสียชีวิตในเวลาต่อมา
- อ่านข่าว เค้นสอบผัวเหี้ยม! ตร.คุมตัวถึงเมืองกรุง หึงโหดสาดน้ำกรดใส่หน้าฆ่าเมียสาว(คลิป)
- อ่านข่าว ตามลากคอได้ที่นครสวรรค์! จับแล้วผัวหึงโหดน้ำกรดสาดเมียสาวดับ ลูกเป็นกำพร้า
สาดน้ำกรด / ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 พ.ย. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และครอบครัวน.ส.ช่อลัดดา แห่โลงศพมายังโรงพยาบาลพระราม 2 ก่อนที่ผู้บริหารโรงพยาบาลจะเชิญนายอัจฉริยะและครอบครัวน.ส.ช่อลัดดา เข้าไปชี้แจงโดยมีสื่อมวลชนร่วมรับฟัง
โดยพญ.วัลลภา ไชยมโนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระราม 2 พร้อม นพ.พีระ คณานวัตน์ ศัลยแพทย์ทั่วไป และที่ปรึกษาประจำโรงพยาบาลพระราม 2 แถลงชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยนพ.พีระกล่าวว่า จากบันทึกของโรงพยาบาล ผู้ตายและลูกสาวเดินทางมาถึงโรงพยาบาลช่วงเวลา 05.00 น. วันที่ 10 พ.ย. ทางประตูหลังห้องฉุกเฉิน สภาพร่างกายเต็มไปด้วยคราบสีขาวของยาสีฟัน พยาบาลเวรจึงสอบถามอาการเบื้องต้น ผู้ตายยังมีสติสามารถโต้ตอบ พร้อมบอกว่ามีอาการปวดแสบปวดร้อน พยาบาลจึงรักษาปฐมพยาบาลเบื้องต้น
พร้อมประเมินสภาพบาดแผลมาจากสารเคมี ระดับ 1 ตรวจวัดความดันอยู่ในระดับปกติ ประเมินแล้วพบว่าอาการลักษณะนี้ยังไม่สาหัส นอกจากนี้ ผู้ตายมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่ที่ร.พ.บางมด ซึ่งอยู่ไม่ไกล แต่หากต้องการรักษาต่อที่ ร.พ.พระราม 2 ต้องเสียค่าส่วนต่างในการรักษา ทำให้ทางผู้ตายประสงค์จะเดินทางไปรักษาต่อยังร.พ.บางมด
เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันนำตัวผู้ตายไปยังจุดขึ้นแท็กซี่บริเวณหน้าโรงพยาบาล พร้อมกับให้เงินสด 40 บาทแก่ลูกสาวเพื่อใช้ในการเดินทาง ยืนยันว่า ผู้ตายไม่ได้เสียชีวิตบนแท็กซี่ขณะเดินทางไปรักษาต่อซึ่งจะเป็นความรับผิดชอบของทางร.พ.เรา แต่เสียชีวิตขณะที่อยู่ในร.พ.บางมด
พญ.วัลลภา ไชยมโนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระราม 2 เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่าทางโรงพยาบาลไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธคนไข้เนื่องจากสามารถเรียกเก็บค่ารักษาได้จากทางรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ผู้ตายมีความประสงค์ที่จะไปรักษาตามสิทธิ์บัตรทอง เมื่อพยาบาลประเมินสภาพบาดแผลแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงช่วยประสานกับโรงพยาบาลปลายทางให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นพ.พีระ ให้สัมภาษณ์และชี้แจง เกิดการโต้เถียงกับญาติของน.ส.ช่อลัดดา และนายอัจฉริยะ โดยนายอัจฉริยะเรียกร้องให้นำภาพจากกล้องวงจรปิดออกมาเปิด กระทั่งเกิดวิวาทะเสียงดัง จนลูกสาววัย 12 ปี ของน.ส.ช่อลัดดา ร้องไห้ด้วยความกลัว
จากนั้นนายอัจฉริยะได้เดินทางไป สน. ท่าข้าม เพื่อขอใบส่งศพชันสูตรสถาบันนิติเวชฯ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง
ด้านนพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ส่ง เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจากการรายงานของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้น ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของร.พ.พระราม 2 ยืนยันว่าดูแลและช่วยเหลือผู้เสียชีวิตในระดับหนึ่งแล้ว แต่เห็นว่าอาการไม่รุนแรง จึงแนะนำให้ผู้เสียชีวิตไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมแทน
“ขณะนี้ข้อมูลจากญาติผู้เสียชีวิตและของโรงพยาบาลจึงยังไม่ตรงกัน ดังนั้นในวันที่ 12 พ.ย. มอบหมายให้ นพ.ประภาส จิตตาศิริ นุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการฯ ร่วมกับผู้อำนวยการกองสถานพยาบาล และนิติกรของกรมสนับสนุนบริการฯ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะสอบทั้งโรงพยาบาล และญาติผู้เสียชีวิต” นพ.ณัฐวุฒิกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากประเมินในฐานะแพทย์กรณีของผู้เสียชีวิตรายนี้เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือไม่ว่า นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า ในทางกฎหมายถ้าอาการรุนแรงจริงก็เข้าข่ายต้องได้รับการช่วยชีวิตภายใน 72 ชั่วโมง เรื่องการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน สธ.ให้ความสำคัญอย่างมาก เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะให้การดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
เมื่อถามว่า หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าโรงพยาบาลปฏิเสธการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน จะดำเนินการอย่างไร นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า กรณีที่โรงพยาบาลทำผิดมีโทษตั้งแต่ปรับไปจนถึงจำคุก รวมถึงการพักใช้ใบอนุญาตโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาและตรวจสอบอย่างละเอียดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะโรงพยาบาลจงใจหรือไม่
ขณะที่พ.ต.อ.อภิรัฐ พุ่มกุมาร ผกก.สน. ท่าข้าม กล่าวว่า หลังรับแจ้งความเรื่องดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เร่งสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด พร้อมขออนุมัติหมายจับนายคำตัน เรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมนายคำตัน ได้ที่จ.นครสวรรค์ อยู่ระหว่างการคุมตัวกลับมาที่สน.ท่าข้าม และในเวลา 14.00 น. วันที่ 12 พ.ย. พล.ต.ท. สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น รรท.ผบช.น.จะแถลงผลการจับกุมอย่างละเอียด