ไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญากะเหรี่ยง บทพิสูจน์วิถีทำกิน ที่รักษาป่าบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

ไร่หมุนเวียน – เฟซบุ๊กเพจ forestbook เผยแพร่คลิปวิดีโอให้ความรู้เรื่องไร่หมุนเวียน ของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งคนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจ และมักมองว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และพื้นที่ป่า แท้ที่จริงแล้วหากทำความเข้าใจจริงๆจะพบว่า การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำลายป่า

แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวิถีหาอยู่หากิน ที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมกับทำกราฟฟิกให้เห็นถึงการพักฟื้นตัวของพื้นที่ที่ใช้ทำไร่หมุนเวียน

โดยเนื้อหาในคลิประบุว่า พื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ทำไร่หมุนเวียนมากที่สุดใน ประเทศไทย โดยพื้นที่ไร่หมุนเวียน ไม่ใช่แค่ไร่ปีนี้ แต่รวมถึงไร่เหล่า ที่รอวันใช้ประโยชน์หลังป่าพักฟื้นอย่างน้อย 7 ปี โดยมีงานวิจัย ระบุว่า ไร่เหล่า หรือไร่พักฟื้น มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พบต้นไม้ 242 ชนิด มีลูกไม้ 345 ชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดี และเป็นที่หลบภัยของสัตว์ป่า

ไร่หมุนเวียน บทพิสูจน์การทำกินที่ยั่งยืนบนพื้นที่สูง

แซดี ผ่องพินิจศรี บ้านพะอัน ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า สำหรับการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านนั้น จะเริ่มฟันไร่ ในช่วงเดือน ก.พ. และจะไม่ตัดต้นไม้ต่ำเกินไป เพราะจะทำให้ต้นไม้ตาย ถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่ต้องปีนขึ้นไปตัดกิ่งลงมา และจะทำให้แตกยอดออกมาใหม่ เพราะไร่หมุนเวียนจะปรับสภาพเร็วกว่ารูปแบบอื่น เช่น การปลูก กะหล่ำปลี หรือ มะเขือเทศ จะทำให้ต้นไม้ตายหมด แต่การทำไร่หมุนเวียนผ่านไป 7 ปี ทุกอย่างจะกลับมาเขียวหมดเลย บางคนเข้าใจผิดว่าการตัดต้นไม้จะทำให้มันตาย

แซดี เล่าต่อว่า เราทำแนวกันไฟไว้รอบไร่ทั้งหมดก่อนเผา เพราะกลัวจะลามเข้าไป เพราะหากปีนี้ไฟลามเข้าไปในป่า ปีหน้าเราจะทำไร่ไม่ได้แล้ว โดยเราต้องเริ่มจุดจากด้านบนก่อนเพื่อไม่ให้ไฟข้ามแนวกันไฟ เพราะถ้าจุดจากด้านล่างขึ้นไป ไฟจะแรงเกิน และจะข้ามแนวกันไฟ ทำให้เราเอาไฟไม่อยู่

พอไฟด้านบนเริ่มไหลลงมา และไม่น่าจะข้ามแนวกันไฟแล้ว เราก็จะลงไปจุดจากด้านล่างขึ้นไป ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็เผาเสร็จ โดยหลังจากเผาเสร็จ ต้องเดินรอบแนวกันไฟ ไล่ดูว่ามีไฟข้ามแนวกันไฟหรือไม่ ถ้ามีไฟข้ามแนวกันไฟเราต้องช่วยกันไปดับ

________________________________________________________

 

นักวิชาการชี้ ไร่หมุนเวียน เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่สะอาด

ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโสศูนย์อบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคแปซิฟิก ให้ความรู้เรื่องนี้ว่า สัตว์มีกีบ เข้ามาอาศัยอยู่ในไร่หมุนเวียน เช่น หมูป่านี่ชอบเข้ามาอยู่ในพื้นที่มาก โดยไร่เหล่าเป็นป่ารุ่นสอง ซึ่ง 1 ใน 3 ของนกในประเทศไทย 1 ใน 3 ของ 900 สปีชีส์ คือประมาณ 300 สปีชีส์ เป็นนกที่อาศัยอยู่ในไร่นา เรื่องนี้กะเหรี่ยงพูดมานานแล้ว แต่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมา

ดินในเมืองร้อนอย่างบ้านเรา เกิดมาตั้งแต่ยุคเทอร์เชียรี ยุคไดโนเสาร์ 40-50 ล้านปี ทำให้ดินพวกนี้จะจืดมากๆ น้ำที่ไหลผ่านระบบดินพวกนี้ นักวิจัยเอาไปวัดความสามารถในการนำไฟฟ้า พบว่ามีความใกล้เคียงกับน้ำกลั่น ไม่ค่อยมีธาตุอาหารละลายติดมา แล้วธาตุอาหารมันอยู่ที่ไหนล่ะ มันถูกดูดเก็บไว้ในต้นไม้ ทำให้ต้องตัดแล้วเผา

นี่คือสาเหตุทางนิเวศวิทยาในโลกนี้ ในแถบเส้นศูนย์สูตรเขตเมืองร้อนนี้ ต้องทำไร่หมุนเวียน พวกอินเดียนแดง แอฟริกา ก็มี มันต้องทำถ้าอยู่บนภูเขา เพราะดินมันเก่า เนื่องจากเกิดมาแล้ว 40 ล้านปี นี่คือการเกษตรภาคบังคับ ใครอยากจะทำล่ะมันเหนื่อย แต่คือธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องอธิบายอย่างนี้

คาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากไร่หมุนเวียน มันเผาก็จริง ตอนตัดแล้วเผาในปีที่ 7 โดยต้นไม้ที่ฟื้นตัวในไร่เหล่า ดูดซับคาร์บอนได้สูงกว่าป่าที่โตเต็มที่แล้ว เพราะต้องใช้คาร์บอนในการเจริญเติบโต

หากลองเทียบกับเกษตรที่ใช้ปุ๋ยเคมี โดยเอาปุ๋ยที่เกิดจากการเจาะก๊าซมาจากอ่าวไทยขนส่งทางเรือง กว่าจะตั้งโรงงานใช้พลังงานในการผลิตเท่าไหร่ ส่วนข้าวไร่ของกะเหรี่ยง ผมเรียกว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่สะอาด

____________________________________________________

 

คนเมืองเข้าใจผิด ไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ ไร่เลื่อนลอย

ขณะที่ พฤ โอโดเชา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ ให้ความรู้เรื่องการทำไร่หมุนเวียน ขณะลงพื้นที่บ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยพฤ มาเรียนรู้รูปแบบการจัดการชุมชนที่บ้านกลาง ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากกะเหรี่ยงทั่วภาคเหนือ ที่สามารถจัดการชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่าได้เป็นอย่างดีว่า

ในไร่หมุนเวียนตอนปลูกใหม่ๆจะมีผักต่างๆ ทั้งฟักทอง ผักกาด แตงกวา ข้าวโพด และหลังเก็บเกี่ยวข้าวในไร่หมุนเวียนยังมี พริก มะเขือ มะเขือเครือ ขิง และข่า ซึ่งชาวบ้านสามารถมาเก็บนได้

จากตอไม้ที่ชาวบ้านตัด 1 ต้น จะพบว่ามีการแตกหน่อออกมาอีกหลายยอดขึ้นมาใหม่ โดยตอนแรกจะมีพืชเบิกน้ำขึ้นมาคลุมทั้ง สาบเสือ หญ้า ขึ้นมาคลุมหน้าดิน แล้วจะมีต้นไผ่ และไม้ใหญ่ขึ้นมา ก็จะเริ่มกลายเป็นป่า พอ 7 ปี วงจรของหญ้าหายไปชาวบ้านก็จะกลับมาทำไร่ในพื้นที่เดิม

ความสำคัญของการทำไร่หมุนเวียน คืออาศัยน้ำฝน ไม่ได้อาศัยน้ำเหมือนกับในนา ส่วนวิธีการปลูกข้าวนั้น จะใช้วิธีการผสม ข้าว 1 กำมือ จะคลุกกับพืชต่างๆ มีทั้งเมล็ดฟักทอง แตงกวา ผักกาด และก็หยอดลงไป เมื่อโตมาเราก็สามารถเลือกกินทีละอย่างได้ นี่คือการทำเกษตรที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ง่ายมาก

แต่ยังมีข้อสำคัญที่ว่านโยบาย และคนในเมืองไม่เข้าใจว่านี่คือการทำไร่เลื่อนลอย และไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติ แต่จริงๆแล้วพอเราทำ ก็จะมีสัตว์ป่า ทั้งหมูป่า เก้ง นก เข้ามาอาศัยอยู่ในไร่ ที่นี่มีพันธุ์พืชหลากหลาย เป็นการทำกินที่พึ่งเทคโนโลยีน้อยมาก แต่สามารถตอบแทนเราได้สูง คือรอดได้ 1 ปีในนี้ และอาหารก็อยู่ในนี้ประมาณกว่า 80 ชนิด

ความสำคัญของไร่หมุนเวียนคือ เพราะที่ราบมีให้เราไม่เยอะ เราอยู่บนภูเขาก็ต้องมีข้าวกิน ก็ต้องขึ้นมาปลูกบนดอย อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตเช่นนี้กำลังสูญหายจากประเทศไทยถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ และถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน กำพืชของเราก็จะหายไป แล้วเราก็จะอพยพตัวเองไปเป็นแรงงานในเมือง แล้วภูมิปัญญาเรื่อง พันธุ์พืช หรือแม้แต่เกษรดอกไม้ก็จะหายไป จึงอยากฝากให้คนเข้าใจเรื่องนี้เยอะๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน