เลขาธิการ ป.ป.ส. เตืออันตราย ยาเสียสาว พบปัจจุบันมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น นำไปใช้ผสมเครื่องดื่มทำให้เหยื่อสูญเสียความทรงจำ จนนำไปสู่การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเกิดอาชญากรรมอื่นๆ ชี้หากใช้ยาติดต่อเป็นเวลานานทำให้เสพติด เลิกใช้ยากะทันหันทำให้เกิดอาการขาดยา วิตกกังวล เป็นโรคจิต

จากกรณีที่มีการขาย “ยาอัลปราโซแลม” หรือ “ยาเสียสาว” ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ ให้แก่กลุ่มวัยรุ่นใช้ผสมน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อความมึนเมา ส่งผลให้เกิดอาการสะลึมสะลือมึนงง ซึ่งปัจจุบันพบว่านำมาใช้ประกอบอาชญากรรมในรูปแบบของการมอมยา รูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศ ตามสถานเริงรมย์ต่างๆ บางรายถึงกับเสียชีวิต ขณะเดียวก็มีคดีการจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาตัวนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การใช้ยาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริง อัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีน (Benzodiazepine) มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น โซแลม (Zolam) หรือ ซาแน็ก (Xanax) ใช้รักษาอาการในกลุ่มโรควิตกกังวล และตื่นตระหนก รวมไปถึงภาวะนอนไม่หลับ คลายกล้ามเนื้อ ระงับอาการชัก ภาวะซึมเศร้า ติดสุราเรื้อรัง

“ในประเทศไทยยาอัลปราโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งไม่อนุญาตให้จำหน่ายได้ในร้านขายยาทั่วไป ต้องได้รับการจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาทส่วนกลางในสมอง ปัจจุบันมีการค้าและการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิง ใช้ผสมกับน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าไปจะ ทำให้มึนเมา สะลึมสะลือ ระหว่างที่ยาออกฤทธิ์ก็จะสูญเสียความทรงจำชั่วขณะ รู้ตัวอีกทีอาจอยู่ในสภาพถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเกิดอาชญากรรมอย่างอื่น” นายนิยม กล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่า การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ หากหยุดใช้ยาในทันที อาจทำให้เกิดอาการขาดยา วิตกกังวล เป็นโรคจิต และอาจถึงกับชักได้ แม้จะเป็นยาที่ถูกควบคุมแต่ปัจจุบันก็ยังมีการลักลอบจำหน่าย เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดอย่างต่อเนื่อง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

โดยบทกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก ต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับ ตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท สำหรับผู้ขาย ต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 700,000-2,000,000 บาท สำหรับผู้มีไว้ ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ต้องโทษจําคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และสำหรับ ผู้เสพ ต้องโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

“ป.ป.ส. จึงขอให้ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เฝ้าระวังการซื้อยาผ่านทางเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ตักเตือนหากพบพฤติกรรมที่จะนำไปสู่อันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้ และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ประกอบการสถานบันเทิงต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสอดส่องดูแล โดยเน้นหนักในกลุ่มนักท่องเที่ยว ไม่ให้มีการมั่วสุมใช้สารเสพติด รวมถึงควบคุมอย่างเข้มงวดที่จะไม่ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการ” นายนิยม กล่าว

____________________________________________

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน