แค่ ‘แมวข่วน’ เกือบต้องตัดขาทิ้ง อุทาหรณ์สยอง ลุงวัย 63 ปี ถูกแมวข่วนที่ขา คิดว่าไม่เป็นอะไร ผ่านไป 3 วันแผลลุกลาม น้ำเหลืองเน่าเฟะ หามส่งร.พ. แพทย์ผ่าตัดเนื้อตายทิ้ง เอาหนองออก ชี้เป็น ‘โรคแบคทีเรียกินเนื้อ’ เป็นเชื้อรุนแรง ชอบกินผิวหนัง กล้ามเนื้อ ไขมัน เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ก่อนเข้าสู่กล้ามเนื้อ ล่าสุดอาการยังน่าเป็นห่วง แต่แพทย์ระบุยังพอมีความหวังที่จะรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องตัดขา ใช้เวลาอย่างต่ำ 1 เดือน ด้านลูกสะใภ้ผู้ดูแลวอนผู้ใจบุญช่วยเหลือค่าใช้จ่ายรักษา
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ร.พ.วชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.ร.พ. พร้อมด้วย นพ.วีรศักดิ์ หล่อทองคำ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ และนางวันดี โกยกิจเจริญ รักษาการรอง ผอ.ฝ่ายการพยาบาล ร่วมแถลงถึงกรณีนายวีระ พันทิพย์ อายุ 63 ปี ถูกแมวข่วนที่ขา แล้วแผลติดเชื้อลุกลามอย่างรุนแรงจนเน่า โดย นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่าประวัติผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาในเบื้องต้นถูกแมวข่วนมา 7 วัน โดย 3 วันก่อนจะมาร.พ. คนไข้มีอาการปวดแสบร้อน ตึง และเริ่มมีน้ำเหลืองออกมา ก็เลยเดินทางมาร.พ.ในวันที่ 18 ม.ค.
นพ.เฉลิมพงษ์กล่าวว่า แพทย์ที่รักษาเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรม โดยผ่าตัดเอาแค่หนองออก ก่อนพบข้อสงสัยว่าน่าจะเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อ” เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรง ลักษณะของเชื้อชนิดนี้คือชอบกินไปที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ไขมันใต้ผิวหนัง และเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ก่อนจะเข้าสู่กล้ามเนื้อ หลังจากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคดังกล่าว ในช่วงค่ำวันเดียวกันก็รีบนำเข้าห้องผ่าตัดใหม่ทันที โดยตัดเนื้อที่ตายออกเพิ่ม เพราะเชื้อชนิดนี้มีสารพิษทำลายเนื้อเยื่อรุนแรงโดยตัดออกจำนวนมากตามภาพที่ปรากฏ เนื่องจากหากปล่อยไว้เชื้ออาจจะแพร่กระจาย จนอาจจะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือต้องตัดขาทิ้ง
ผอ.ร.พ.วชิระภูเก็ตกล่าวอีกว่า หลังจากนั้นให้ยาฆ่าเชื้อ ให้สารน้ำต่างๆ เพื่อประคับประคอง และพบว่าผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ และโรคไต เป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง และเป็นโรคนี้ได้ง่าย ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. แพทย์พบว่าเชื้อลุกลามจากเท้าขึ้นมาที่ต้นขา จึงตัดสินใจเปิดแผลอีกครั้ง และตัดเนื้อที่ตายออกทิ้ง ให้เนื้อใหม่ค่อยๆ สร้างขึ้นมา ในการตัดจะไม่ตัดเนื้อที่ตายทั้งหมด ซึ่งจุดที่ก้ำกึ่งมีโอกาสที่จะสร้างขึ้นมาก็จะปล่อยไว้ หรือหากตัดหมด ก็อาจทำให้พิการ จึงต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย
“อาการยังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นเชื้อรุนแรงมากเป็นพิเศษ ประกอบกับบาดแผลเกิดจากแมวข่วนด้วย ทำให้แบคทีเรียชนิดที่เจริญเติบโต โดยไม่ต้องการออกซิเจนเข้ามาแทรก จึงน่าเป็นห่วง แต่ทีมแพทย์พยาบาลก็ช่วยกันรักษาอย่างเต็มที่ จากที่ประเมินยังมีความหวังที่จะหายได้โดยไม่ต้องตัดขา แต่อาจจะต้องใช้เวลานาน หลังจากแผลดีขึ้นก็จะเอาเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายมาซ่อมแซม ในระยะสั้นหากดีขึ้น อาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ส่วนระยะเวลาที่แผลจะหาย และกลับบ้านได้นั้นน่าจะประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ แพทย์จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และอาจจะผ่าตัดเพิ่มเติมหากพบมีเนื้อตายเพิ่ม” ผอ.ร.พ.วชิระภูเก็ตกล่าว
นพ.เฉลิมพงษ์กล่าวต่อว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อพบค่อนข้างน้อย ความเสี่ยงที่เกิดโรคนี้ส่วนใหญ่พบในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ ถ้าคนทั่วไปมีภูมิคุ้มกันปกติ ไม่ว่าจะโดนสัตว์ข่วนกัด หรือวัตถุทิ่มตำ แผลจะหายเองตามธรรมชาติ แต่คนภูมิต้านทานต่ำ หรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือบางคนกินยาสเตียรอยด์ ก็อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้บ่อยกว่า ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดให้สังเกตอาการเมื่อมีแผลไม่ว่าจุดไหนก็ตาม ทั้งแผลสัตว์กัด หกล้ม ตะปูตำ หรือฉีดยา แล้วแผลมีอาการปวดบวมแดงอย่างรวดเร็ว มีการลุกลามก็อาจจะเป็นได้ ที่ต้องทำคือรีบพบแพทย์ มาเร็วเท่าไหร่ความสูญเสียน้อย หากมาช้าอาจถึงชีวิตได้
ส่วน นพ.วีรศักดิ์กล่าวว่า อยากเตือนถึงคนที่เลี้ยงสัตว์ที่โดนกัด อย่าคิดว่าไม่เป็นไร หากถูกกัดแล้วพบว่าแผลฉีกขาด แสดงว่าเชื้อโรคอาจเข้าไปในผิวหนังได้ จึงต้องรีบปฏิบัติใน 3 ข้อ คือ 1.ต้องทำความสะอาดแผล 2.ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ สำหรับแผลถูกสัตว์กัดจะไม่เหมือนกับแผลมีดบาด หรืออื่นๆ เพราะจะมีเชื้อจากปากสัตว์เป็นเชื้อแบคทีเรียแบบไม่มีออกซิเจน จึงต้องให้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้เชื้อลุกลาม 3.ให้วัคซีน อย่าคิดว่าแมว สุนัขตัวเล็กๆ กัดจะไม่มีเชื้อโรค เช่น พิษสุนัขบ้า แต่พบว่ามีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทั้งหมด ดังนั้นถ้าถูกสัตว์กัดแล้วจะต้องฉีดวัคซีน ทั้งโรคกลัวน้ำ และพิษสุนัขบ้า อย่านิ่งนอนใจว่าสัตว์ไม่เป็นไร คนต้องไม่เป็นไร จากประวัติเคยพบว่าคนถูกกัดตาย แต่สัตว์ไม่ตาย จึงควรปฏิบัติ 3 สิ่งนี้เพื่อความปลอดภัยจากโรค
ขณะที่ น.ส.รุ่งนภา งามจันทร์ ลูกสะใภ้ ผู้ดูแลนายวีระ และเป็นผู้ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับอาการของพ่อสามี กล่าวว่านายวีระถูกแมวข้างบ้านข่วนที่บริเวณหน้าแข้ง น่องขวาเป็นทางยาว และเลือดไหลออกมาเล็กน้อย เมื่อวันที่ 16 ม.ค. แต่ไม่ได้หาหมอ หรือพาไปฉีดวัคซีนในทันที เพราะไม่คิดว่าแผลขนาดนี้จะมีอันตราย กระทั่งวันที่ 17 ม.ค. รอยข่วนที่บริเวณหน้าแข้งเริ่มบวมและมีไข้ คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก จนกระทั่งวันที่ 19 ม.ค. รู้สึกไม่ดี จึงนำส่ง ร.พ.วชิระภูเก็ต เพื่อให้แพทย์ดูอาการ จากนั้นแพทย์ผ่าตัดในคืนเดียวกัน ตัดเนื้อที่ติดเชื้อออก เนื่องจากบาดแผลติดเชื้อรุนแรง แพทย์ระบุว่าติดเชื้อใต้ผิวหนัง ต่อมาวันที่ 21 ม.ค. รอยข่วนที่บริเวณน่องขวาเริ่มบวม แพทย์จึงต้องผ่าตัดเอาเนื้อที่ติดเชื้อออกอีก
น.ส.รุ่งนภากล่าวต่อว่า ขณะนี้ครอบครัวลำบากมาก เนื่องจากสามีต้องโทษติดคุก ตนเองต้องทำงานเลี้ยงดูลูกตามลำพัง ส่วนน้องสาวสามีก็ประสบอุบัติเหตุ ทำงานไม่ได้ ขณะที่นายวีระเป็นคนขับเรือหาเงินเลี้ยง แต่ก็มาป่วยขาติดเชื้อรอการผ่าตัด ทำให้ยิ่งลำบาก ขาดรายได้ และคนดูแล ลูกชายอีกคนก็ไม่ได้มาดูแล ถึงแม้อาการนายวีระจะดีขึ้น และออกไปอยู่บ้านก็ต้องลำบาก ไม่มีเงินจุนเจือ เพราะทำงานไม่ได้ อยากให้ผู้ใจบุญช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะลำบาก ไม่รู้จะพึ่งใคร ยังรู้สึกไม่คาดคิดว่าแผลแค่นี้จะทำให้เกิดลุกลามจนมากมายขนาดนี้ หากรู้ว่าอันตรายก็จะพามารักษาตั้งแต่เนิ่นๆแล้ว