กรมอุตุฯ มั่นใจ ทำนายแม่นยำเกิน 80 % วอน ‘สื่อ’ หยุดนำเสนอข่าว “ทำลายชื่อเสียง” โปรดเข้าใจ อุณหภูมิลดลง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหนาวเสมอไป

หลังจากข่าวการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่พยากรณ์ว่าช่วงนี้อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส จนถูกกระแสโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความคลาดเคลื่อนและไม่น่าเชื่อถือ เพราะความจเป็นจริงแล้ว สภาพอากาศยังคงร้อนเช่นเดิม

ล่าสุด วันที่ 7 ธ.ค. ข่าวสดออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง น.ส.สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ถึงประเด็นดังกล่าว

น.ส.สุกันยาณี เปิดเผยว่า ช่วงนี้สื่อนำข่าวเราไปนำเสนอว่าอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในวันที่ 7 8 และ 9 ธ.ค. หรือวันที่ 11 ธ.ค. จะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส ความจริงข้อมูลเรามีอยู่แล้ว ว่าอุณหภูมิจะประมาณเท่าไหร่ อยากทำความเข้าใจว่าช่วงที่ผ่านมาอากาศมันอุ่นขึ้น พอลดลงประมาณนี้จึงไม่ทำให้อากาศมันหนาวมาก แต่สื่อพยายามจะจับเอาส่วนนี้ไปบอกว่า กรมอุตุฯ พยากรณ์ว่าอุณหภูมิจะลดลง จนหนาวเย็น บางทีก็เกินความเป็นจริง ส่วนนี้สื่ออาจจะขาดความรู้ เพราะข้อมูลที่เรานำเสนอไม่ได้คลาดเคลื่อนเลย

อุณหภูมิช่วงนี้ ก็ลดลงจริงๆ เพราะมีมวลอากาศเย็นที่เคลื่อนที่ลงมา แต่เมื่ออุณหภูมิเดิมสูง การที่ลดลง 1-3 องศาเซลเซียส มันจึงไม่หนาวแบบแบบได้ใจ แต่สื่อกลับนำไปตีข่าวให้แลดูน่าสนใจ เพื่อดึงดูดคนเข้ามาดู คือ พาดหัวข่าว กับเนื้อหาไม่สอดคล้องกัน มันจึงไม่ใช่ความผิดของกรมอุตุฯ

“จากกระแสการโจมตีกรมอุตุฯ คาดว่าคนบางส่วนมีทัศนคติทางลบต่อองค์กรเรา แต่ช่วงหลังเชื่อว่าความรู้สึกก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น กรมอุตุฯก็พยายามพัฒนาการนำเสนอ ไม่จำกัดในรูปแบบข้อมูลตัวหนังสือเท่านั้น ซึ่งข้อมูลการพยากรณ์อากาศเราก็มีให้ครบถ้วน หากตั้งใจทำความเข้าใจ และไม่นำเสนอข้อมูลบิดเบือน เพื่อความตื่นเต้นเร้าใจ ภาพลักษณ์ของกรมก็จะไม่เสียหาย ” ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กล่าว

ขอรับรองว่ากรมอุตุฯ มีความแม่นยำในการพยากรณ์มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จากผลการประเมินการพยากรณ์ของเรา

ผอ.กองพยากรณ์อากาศ เปิดเผยอีกว่า ส่วนการพัฒนาระบบการพยากรณ์ เรามีแผนการเสมอ โดยความถูกต้องของการพยากรณ์ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย 1.การตรวจข้อมูลการตรวจอากาศ ซึ่งปัจจุบันเราจะตรวจระยะห่างอยู่ในระดับจังหวัด หากต้องการให้แม่นยำขึ้น ก็จำเป็นต้องเพิ่มสถานีตรวจอากาศให้หนาแน่นขึ้น เพราะสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงต้องตรวจให้ถี่ขึ้น ทางกรมอุตุฯ จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มสถานีตรวจอากาศให้มากขึ้น

2.แบบจำลองการพยากรณ์อากาศ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ผ่านการใช้แบบจำลองคาดการณ์ ขณะนี้กรมอุตุฯ ก็มีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการพยากรณ์อีกระดับ รวมไปถึงการขอข้อมูลจากต่างประเทศ เพื่อทราบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และ3.คนที่ใช้พยากรณ์อากาศ เพราะแบบจำลองไม่สมจริง 100 เปอร์เซ็นต์ คนที่มาพยากรณ์ต้องปรับตามแบบจำลองพยากรณ์ และมีความรู้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน