จุฬาฯ เปิดความสำเร็จ “เด็กหลอดแก้วคนแรกของไทย” มีทายาทสืบสกุล คลายกังวลมนุษย์พันธุ์ใหม่

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ์ ผอ.รพ.จุฬาฯ พร้อมด้วยศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน ที่ปรึกษาหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬา และทีมแพทย์ แถลงข่าว “ทายาทเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทย” และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์”

รศ.กำธร พฤกษานานนท์ อาจารย์ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า ในอดีตการเกิดเด็กหลอดทำให้คนกังวลว่าเด็กจะมีความผิดปกติทั้งร่างกาย สุขภาพ ความรู้สึก และความคิด จนกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่หรือไม่ แต่จากการติดตามนายปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี เด็กที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วรายแรกของประเทศไทย พบว่ามีสุขภาพแข็งแรงดี ทุกอย่างเป็นปกติ

ปัจจุบันสามารถมีทายาทสืบพันธุ์ได้ โดยการตรวจติดตามลูกของนายปวรวิชญ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็ปกติดีทุกอย่าง ปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ 7 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีประมาณ 2 หมื่นคน แต่ไม่ทราบว่ามีทายาทกันแล้วหรือไม่ เพราะไม่ได้ติดตาม อย่างไรก็ตามกรณีของปวรวิชญ์ ยืนยันแล้วทุกอย่างเป็นปกติ

ทั้งนี้ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าการเพิ่มประชากร (Total Fertilyty Rate) ไม่ควรต่ำกว่า 2.1 แต่ประเทศไทยไทยตอนนี้อยู่ที่ 1.5 ทำให้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น ถ้าเป็นต่างประเทโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนา เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ ต่างเห็นความสำคัญแลกำหนดเป็นนโยบายให้บรรจุการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อยู้ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ

“ส่วนของไทยยังไม่มี แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีการตั้งคณะทำงานมาศึกษาเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเห็นความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายของประเทศเพื่อเพิ่มอัตราประชากร เพราะการวางแผนครอบครัวไม่ใช่แค่การคุมกำเนิดเท่านั้น

หากวันนี้ไม่ทำอะไรเราจะมีปัญหาผู้สูงอายุล้นเมือง เด็กเกิดน้อย ไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ และเต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพราะตอนนี้อัตราการเกิดของประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นปกติอยู่” รศ.นพ.กำธร กล่าว

รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ หัวหน้าหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ทางรพ.จุฬาฯ ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การเก็บเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง (Ovarian tissue cryopreservation) ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งและต้องการมีบุตร

ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวโดยเฉพาะในประเทศยุโรปจัดเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานใช้มากว่า 10 ปีแล้ว ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 100 กว่าคนที่เข้าถึง แต่ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ ประมาณ 1-2 ปี

ในส่วนของรพ.จุฬาฯ เปิดตัวเรื่องนี้มาเพียง 1 เดือน มีผู้ป่วยมะเร็งที่เหมาะสมในการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ประมาณ 6 คน สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นความหวังให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการมีบุตร เนื่องจากการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดจะไปทำลายเซลล์ในรังไข่จนไม่สามารถมีลูกได้ แต่เทคโนโลยีจะมาช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีความหวัง

โดยกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถเข้าเกณฑ์จะมีการพิจารณาเป็นรายๆ และต้องไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งรังเนื่องจากกลุ่มนี้เซลล์มะเร็งกระจายไปในรังไข่แล้ว ค่อนข้างลำบากในการใช้เทคโนโลยีนี้ แต่ผู้ป่วยมะเร็งอื่นๆ อาทิ มะเร็งเต้านม หลายรายสามารถรักษาให้หายขาดได้ กลุ่มนี้มีความหวังที่จะมีบุตรได้

“กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการมีบุตร และผ่านขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นผู้เหมาะสมใช้เทคโนโลยีนี้จะตัดเนื้อเยื่อ หรือตัดปีกมดลูก 1 ข้างออกมาแช่แข็ง ส่วนใหญ่แช่แข็งได้ประมาณ 5 ปี ขึ้นอยู่กับการรักษามะเร็ง เนื่องจากหลายราย 5 ปีก็สามารถรักษาหายขาดได้

สำหรับค่าใช้จ่ายการเก็บเนื้อเยื่อรังไข่ประมาณ 3 หมื่นบาท ไม่รวมค่าหัตถการอื่นๆ อีกประมาณ 2-3 หมื่นบาท และเก็บรักษารายปีประมาณปีละ 500 บาท ส่วนจะเก็บกี่ปีอยู่ที่อาการของผู้ป่วย” รศ.นพ.วิสันต์ กล่าว

ด้านนายปวรวิชญ์ กล่าวว่า แม้ว่าเราจะเป็นเด็กหลอดแก้ว แต่ทุกอย่างก็เป็นปกติ ไม่มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ ขนาดภรรยาคบกันมา 3 ปี ถึงทราบ เพราะตนบอกเอง ทั้งนี้ตนเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ และปริญญาโทจากต่างประเทศ

ปัจจุบันเป็นวิศวกร ก่อนมีบุตรก็มาปรึกษาแพทย์ตามปกติ มีลูกตามธรรมชาติ และตอนนี้ก็คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพศชาย น้ำหนัก 3,223 กรัม ปลอดภัย แข็งแรงทั้งแม่ทั้งลูก หลังตั้งครรภ์หลังจากนั้น 2 เดือน ตอนนี้วางแผนจะมีลูกเพิ่มอีก 1 คน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน