วิษณุเผย ผลการประชุมเตรียมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพคาดมีประชาชนมาร่วมหลายล้านคน เตรียมความพร้อมทั้งในกทม.และต่างจังหวัด กรมศิลปากรแถลงความคืบหน้าจัดสร้างพระเมรุมาศ ขณะที่พสกนิกรยังคงหลั่งไหลเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ที่พระบรมมหาราชวัง รวม 85 วันมีแล้ว 3.7 ล้านคน ถวายเงินเป็นพระราชกุศล 314 ล้านบาท ครูเกษียณเตรียมอุดมฯตื้นตันได้ถวายสักการะ

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันที่ 6 ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร โดยมีผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพจำนวน 44 คณะ

สำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 36,363 คน รวม 85 วัน มี 3,732,652 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 3,272,315.75 บาท รวม 85 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 314,195,720.79 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันที่ 86 ที่มีพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนกลุ่มแรกเข้าพระบรมมหาราชวังเวลา 04.45 น. โดยมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเดินทางมาต่อคิวเพื่อเข้ากราบสักการะพระบรมศพอย่างไม่ขาดสาย

นางพัชรินทร์ ปิยะพันธ์ อายุ 66 ปี อดีตครูหัวหน้าหมวดภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนได้จัดรถบัสให้นักเรียนเดินทางมาสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมาเข้าแถวบริเวณท้องสนามหลวงเวลา 05.30 น. ส่วนตัวมีโอกาสรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เด็ก เวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ได้เห็นพระองค์แย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ให้ประชาชน ทำให้ตนรู้สึกปลื้มปีติอย่างยิ่ง ช่วงที่เรียนโรงเรียนเบญจมราชาลัย โรงเรียนจะมีกิจกรรมฉายพระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทุกปี โดยให้นักเรียนชวนผู้ปกครองไปชมและนำกลับมาเสนอหน้าชั้นเรียน ทำให้ทราบว่าพระองค์ทรงงานอย่างหนัก เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตนจึงประทับใจทุกอย่างและซาบซึ้งที่พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อคนไทย

นางพัชรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนเกษียณอายุแล้ว แต่ยังมาช่วยงานที่โรงเรียนบ้างตามโอกาส ตลอดชีวิตการเป็นครูก็ตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งนักเรียนทุกคนที่เดินทางมาก็ยึดพระองค์เป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามพระยุคลบาท และจะทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล

ด้านนายพีรวิชญ์ ศรีเจริญชัย อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่าจะเดินทางมา กราบสักการะพระบรมศพ แต่ยังไม่มีโอกาสได้มา เมื่อทางโรงเรียนจัดกิจกรรม จึงตั้งใจเข้าร่วมทันทีเพราะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้มา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยมาตลอด 70 ปี การสวรรคตของพระองค์ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทย

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ ว่า ภาพรวมหลังพิธีตอกหมุดเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 59 การทำงานดำเนินไปตามแผนงานโดยพื้นที่ผังบริเวณในงานพระราชพิธีจะมีขนาดใหญ่กว่างานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเฉพาะใน 4 ครั้งหลัง และภายในพื้นที่จะมีถนนเส้นกลางกึ่งกลางหลักบริเวณสนามหลวง พื้นที่เกือบ 2 ใน 3 ของสนามหลวงจะเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีทั้งหมด ประกอบด้วย พระเมรุมาศ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน 6 หลัง ทับเกษตร โดยส่วนที่เลยไปจะเป็นทางถนน ศาลาลูกขุนเป็นส่วนที่จะทำหน้าที่บริการ สำหรับด้านหน้ามณฑลพิธีซึ่งจะเป็นส่วนของกรมศิลปากรโดยสำนักสถาปัตยกรรม จะออกการจัดสวน และจากนั้นจะเป็นพลับพลายก ส่วนในด้านทิศเหนือของสนามหลวงจะเป็นบริเวณเวทีมหรสพสมโภช และอีกส่วนจะเป็นลานเพื่อวางปืนใหญ่ในการยิงสลุต โดยทางกรมศิลปากรได้นำเสนอต่อคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศเป็นที่เรียบร้อย

ในส่วนของพระเมรุมาศที่เสนอรูปแบบ ไปแล้วนั้น กรมศิลปากร ทางสำนักสถาปัตยกรรมจัดทำรูปสามมิติ โดยพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ซึ่งทางสำนักสถาปัตยกรรมและสำนักช่างสิบหมู่ได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิด โดยพระเมรุมาศถือได้ว่าเป็นอาคารประธาน และเป็นอาคารสำคัญมณฑลในพิธี ซึ่งการจัดสร้างในครั้งนี้ได้ยึดถือคติโบราณในเรื่องของความเชื่อในเรื่องสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ ที่ได้ยึดถือกันมาเป็นเวลานาน จึงจำลองคติความเชื่อโลกและจักรวาลมาสร้างในงานสถาปัตยกรรม ส่วนในการจัดทำภูมิทัศน์จะสะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการนำเสนอการจัดการพื้นที่ พืชพันธุ์ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัตินำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ภายในรั้วราชวัติวางแนวคิดในการเลือกพรรณไม้ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณและพรรณไม้สีเหลือง ขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ 12 องค์ เทวดานั่งรอบเชิงฉัตรและบังแทรกพระเมรุมาศ 56 องค์ โดยครั้งนี้ได้มีการจัดสร้างมหาเทพประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม 4 องค์ จากนั้นจะมีท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหกและสัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วย ช้าง ม้า วัว สิงห์ ประดับทางขึ้นบันได ชั้นที่ 1 ประจำทิศ ทิศละ 1 คู่ นอกจากนี้ยังจะเพิ่มครุฑยืนรอบพระเมรุมาศบริเวณชั้นที่3 จำนวน 4 คู่ 8 ตัว 4 ทิศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปั้นหุ่นต้นแบบ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนขยาย แบบจริง

ส่วนข้อกังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายต้นมะขาม ที่ต้องย้ายประมาณ 50 ต้น จะมีผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาทำงานร่วมกัน ส่วนความคืบหน้าการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วนั้นเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ กะเทาะกระจกบริเวณหน้ากระดานฐานล่าง พระมหาพิชัยราชรถ และถอดส่วนประกอบพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อนำไปบูรณะยังสำนักช่างสิบหมู่

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวต่ออีกว่า สำหรับอาสาสมัครที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานศิลปกรรมเครื่อง ประกอบพระเมรุมาศ นั้นมีผู้สมัคร 228 คน และยังจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 3 ก.พ.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการเตรียมสถานที่ท้องสนามหลวงสำหรับก่อสร้างพระเมรุมาศ รวมถึงความพร้อมในการจัดงานพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในเดือนพ.ค.นี้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กทม. และกรมศิลปากร จะบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมงานให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย และรับทราบการปรับลดเส้นทางการให้บริการรถชัตเติลบัสของขสมก.เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพ ตลอดระยะเวลาของการบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร 100 วัน จากเดิม 16 เส้นทาง ได้หยุดลง 5 เส้นทาง เนื่องจากมีประชาชนใช้บริการน้อยลงเพียง 10-15 คน ได้แก่ 1.เอกมัย-สนามหลวง 2.เมืองทองธานี-สนามหลวง 3.เซ็นทรัล ศาลายา-สนามหลวง 4.เมกกะบางนา-สนามหลวง และ 5.แอร์พอร์ตลิงก์-สนามหลวง สำหรับเส้นทางอื่นจะมีการประเมินสถานการณ์จากจำนวนประชาชนที่ใช้บริการและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะกรรมการฝ่ายพิธีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เป็นการประชุมซักซ้อม โดยมีวาระเกี่ยวกับขั้นตอนเรื่องของการวางดอกไม้จันทน์ เช่น ซุ้มดอกไม้จันทน์จะอยู่ที่ใด เมื่อคนมาวางจำนวนมากจะนำไปเผาที่ไหน ในต่างจังหวัดรวมถึงต่างประเทศจะทำอย่างไร เพราะในต่างประเทศเราไม่สามารถใช้วันเวลาเดียวกันได้ ซึ่งอาจจะขอใช้วันเวลาอื่นที่ไม่ตรงกับเวลาถวายพระเพลิงจริงที่ประเทศไทย

นายวิษณุกล่าวว่า ดังนั้น เราต้องเตรียมพร้อมทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศรวมถึงกรุงเทพฯด้วย รวมถึงต้องเตรียมรองรับจำนวนคนที่จะเดินทางมาหลายล้านคน ซึ่งจะมากกว่างานพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เช่น เตรียมการเรื่องวันและเวลา และการปิดถนน เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน