สธ. เผย สถานพยาบาล ได้รับผลกระทบ 27 แห่งใน 4 จังหวัด – มีผู้เสียชีวิต 3 ราย

สธ. – วันที่ 5 ม.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับทีมแพทย์และสาธารณสุข 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “ปาบึก” ว่า จากการรับรายงานข้อมูลในพื้นที่พบว่า สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 4 จังหวัด รวม 27 แห่ง คือ นครศรีธรรมราช 12 แห่ง สงขลา 10 แห่ง นราธิวาส 4 แห่ง และปัตตานี 1 แห่ง

ส่วนใหญ่มาจากลมพัดแรงทำให้กระเบื้องหลังคาเสียหาย รวมถึงปัญหาไฟฟ้าดับ มีน้ำท่วมเข้าโรงพยาบาลบางแห่ง อาคารที่พักเจ้าหน้าที่ได้รับความเสียหาย แต่สถานพยาบาลยังสามารถให้บริการได้ 100% ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาไปก่อน ทางส่วนกลางจะสำรวจความเสียหายทั้งหมดและจัดสรรงบประมาณลงไปช่วยเหลือต่อไป

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว 3 ราย อยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 ราย รายแรกเกิดจากการขับรถชนต้นไม้ อีกรายเสียชีวิตจมน้ำขณะเอาเรือเข้าฝั่ง และจ.ปัตตานี 1 ราย เกิดอุบัติเหตุเรือล่ม ซึ่งยังทำให้เกิดผู้สูญหายอีก 1 รายด้วย ส่วนศูนย์อพยพในจังหวัดต่างๆ ขณะนี้ทยอยปิดศูนย์ ส่งประชาชนและผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ติดอยู่ตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะพยาม และเกาะช้าง จ.ระนอง รวม 200 กว่าคน ก็ได้มีการประสานเรือรบหลวงสงขลาในการไปรับตัวขึ้นฝั่ง ส่วนปัญหาสุขภาพอื่นๆ ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ที่ต้องระวังคือโรคที่พบบ่อยช่วงน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ตาแดง โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู โรคทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร รวมไปถึงผู้มีโรคประจำตัว ขอให้พกยาติดตัวไว้ตลอด เพราะหากเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก จะได้มียาไว้ติดตัว

นพ.สุขุม กล่าวว่า แม้พายุโซนร้อนปาบึกได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและเคลื่อนตัวออกไปแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากปลายหางพายุอยู่ ซึ่ง สธ.ได้เฝ้าระวังทั้ง 16 จังหวัด เนื่องจากยังมีปัญหาฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ระนอง จึงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงจ.นครศรีธรรมราช ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมด้วย เพราะมีปริมาณน้ำฝนสะสมสูง 200-300 มิลลิเมตร จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากได้ ซึ่งพื้นที่รายงานว่า น้ำหลากเริ่มมาถึงแล้ว แต่ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อย

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ได้ให้สำรวจความเพียงพอของยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สำรวจความเสียหายของสถานพยาบาล บ้านพักของบุคลากรสาธารณสุข และเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมและแผนการจัดบริการ ไม่ให้กระทบการดูแลรักษาประชาชน โดยจัดทีมแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของทีมแพทย์ในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ยืนยันว่า ยังสามารถรับมือได้ และให้เตรียมอีก 3 ทีม คือ ทีมป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม ทีมดูแลเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม และทีมดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อถามถึงกรณีแพทยสภาประสานทาง สธ.มาเพื่อจัดทีมแพทย์อาสาลงไปช่วยเหลือ นพ.สุขุม กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าในพื้นที่ยังสามารถจัดสรรกำลังหมุนเวียนได้ เรียกว่า ตอนนี้เราสามารถดูแลตัวเองได้ก็ต้องให้บริการประชาชนไปก่อน เพราะไม่รู้ว่าความช่วยเหลือจากส่วนอื่นจะมาถึงเมื่อไร แต่หากจะมีความช่วยเหลือเข้ามาทางเราก็ยินดี หรือหากทางพื้นที่ส่งข้อมูลมาว่าต้องการความช่วยเหลือก็จะมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน