เบื้องลึกประธานสนช. จำต้องยื้อร่างกม.กัญชา ปล่อยผ่านชาติเสียหาย

กัญชา – ไม่บ่อยครั้งที่ร่างกฎหมายผ่าน 3 วาระ ในชั้นสภานิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปัจจุบันแล้ว จะถูก “ยื้อร่างกฎหมาย” ไว้โดยผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา

หากเกิดปรากฎการณ์เช่นที่ว่าจริง ก็ต้องถือว่าร่างกฎหมายนั้นๆมีปัญหาหนักหนาเกินกว่าจะปล่อยให้ร่างกฎหมาย เข้าสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้ได้

เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ หรือ “ร่างกฎหมายกัญชา” ที่ที่ประชุม สนช.โหวตผ่านวาระด้วยเสียงเอกฉันท์ 166 ต่อ 0 เสียง เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561

ทว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา ถูกส่งถึงมือ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กลับถูกยื้อไว้ ด้วยมีรายงานว่าในชั้น สนช.กำลังมีการพิจารณา ประมวลกฎหมายยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับด้วยกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด

ซึ่งหากพิจารณาแล้วเสร็จกฎหมายยาเสพติดอื่นก็จะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย รวมไปถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษด้วย

รวมไปถึงบทบัญญัติมาตรา 22 ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ครอบครองและทำการวิจัยสารสกัดกัญหาก่อนหน้านี้ ที่ถูกปรับเพิ่มเข้ามาในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งนายพรเพชรมองว่าเป็นสาระสำคัญที่ไม่ปรากฎอยู่ในร่างเดิมซึ่งที่ประชุม สนช.รับหลักการในวาระที่ 1 สุ่มเสี่ยงที่จะขัดมาตรา 77 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ได้

เมื่อเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อน อาจทำให้เกิดความสับสนกันเองในแพคเกจกฎหมายยาเสพติด ตลอดจนการกระทำที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ นายพรเพชร จึงตัดสินใจสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นเพื่อพิจารณาเนื้อหาของ ประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.กัญชา ให้สอดคล้องทำนองเดียวกัน

หรือหากจำเป็น ก็นำสาระสำคัญที่จำเป็นในร่าง พ.ร.บ.กัญชามาบรรจุไว้ใน ประมวลกฎหมายยาเสพติด แล้วตีตกร่าง พ.ร.บ.กัญชาไปเสีย

มีการตั้งคำถามว่าสิ่งผิดปกติที่นายพรเพชรเพิ่งพบนั้น รองประธาน สนช.บางคน และ วิป สนช.บางราย ไม่ทราบ หรือไม่ได้รายงานให้ประธานสนช.รับทราบก่อนหน้านี้หรืออย่างไร

แล้วก็บังเอิญที่จู่ๆ บิ๊กใหญ่ในกระทรวงหนึ่ง ได้ทำหนังสือลงวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ถึงประธานวิป สนช. ตั้งข้อสังเกตถึงประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ใกล้จะพิจารณาแล้วเสร็จในชั้นกรรมาธิการของ สนช. แจกแจงข้อสังเกตมาเบ็ดเสร็จ 18 ข้อด้วยกัน

ไม่แปลกที่กระทรวงนี้ เชื่อมโยงกับงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะมีความคิดเห็นและข้อห่วงใยเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด แต่แปลกที่ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กรรมาธิการพิจารณาอยู่นั้นก็มีต้นทางมาจากกระทรวงดังกล่าวนั่นเอง

เท่ากับว่า เป็นการตั้งข้อสังเกตในสิ่งที่กระทรวงตัวเองเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) มายัง สนช.เสียเอง แต่ก็ส่งผลไม่ให้ประมวลกฎหมายยาเสพติดเดินหน้าได้ ทั้งที่กรรมาธิการพิจารณาเกือบจะ 100% แล้ว
ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็นการติดเบรกประมวลกฎหมายยาเสพติด ในช่วงเวลาเดียวกับที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ผ่านวาระที่ 3 ไปเสียด้วย

เดชะบุญที่ นายพรเพชร เอะใจ และสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นเพื่อพิจารณาเนื้อหาของ ประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.กัญชา ดังที่กล่าวไปแล้ว

ข้อสั่งการของนายพรเพชร ไม่เพียงแต่ทำให้โต้โผในชั้น สนช. หัวฟัดหัวเหวี่ยง แสดงความไม่พอใจที่พ.ร.บ.กัญชาถูกยื้อในที่ประชุมวิปสนช.เท่านั้น ยังร้อนไปถึงบิ๊กในรัฐบาล ที่เห็นท่าไม่ดี มีการส่งคนมากดดันประธานสนช.ให้ปรับท่าทีเสียใหม่ เพื่อปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา มีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด

ส่วนประมวลกฎหมายยาเสพติด ก็ให้กรรมาธิการนำข้อสังเกตของบิ๊กกระทรวงหนึ่ง ไปพิจารณาปรับแก้ไขให้ครบถ้วน แล้วจึงค่อยเดินหน้าต่อในวาระที่ 2 และ 3

เพื่อต้องการให้เกิดความลักลั่นในเรื่องห้วงเวลากันเพียงเล็กน้อย กล่าวคือเมื่อร่าง พ.ร.บ.กัญชามีผลบังคับใช้ไประยะเวลาหนึ่ง ก็จะต้องสิ้นสภาพทันทีเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติด ทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้ระยะเวลาหนึ่งที่ว่านั้นจะสั้นหรือยาวหาใช่สาระสำคัญ

คำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ยังค้างอยู่!

ที่น่าเป็นห่วงคือร่าง พ.ร.บ.กัญชา อาจจะส่งผลเอื้อต่อประเด็นที่ภาคประชาชนห่วงใยก็คือ คำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา และสารสกัดกัญชา ที่ยังค้างอยู่ในชั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการปลูกกัญชา และการทำวิจัยเกี่ยวกัญชา ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายในขณะนี้ จะได้รับอานิสงค์จากบทนิรโทษกรรมในมาตรา 22 จนสามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

แล้วหากปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้เดินหน้าจนแล้วเสร็จ เป็นจังหวะเดียวกับที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้ ก็จะส่งผลให้กฎหมายกัญชาสิ้นสภาพ ก็เท่ากับปิดประตูลั่นกลอนไม่ให้ผู้ใดสามารถขอสิทธิบัตร ขออนุญาตปลูก และทำการวิจัยใดๆได้อีก

ดังนั้นถ้าร่างกฎหมายกัญชามีผลบังคับใช้ขึ้นมาจริง นอกเหนือจากความเสียหายภายในประเทศแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบจากภายนอกประเทศด้วย เนื่องจากตั้งแต่เนื้อหาสาระของกฎหมายกัญชาบางช่วงบางตอนเขียนไว้อย่างไม่รัดกุม อาจจะเอื้อต่อการคลายล็อก “ฝิ่น” ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 พ่วงไปกับ “กัญชา-กระท่อม” ที่จะได้อานิสงค์โดยอ้างว่าใช้ในทางการแพทย์ไปด้วย

เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้ไทย ค.ศ.1961 (The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) และพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้ไทย ค.ศ.1972 (The 1972 Protocol Amending the Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) ซึ่งมีเนื้อหาในการควบคุมและจำกัดปริมาณการใช้ยาเสพติดให้โทษเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งมีการกำหนดรายชื่อสารที่ควบคุม โดยมี ฝิ่น และ กัญชา รวมอยู่ด้วย

โดยฝิ่นนั้น ถูกจัดอยู่ในตารางที่ 1 กลุ่มยาเสพติดที่สามารถทำให้เกิดการติดยาได้ ซึ่งใช้ทางการแพทย์ไม่มากนัก ขณะที่กัญชา อยู่ในตารางที่ 4 ที่นอกจากจะถูกควบคุมเหมือนสารในตารางที่ 1 แล้ว ยังจะต้องมีวิธีการพิเศษที่จำเป็นเพื่อควบคุมด้วย โดยห้ามปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง ยกเว้นในทางการแพทย์และการวิจัยเท่านั้น

เท่ากับความพยายามคลายล็อกกัญชา ที่อาจมีอานิสงค์ไปถึงฝิ่นนั้น อาจนำไปสู่การกระทำที่ขัดภาคีอนุสัญญาฯที่ว่า และอาจทำให้ถูกสมาชิกภาคีคว่ำบาตร เสียสิทธิหลายประการในระดับนานาชาติได้ หากการดำเนินการใดๆเกินกว่ากรอบที่กำหนดภายหลังจากกฎหมายกัญชามีผลบังคับใช้

บทเรียนวันวาน…

ในอดีตประเทศไทยเคยได้รับความเสียหาย มาจากกระบวนการออกหรือแก้ไขกฎหมายอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมหรือสภาพการของประเทศมาแล้วหลายครั้งหลายหน ครั้งที่อาจจะใกล้เคียงที่สุดกับกรณีนี้เห็นจะได้แก่การแก้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อหลายปีในอดีต ที่แต่เดิมกฎหมายไทยไม่ให้การคุ้มครองเรื่องยาบนหลักการที่ว่าไทยยังเป็นประเทศยากจน หากสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์ยาได้รับการคุ้มครอง ก็จะเป็นเหตุให้ราคายาแพงขึ้นทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ในครั้งนั้นประเทศตะวันตก เจ้าของบริษัทยาข้ามชาติทั้งหลายรวมตัวกับบีบประเทศไทย ด้วยวิธีการต่างๆ จนกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของกฎหมายเร่งเร้าให้ประเทศต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยา มิใยที่นักวิชาการในประเทศจะทักท้วง พร้อมด้วยข้อเสนอที่สร้างสรรว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวควรจะทำเป็นขั้นเป็นตอน

โดยขอมีช่วงเวลาผ่อนปรน และใช้เวลาช่วงนั้นในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมยาไทยเพื่อให้พึ่งตนเองได้ แต่ฝ่ายวิชาการก็พ่ายแพ้แก่ฝ่ายกระทรวงพาณิชย์ การแก้กฎหมายได้เกิดขึ้นโดยหุนหัน

ทำให้ในปัจจุบันประชาชนคนไทยต้องทนทุกข์ต่อราคายาที่แพงขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล และอุตสาหกรรมยาของประเทศก็ยังอ่อนแออยู่ต่อไป นับเป็นบทเรียนที่ประเทศได้รับจากกระบวนการทางนิติบัญญัติที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ เป็นบทเรียนบนความทุกข์ของคนทั้งชาติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันและจะคงอยู่ตลอดไป

เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายกัญชาที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ประวัติศาสตร์อาจจะเดินมาซ้ำรอยโดยไม่ต่างกันนัก การออกกฎหมายครั้งนี้จะนำมาซึ่งความเสียหายของประเทศในระยะยาว การเปิดประตู ซึ่งจะเป็นแบบรู้เท่าไม่ถึงการ หรือด้วยความจงใจก็แล้วแต่ จะทำให้สิทธิบัตรจากต่างชาติที่ได้ดำเนินการวิจัยมาก่อนเราหลายสิบปีด้วยพลังทางวิชาการที่เหนือกว่าเราหลายเท่า สามารถเข้ามาขอคุ้มครองผลิตภัณฑ์ที่จะมาจากการประดิษฐคิดค้นเหล่านั้นได้

หมายความว่า ในอนาคตเราก็จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากกัญชาในราคาที่แพง แต่ที่สำคัญที่สุด การจดสิทธิบัตรเหล่านั้นจะเป็นการกีดกันไม่ให้นักวิชาการไทยสามารถวิจัยและพัฒนาไปในทางที่สิทธิบัตรเหล่านั้นให้การคุ้มครองได้

ในที่สุดก็ลงเอยถึงขั้นว่าแม้แต่กัญชาพันธุ์ไทยที่ดีที่สุดในโลกแต่ประเทศไทยที่เป็นเจ้าของ ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์จากธรรมชาติของตนเองได้ กฎหมายเช่นนี้อย่างเก่งก็คงจะเอื้อแค่ระดับการเอากัญชามาอัดใส่บ้องดูดอย่างถูกกฎหมายเท่านั้นเอง

เรื่องของกัญชานี้ หากเราไม่ทันเกม เราก็จะเสียหายรวมทั้งเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล เกมที่ว่าต้องทันนั้น มีความยุ่งยากยอกย้อนอันเนื่องมาจากองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายในประเทศที่อาจเกิดแบบรู้ไม่ทันหรือเพราะแรงบีบหรือเพราะกลลวง ก็แล้วแต่ ความพร้อมทางด้านวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเรายังล้าหลังอยู่หลายขุม ไปจนถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมยาและการแพทย์ในประเทศ

หากประเทศไทยหวังจะได้ประโยชน์ทางทรัพยากรอันมีต่านี้จริงๆ จำเป็นที่จะต้องวางแผนพัฒนาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เริ่มจากการสร้างภูมิคุ้มกันและความเท่าทันทางวิชาการในการคิดค้นเกี่ยวกับกัญชาในทุกระดับ แล้วจึงวางกติกาทางกฎหมายที่มีทั้งการเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง การคุ้มครองทั้งในสิ่งที่ควรคุ้มครออันเป็นภูมิปัญญาของเราเอง ไปจนถึงท้ายที่สุดคือการคุ้มครองสิ่งแปลกปลอมที่มาจากต่างชาติ

เช่นนั้น ท่าน สนช. ทั้งหลายจึงจะได้ชื่อว่าดูแลผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงของการล้ำเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง การรักษาผลประโยชน์ชาติ กับ การทำลายผลประโยชน์ของชาติ

อย่ากดดันขัดขวาง แต่ควรเปิดทางให้ประธานสนช.กระทำในสิ่งที่เหมาะที่ควรต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน