พาณิชย์จับมือสถานทูตอังกฤษ นำร่องใช้ บล็อกเชน ช่วยบริหารทรัพย์สินทางปัญญาสู่เชิงพาณิชย์ เปิดผลการศึกษาใช้บล็อกเชนใน 8 โครงการ พร้อมดันโครงการนำร่องในระบบลิขสิทธิ์วรรณกรรม

วันที่ 5 ก.พ. นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า อังกฤษสนับสนุนการเปิดตลาดและการค้าเสรี รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับเศรษฐกิจการค้า ซึ่ง บล็อกเชน เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สถานทูตอังกฤษให้การสนับสนุนในการยกระดับเศรษฐกิจการค้าของไทย

โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจการค้าได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สู่เชิงพาณิชย์ด้วย ทั้งนี้ สถานทูตอังกฤษยินดีที่ได้สนับสนุนงบประมาณและทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ในโครงการศึกษาครั้งนี้

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาปฏิวัติเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล โดยคุณลักษณะเด่นของบล็อกเชน เช่น เพิ่มความโปร่งใสในระบบ คุ้มครองสิทธิ์ของเจ้าของ ลดปัญหาคอร์รัปชั่น การส่งข้อมูลไปยังหน่วยในเชนได้พร้อมกันหลายหน่วย ปลอมแปลงแก้ไขได้ยาก

รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจ (Trust Building) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์รูปแบบต่างๆ

ปกป้องลิขสิทธิ์การ์ตูนออนไลน์-วรรณกรรม

สนค.เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้ในงานของกระทรวงพาณิชย์หลายอย่าง เช่น การจดทะเบียน (registration) การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) การจดแจ้งความเป็นเจ้าของ (ownership)

การสร้างความมั่นใจให้ e-commerce โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สินค้าจีไอ หากนำบล็อกเชนมาใช้ก็จะช่วยการจดทะเบียน ลดข้อพิพาท การฟ้องร้องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรต่างๆ

น.ส.พิมชนก กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาเห็นว่า เบื้องต้นจะนำบล็อกเชนมาใช้กับลิขสิทธิ์ จะเป็นโครงการนำร่องก่อน ซึ่งปัจจุบันมีเด็กไทยเขียนการ์ตูนไปขายในดิจิตอล รวมถึงผู้ที่เขียนงานวรรณกรรม และมีความสนใจที่จะอยากใช้บล็อกเชนมาใช้กับเรื่องลิขสิทธิ์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในงานของตนเอง และเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

โดยจะเป็นต้นแบบการจดแจ้งและบริหารจัดการลิขสิทธิ์ เชื่อมโยงกับผู้ให้บริการอีบุ๊ค ซึ่ง ขณะนี้ได้ประสานกับผู้ประกอบการที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะไว้แล้วคาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณ 1 แสนบาท โดยโครงการลิขสิทธิ์ดิจิทัล จะดำเนินการต่อจากโครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนฯที่จะเสร็จสิ้นในต้นเดือนมี.ค.นี้

8 โครงการเข้าบล็อกเชน

นายอาณัติ ลีมัคเดช ผอ.ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเสนอความเป็นไปได้ในการพัฒนาต้นแบบการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา สู่เชิงพาณิชย์นั้น จากการศึกษาพบว่ามีสิ่งที่ดำเนินการต่อได้อย่างน้อย 8 โครงการ ทั้งระยะสั้น (Quick Win 1 ปี) และระยะถัดไป (2-3 ปี) ซึ่งจะใช้งบประมาณรวม 37,920,000 บาท

โดยในระยะสั้น เสนอให้นำร่องการนำข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในระบบตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา (IP Mart) ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าสู่ฐานข้อมูลบล็อกเชน และการศึกษาและพัฒนามาตรฐานกลางการจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลงานวรรณกรรม

โดยสามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการ e-Book พัฒนามาตรฐานสำหรับเก็บข้อมูลลิขสิทธิ์บนบล็อกเชน ตัวอย่างโครงการในระยะถัดไป เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา โครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และระบบตรวจสอบย้อนกลับออนไลน์

นอกจากนี้ มีข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายบล็อกเชน ทั้งสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ รองรับการจดทะเบียน การโอนสิทธิ์ การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และการบังคับหลักประกันทางธุรกิจด้วย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน