ปอท.เตือน ระวัง สถิติถูกแฮกเฟซบุ๊กสูงขึ้น แนะวิธีตรวจสอบก่อนสาย

ปอท.เตือน / เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 ในฐานะโฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงสถิติการก่อเหตุอาชญากรรมทางโซเชียลมีเดียที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีคนร้ายแฮกเข้าสู่ระบบ

ซึ่งรอบปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มสถิติสูงขึ้นทุกๆ ปี คดีเกี่ยวกับผู้ที่กระทำผิดด้วยการแฮกข้อมูล รวม 623 ราย แยกเป็นแฮกเพื่อปรับเปลี่ยนหรือขโมย หรือทำลายข้อมูลจำนวน 499 ราย แฮกเพื่อหลอกโอนเงินจำนวน 124 ราย มูลค่าความเสียหายที่มีคนหลงโอนเงินให้คนร้าย

แยกเป็นหลอกโอนเงินผ่านอีเมล์ จำนวน 360,875,856 บาท, แฮกเพื่อหลอกโอนเงินจำนวน 6,411,306 บาท, แฮกเพื่อปรับเปลี่ยน/ขโมย/ทำลายข้อมูล จำนวน 2,454,195 บาท

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าวฝากเตือนประชาชนถึงเรื่องการใช้เฟซบุ๊ก พร้อมแนะนำให้ เปลี่ยนรหัสผ่าน โดยตั้งรหัสผ่านให้ยากต่อการคาดเดา รวมถึงเปิดรับการแจ้งเตือน และตั้งค่าความปลอดภัยทางอีเมล์

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

“ส่วนใครที่อยากจะรู้ว่าเฟซบุ๊กของตัวเองโดนแฮกเกอร์เจาะเฟซบุ๊กไปแล้วหรือยังสามารถตรวจสอบ ด้วยวิธีดังนี้ 1.ไปที่ “Account Settings ” 2.ไปที่ “Security and Login ” 3.ไปที่ “Where You’re Logged In” 4.ตรวจสอบดูรายชื่อของอุปกรณ์และสถานที่ที่มีการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก หากพบว่ามีอุปกรณ์แปลกปลอมล็อกอินจากสถานที่ที่เราไม่เคยไป เป็นไปได้สูงว่าเฟซบุ๊กของเราจะตกเป็นเหยื่อแฮกเกอร์แล้ว และ 5. LOG OUT หรือ ออกจากระบบ” โฆษก ปอท.กล่าว และว่า

หากประชาชนคนใดที่ถูกแฮกเฟซบุ๊กไปแล้ว ให้แจ้งรายงานผู้ดูแลเฟซบุ๊ก สามารถหาดูวิธีการรายงานได้ผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นอย่างกูเกิล ก่อนแจ้งเตือนเพื่อนๆ ตนเอง อย่าโอนเงินไปให้คนร้าย หากมีการติดต่อไปขอยืมผ่านบัญชีตนเองหลังจากที่ถูกแฮก

สุดท้ายขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุที่ทราบว่าเฟซบุ๊กถูกแฮก เพื่อลงประจำวันว่าเป็นการเข้าระบบโดยผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีอัตราโทษสูงทั้งจำและปรับ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน