บุกสลายการชุมนุมต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่หน้าทำเนียบ ตร.ใช้แผนปิดประตูตีแมว ทำทีเป็นเปิดตึกก.พ.ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใช้ห้องน้ำ จากนั้นปิดล้อมรวบ 3 แกนนำรวมทั้ง ?หม่อมโจ้?ม.ล.รุ่งคุณ และพวกไปที่มทบ.11 ก่อนให้หน่วย ปจ.มาเชิญผู้ชุมนุมขึ้นรถไปสอบสวน ก่อนรวบเพิ่มอีก 2 แกนนำรวมเป็น 5 คน ส่วนผู้ชุมนุมอื่นๆ นำไปซักประวัติหากต้องการกลับบ้านก็จะจัดรถให้ ?ไก่อู? อ้างทำผิดพ.ร.บ. การชุมนุม 2558 จึงต้องจัดการ ด้าน ?มาร์ค-เจ๊หน่อย? ประสานเสียงไม่เห็นด้วยใช้อำนาจเล่นงานม็อบ หลายองค์กรแถลงการณ์ จี้ปล่อยตัวแกนนำ ส่วนกรีนพีซหวังรัฐบาลเปลี่ยนใจ ส่วนที่กระบี่มีม็อบหนุนยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ให้กำลังใจนายกฯ

ความคืบหน้าม็อบต่อต้านสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ก.พ. ที่ถนนพิษณุโลก ซึ่งกลุ่มต่อต้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชุมนุมกันอยู่ โดยช่วงเช้าทาง เจ้าหน้าที่เปิดตึกคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลให้ ผู้ชุมนุมใช้ห้องน้ำ แต่เมื่อผู้ชุมนุมทยอยเข้าห้องน้ำเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมพร้อมคุมตัวนายประสิทธิ์ หนูนวล, ม.ล.รุ่งคุณ กิตติยากร และนายอัครเดช ฉากจินดา แกนนำม็อบ ไปให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารก่อนจะควบคุมตัวไปที่ มทบ.11 ส่วนผู้ชุมนุมที่เหลือเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในพื้นที่หน้าตึก ไม่อนุญาตออกมาบริเวณด้านนอกหรือข้างทำเนียบรัฐบาล

ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รอง ผบช.น.นำกำลังหน่วยปราบจลาจลหญิงกว่า 1 กองร้อย พร้อมรถบัสกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน จำนวน 2 คัน มาจอดอยู่ที่บริเวณหน้าก.พ. ขณะที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมหญิงกลุ่มต่อต้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปักหลักอยู่ตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมาจำนวน 10 คนอยู่ภายใน ขณะเดียวกันทางเจ้าหน้าที่ตั้งด่านปิดทางเข้า-ออกบริเวณถนนพิษณุโลก เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาสมทบเพิ่มเติม

ต่อมาเวลา 14.30 น. ตำรวจคุมตัวผู้ชุมนุมบางส่วนขึ้นรถตู้ 2 คันออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกันเข้าควบคุมตัวนายบรรจง นะแส และนายธัชพงศ์ แกดำ แกนนำไปที่มลฑลทหารบกที่ 11 ส่วนผู้ชุมนุมที่เหลือเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปตรวจสอบประวัติ ที่กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งภายหลังการซักประวัติหากผู้ชุมนุมรายใดมีความประสงค์ต้องการกลับภูมิลำเนาเจ้าหน้าที่จะส่งตัวกลับทันที

พล.ต.ตสมพงษ์กล่าวว่า ภายในวันนี้จะผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ โดยเตรียมจัดรถนำผู้ชุมนุมที่เหลือกลับภูมิลำเนา เป็นหญิง 8 คน ชาย 4 คน อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ยังคงตรึงกำลังอยู่ที่บริเวณสะพานชมัย มรุเชษฐ์

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการควบคุมตัวแกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะแม้เจ้าหน้าที่จะพูดคุยเพื่อเจรจาให้ยุติการชุมนุม หรือให้ไปชุมนุมในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมกลับใช้กำลังกดดันเจ้าหน้าที่และแสดงเจตจำนงที่จะปักหลักชุมนุม พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมเพิ่มเติมด้วย

“พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีรายละเอียดที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ที่ประสงค์จะชุมนุมต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างไร และทำเนียบรัฐบาลก็เป็นพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่จัดสถานที่สำหรับการชุมนุม เพื่อให้เกิดความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยในวันที่ 20 ก.พ.นี้ศาลแพ่งนัดไต่สวนผู้จัดการชุมนุม ตามที่เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม เพราะมีการทำผิดเงื่อนไข” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รัฐบาลอยากให้สังคมมองภาพใหญ่ของประเทศหรืออนาคตของพี่น้องประชาชนในภาคใต้ อย่ามองเรื่องการคัดค้านเพียงอย่างเดียว เพราะมีประชาชนอีกไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการขนส่งถ่านหินจะไม่กระทบเส้นทางเดินเรือประมงและการท่องเที่ยว และยังติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลเพื่อป้องกันมลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี

พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอให้ใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น กระทรวงพลังงานยืนยันว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มสูงถึง 8.42 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับน้ำมันเตาที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ 3.78 บาท/หน่วย หรือน้ำมันปาล์มแพงกว่าน้ำมันเตาถึง 4.64 บาท/หน่วย ดังนั้น หากใช้น้ำมันปาล์มเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิต 2,400 ล้านหน่วย/ปี จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท/ปีเช่นกัน

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการคุมตัวแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก ในส่วนของทหารเป็นส่วนสนับสนุนช่วยดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย เบื้องต้นทราบว่าเชิญแกนนำมาร่วมพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แม้ว่าผู้ชุมนุมจะทำผิดเงื่อนไขและพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ส่วนที่ใช้สถานที่มทบ.11 นั้น เพราะเป็นสถานที่ใกล้กับที่ชุมนุมและมีความสะดวก

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแกนนำกลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ไปพุดคุยที่ มทบ. 11 ว่า สิ่งที่เราเสนอมาตั้งแต่ต้นเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทั้งในพื้นที่และในวงกว้าง เพราะว่าแนวความคิดในการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมันสวนกับกระแสหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้ที่ห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่อันดามันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และที่น่าเสียดายในคำชี้แจงยังพยายามที่จะบังคับให้คนมองแค่เพียงว่าถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งไม่เป็นความจริง

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า มองไม่เห็นว่าผู้ที่มาชุมนุมนั้นเป็นการเมืองได้อย่างไร พูดตรงๆ คือรัฐบาลไหนตัดสินใจเช่นนี้เขาก็มา เขาไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายไหนทั้งสิ้น หากจะบังคับใช้กฎหมายขอให้คำนึงถึงเจตนาของผู้มาชุมนุม ว่าเขามาด้วยเจตนาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่ได้สร้างความวุ่นวาย หรือเกี่ยวกับความมั่นคงใดๆ ทั้งสิ้น เราไม่ต้องการให้สถานการณ์บานปลาย แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะทบทวน เพราะเพิ่งผ่านการพิจารณาของ กพช. ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะต้องนำเรื่องดังกล่าวกลับเข้า ครม.อีกหรือไม่

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างจริงใจ ซึ่งกรณีนี้นอกจากไม่รับฟังความทุกข์และความเดือดร้อนของชาวบ้านแล้ว ยังใช้อำนาจเข้าจับกุมคุมขังประชาชนที่ออกมาสะท้อนปัญหาความเดือดร้อน ต่อโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา รัฐบาลชุดนี้ใช้อำนาจจับกุม คุมขังประชาชนในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะการจับกุมแบบไม่แจ้งข้อกล่าวหาหรือสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นการใช้อำนาจโดยไม่รับฟังความเห็นของคนอื่น โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

วันเดียวกัน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ร่วมออกแถลงการณ์ กรณีการจับกุมเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ว่า ขอให้เคารพเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ และปล่อยตัวแกนนำค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นการใช้เสรีภาพชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อีกทั้งผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการชุมนุมผิดเงื่อนไข จึงไปร้องต่อศาลแพ่ง ให้วินิจฉัยว่าให้เลิกการชุมนุมและศาลแพ่งได้มีหมายนัดให้มีการไต่สวนผู้จัดการชุมนุม ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 09.00 น.

ในระหว่างที่รอการไต่สวนของศาลแพ่งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามผู้ชุมนุมใช้ห้องน้ำ และไม่ให้ส่งอาหารให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมรับประทาน อันเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง อีกทั้งเจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำสามคน อันเป็นการขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทั้งนี้ โดยไม่รอการไต่สวนของศาลแพ่ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ถือเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอยู่เหนืออำนาจของตุลาการ อันขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง

ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ออกแถลงการณ์ กรณีการแสดงออกซึ่งสิทธิในการปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวมของทุกคนภายในชาตินั้น ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกคนภายในประเทศที่สามารถแสดงออกได้ โดยที่รัฐไม่ควรกระทำการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการจำกัดขัดขวางและละเมิดต่อสิทธิของประชาชน รวมถึงการจับกุมแกนนำเพื่อกดดันให้ประชาชนสลายการชุมชุม ถือว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งอารยะและมนุษยธรรม

น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีชออกแถลงการณ์จากกรณีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตัดสินใจเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำประเทศยังคงยึดติดกับพลังงานสกปรกและอันตรายอย่างถ่านหิน รัฐบาลไทยยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีล้าสมัยและเชื่อมั่นในมายาคติ “ถ่านหินสะอาด” ซึ่งไม่มีจริงบนโลก

น.ส.จริยากล่าวว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจของไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ที่จะทำตามคำมั่นสัญญาระดับสากล ที่จะถอยห่างจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงโดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ไม่ใช่ยึดติดกับเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน กรีนพีซเชื่อว่ายังไม่สายเกินไปที่ผู้นำประเทศจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่ผิดพลาดนี้

ที่ จ.กระบี่ กลุ่มเครือขายภาคประชาชนจังหวัดกระบี่จำนวนกว่า 500 คน นำโดยนายดำรัส ประทีป ณ ถลาง ตัวแทนเครือข่าย เดินทางมารวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่ ยื่นหนังสือผ่านนายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าฯ กระบี่ ไปยังนายกรัฐมนตรี สนับสนุนมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เห็นชอบให้ กฟผ.ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อส.จ.กระบี่ จำนวนกว่า 30 นาย คอยดูแลความสงบเรียบร้อย

นายดำรัสกล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่ เพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีมวลชนในพื้นที่สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานในอนาคต และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่สร้างงานสร้างอาชีพของคนในชุมชน เชื่อว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นเทคโนโลยีทันสมัย จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน และเพื่อต้องการให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน