พูดคุยเปิดใจ ‘คนไร้บ้าน’ : เลือกตั้งครั้งนี้ 1 เสียงของพวกเขา ก็ดังเท่ากับ 1 เสียงของเรา

อาจจะคุ้นชินตาสำหรับคนที่อยู่แถวนั้น กับภาพคนแต่งตัวมอมแมม นั่ง นอน บนพื้นที่คนทั่วไปย้ำเดิน บ้างใช้ลังกระดาษปูนอน หรือขวดน้ำพลาสติกหนุนหัวต่างหมอน ใช้ชีวิตลำพัง เร่ร่อนหาข้าวเติมท้องไปวันๆ นั่งมองดูคนเดินผ่านไปผ่านมาด้วยสายตาเลื่อนลอย ไร้จุดหมาย ไร้อนาคต นี่คงเป็นคำที่ใช้เรียก ‘คนไร้บ้าน’ ก็น่าจะไม่ผิดนัก

เวลาที่เราเห็นพวกเขาตามท้องถนน หรือตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นใจจิตใจของเราก็คงแตกต่างกัน คือ มีบ้างที่รู้สึกสงสาร มีบ้างที่รู้สึกกลัว มีบ้างที่รู้สึกขัดตา แต่ความรู้สึกเหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ เพราะ ‘คนไร้บ้าน’ ถือเป็น ‘ผลผลึก’ แห่งความล้มเหลวของรัฐ ที่หลุดจากกวงโครจรของการจัดการ

กระนั้นใครจะรู้ว่า ‘คนไร้บ้าน’ ส่วนใหญ่ยังมีสิทธิไม่ต่างจากคนทั่วไป และมี 1 เสียงเท่ากับเราในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากได้พูดคุยกับ นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา และคนไร้บ้านที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ทำให้รู้ว่า พวกเขาตื่นตัวกับการออกไปใช้สิทธิครั้งนี้มาก

นายสุวิทย์ นาคประคอง อายุ 41 ปี หรือ “พี่บัง” คนไร้บ้านลำดับที่ 1 ได้ชวนเราพูดคุยถึงเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผย โดยมีเพื่อนที่นั่งข้างๆ คอยแซวว่า พูดแบบนี้ ‘ระวังนะ’ แต่เสียงเบรกนั้น ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความแรงของพี่บังไว้ได้ แกเปิดบทสนทนามาด้วยประโยคเด็ดๆ ว่า

รัฐบาลนี้เขาช่วยคนรวยอย่างเดียวเลย ก็มันจริงอ่ะ (หันไปสวนเพื่อนข้างๆ) ไม่ช่วยคนจนเลย

“เขาออกข่าวกินเลี้ยงโต๊ะจีน ผมดูทีวี ถ้าเป็นพรรคอื่นเขาโจมตีละ แต่เขาไม่เป็นไรเลย รัฐบาลเขาไม่เอาคนจนหรอก เอาแต่พรรคแต่พวก”

ต่อด้วยการโจมตีต่อว่า “รถไฟคนจน แกยกเลิกหมด เพราะแกมีอำนาจ แกเอาทหารปกครอง”
เรื่องบัตร (สวัสดิการแห่ง) รัฐ ที่ลดอัตราบ้าง แต่ฟังดูในข่าวมันยกเลิกไม่ได้ เพราะมีมาตรา แต่เท่าที่ฟังข่าวเมื่อวาน กระทรวงการคลังบอกว่า ไม่เสียหายอะไร ซึ่งบัตร (สวัสดิการ) รัฐ มันไม่ได้ช่วยชาติ เขาช่วยเหลือตัวเอง เพื่อพรรคเพื่อพวก

คนไร้บ้านก็คุย ‘การเมือง’

เดี๋ยว 6 โมงพวกผมก็คุยกันแล้ว มีประมาณ 4-5 คน พวกผมติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะดูทีวีกัน เลยไม่ค่อยตกข่าว

บ้านผมอยู่ยะลา ครั้งนี้วางแผนจะกลับไปเลือกตั้งที่นั่น ตอนนี้กำลังเก็บค่ารถ ผ่านการขายของบ้างอะไรบ้าง พอได้เงินพอ และใกล้วันที่ 24 มีนาคม ก็จะเดินทาง

จากการฟังนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้ตัดสินใจเลือกได้แล้ว และคิดว่าถ้ารัฐบาลเดิมได้บริหารงานต่อ ทุกอย่างก็คงแย่เหมือนเดิม

นายบุญรักษ์ แสงสว่าง อายุ 52 ปี หรือ “พี่เตี้ย” คนไร้บ้านลำดับที่ 2 เปิดเผยชีวิตคนไร้บ้านของตัวเองว่าคนไร้บ้านมันไม่ได้มาตรฐาน ถ้ามีงานก็ไปทำงาน ถ้าไม่มีงานก็อยู่นี่ ผมเป็นคนอุบลฯ ไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ ร่วม 15 ปี ช่วงนี้ยังไม่มีงานทำ แต่อาทิตย์หน้าคงจะไปทำเตียงเหมือนเดิม จัดเตียงให้แขกนั่งแถวพัทยา ช่วงนี้หน้าโล (ซีซั่น) แขกไม่ค่อยมี

ครั้งนี้อดเลือกตั้ง

พอรู้ว่าจะมีเลือกตั้งก็ตื่นเต้น ก็อยากเลือกตั้ง แต่ว่าบัตรประชาชนหาย แล้วไม่ได้ทำบัตรใหม่ หรือลงทะเบียนเลย ก็เพิ่งรู้ เพราะพี่เขาบอกว่าลงทะเบียนหรือยัง ก็บอกว่าไม่รู้ข่าวสาร สงสัยปีนี้จะตกรอบไม่ได้เลือกตั้ง

พอใจผลงานรัฐบาลชุดนี้

รัฐบาลชุดนี้หรอ ผมชอบ เพราะมันเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ที่ผ่านมามันก็ไม่ได้ดั่งใจ รัฐบาลชุดนี้จัดระเบียบถนน อย่างเยาวราชหรือว่าสะพานเหล็ก ยอมรับว่าเขาทำได้

ส่วนตัวยังไม่ได้ใช้บัตรคนจน แต่ว่าถามว่าดีไหม มันก็ดี สำหรับคนที่มันไม่มีตังค์จริงๆสำหรับตัวผมเอง ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราพอทำงานได้ เราก็ทำไป เราช่วยเหลือตัวเองได้อยู่

ได้เข้ากลุ่มคุยการเมืองไหม?

ผมไม่ได้ร่วม เพราะเขาก็บอกแล้วว่า ห้ามคุยกันเรื่องการเมือง ม.44 ก็บอกว่ามันผิดอยู่แล้ว พูดบางครั้งบางคราวได้ แต่จะพูดเกินไปไม่ได้ เราต้องไปตามกฎกติกาที่เขาวางเอาไว้ เราอย่าไปฝืน เมื่อก่อนเราทำอะไรก็ได้ แต่พอจัดระเบียบแล้วเราต้องปรับตัวเข้ากับสังคมให้ได้ อย่างเราเคยสกปรก เราก็พยายามให้สะอาดขึ้น เสวลาไปรถเมล์ อย่างไปเที่ยว หรือไปทำงาน ถ้ามีงานเราก็ไปทำงาน

ใครมาดูแลบ้าง?

บางทีเขาก็เอาข้าวมาแจก เอายาแก้ไข้มาแจก ก็มีส่วนที่เขาเห็นใจ เอาสบู่ ยาสีฟันมาให้ ก็มีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วย ก็ขอบคุณมากๆ ช่วงนี้ ก็พอไหวอยู่สำหรับคนไม่มีตังค์ ถ้าเขาช่วยมากเกินไปก็ไม่ดี เราต้องช่วยตัวเองบ้าง

นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยถึงความสนใจการเมืองของคนไร้บ้านว่า

พวกเขาก็จะอยู่เป็นก๊วน เป็นอะไรอย่างงี้ เขาก็จะคุยกัน คือมันจะมีที่หนึ่งที่เขาไปกินข้าวกันบ่อยๆ คือ สภาสังคมสงเคราะห์ เขาจะมีการจับกลุ่มคุยกัน

เหตุผลของคนไร้บ้าน…

มันคือทางเลือกของเขา ที่จะออกมามีชีวิตของตัวเอง เนื่องจากอยู่ที่บ้าน หรือว่าอยู่กับครอบครัวแล้วมันมีปัญหา หรือไม่สามารถอยู่ได้ ปัญหามันก็เกิดจากเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องทางเศรษฐกิจ เรื่องความรุนแรงทางครอบครัว มันเป็นตัวเลือกที่มีจำกัด ต้นทุนทางชีวิตของเขา เช่น มีการศึกษาน้อย มีเงินเก็บเงินออมน้อย หรือแม้แต่ทักษะอาชีพ

ไม่มีตัวเลือกที่จะไปมีชีวิตที่ดีเองไม่ได้ มันทำให้เขาจะต้องเลือกช่องทางตามต้นทุน จะไปเช่าห้องก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ ไปทำงานอื่นก็ยังไม่มี เพราะตกงาน
ดังนั้นเขาก็ต้องเลือกพื้นที่ที่เขาคิดว่ามันเหมาะสมกับต้นทุนที่เขามีอยู่ พื้นที่ที่เหมาะสมไม่พ้นที่ไหน ก็คือพื้นที่สาธารณะ…

คนไร้บ้านกับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

ส่วนมากทราบว่าจะมีเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม แต่ที่ไม่ทราบจริงๆ คือไม่ทราบว่า มันมีการจัดการเลือกตั้ง ‘ล่วงหน้า’ เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่มีประชาสัมพันธ์ เขาไม่รู้เลยว่าเลือกตั้งล่วงหน้าจะเป็นวันไหน ต้องทำยังไง

คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด ดังนั้นพอไม่ทราบข่าวว่ามีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า เขาก็จะไม่สามารถที่จะไปใช้สิทธิได้ หลายคนรู้สึกว่า การที่จะต้องกลับไปต่างจังหวัดคือ ต้นทุนที่มันสูง อย่างเช่น ค่ารถที่จะไป หรือว่าถ้าไปแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ไหน เพราะเขาออกมาจากครอบครัวที่มันมีปัญหา เขาก็ไม่สามารถกลับไปบ้านได้ เขาก็เลยไม่สามารถไปใช้สิทธิได้

คนไร้บ้านตื่นตัวทางการเมือง

เราพยายามที่จะสะท้อนว่าจริงๆ แล้วคนไร้บ้านเขามีการตื่นตัวกับการเลือกตั้งมากขนาดไหน เราพยายามสะท้อนที่เราทำสื่อไป ว่าจริงๆ แล้วเขาสนใจการเมือง เขาสนใจการเลือกตั้ง เขาสนใจนโยบายที่พรรคการเมืองเขาเสนอมา ว่ามันนำไปสู่เรื่องของการที่เขาจะได้ประโยชน์จากนโยบายมากน้อยขนาดไหน
เราพยายามที่จะบอกกับสังคมแบบนี้ เหมือนเป็นตัวแทนที่จะบอกกับสาธารณะว่า เขาสนใจ
ดังนั้นสิ่งที่พรรคการเมืองควรที่จะถาม หรือนักการเมืองควรจะทำ เราคิดว่าก็ควรที่จะสนใจว่าเขามีความต้องการอะไร

เรื่องสวัสดิการที่มันน้อยเกินไป มันน้อยจนทำให้เขาต้องเลือกใช้ชีวิตแบบนี้

มันเป็นปัญหาสะท้อนในเรื่องเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้เกิดปัญหาคนไร้บ้าน อย่างเช่น เขาตกงาน ถ้ามันมีสวัสดิการมารองรับ แน่นอนว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของเขา มันก็จะทำให้เขาอยู่พอได้ อยู่ในคุณภาพชีวิตที่ไม่ตกต่ำมาก

ปัญหาคนไร้บ้าน มันสะท้อนเรื่องของสวัสดิการได้ดีมาก หรือว่าสะท้อนต่อเรื่องของการที่ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีกลไกที่สามารถสร้างต้นทุนทางชีวิตให้เขา เพื่อที่จะเอาต้นทุนนั้น นำไปสู่เรื่องของการปรับปรุงคุณภาพชีวิตตัวเองได้ มันเป็นปัญหามาก เช่น เรื่องของสวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการเรื่องสุขภาพ สวัสดิการเรื่องอาชีพ เรื่องรายได้ หรือแม้แต่สวัสดิการที่สามารถให้เขาเข้าถึงที่พักอาศัยที่ดีได้ ในราคาที่คนสามารถเข้าถึงได้ มันเป็นสวัสดิการที่เป็นทุนชีวิตแบบหนึ่ง เขาสามารถเอาทุนชีวิตนั้น ไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตเขาได้ มันไม่มี มันขาดหายไป มันบกพร่อง

ไม่มีใครอยากเป็นคนไร้บ้าน!!

ไม่ต้องเป็นคนไร้บ้านก็ได้ แต่ว่าเราไม่มีสิ่งนี้ เราเข้าถึงสิ่งนี้ไม่ได้ พี่เตี้ยเข้าถึงสิ่งนี้ไม่ได้เลย เข้าถึงทุนไม่ได้ ดังนั้นคุณคือสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ในเรื่องของการปรับคุณภาพชีวิตของเขา มันก็มีหลายอย่าง แต่หลักๆ คือ การศึกษา ถ้าเขาเข้าถึงการศึกษาได้ดี และเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ เข้าถึงทักษะที่จะนำไปสู่อาชีพที่ดี หรือเข้าถึงตลาดแรงงานได้ง่าย เพราะตลาดแรงงานของเราจำกัดมาก อย่างคนอายุแบบพี่เตี้ย 50 กว่า ตลาดแรงงานแทบไม่รับแล้ว อันนั้นมันก็จะเป็นปัญหาที่ทำให้เขาไม่สามารถที่จะนำเอาตัวเองไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้ หรือว่าหลุดจากการเป็นคนไร้บ้านได้

สวัสดิการที่ดีที่สุดคือ เรื่องของสุขภาพ คือสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดแล้ว

อย่างเช่น เขามาอยู่กรุงเทพฯ แต่ชื่อเขาอยู่ในทะเบียนบ้านต่างจังหวัด สิทธิเขาก็จะปรากฏอยู่ในต่างจังหวัด พอเขาป่วยเขาก็จะไม่สามารถมาดูแลรักษา หรือว่าเข้าโรงพยาบาลที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้ ดังนั้นจึงทำให้เขามีระยะห่างในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ถ้าเป็นในเรื่องอื่นๆ มันก็จะเป็นในเชิงสังคมสงเคราะห์ มันเป็นการให้สวัสดิการแบบเฉพาะกลุ่ม และมันก็ไม่ตอบโจทย์ บางคนที่เป็นผู้สูงอายุ เขาก็จะได้ 600 บาท แต่ว่า 600 บาท ถ้าเขาใช้ชีวิตโดยลำพังไม่ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ได้อยู่บ้าน แน่นอนเขาใช้ไม่พอ ใช้มันไปเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้แน่นอน ก็จะเป็นปัญหาในเชิงสวัสดิการ

นโยบายสู่รัฐสวัสดิการ

ผมคิดว่า มันก็มีนโยบายบางอย่างที่ดูแล้วเป็นความหวัง อย่างนโยบายที่ปูฐานไปในเรื่องของการมีรัฐสวัสดิการจริงๆ หรือว่าแม้แต่เรื่องของการกระจายอำนาจ การกระจายการปกครอง ผมว่ามันก็จะเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ฐานรากเลย อย่างเช่น คนไร้บ้านคนหนึ่งก่อนที่จะมาเป็นคนไร้บ้าน เขาอยู่ในภาวะเสี่ยง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มที่จะมาเป็นคนไร้บ้าน แต่ถ้ามีการกระจายอำนาจ ยกตัวอย่าง อบต. หรือเทศบาล เขาเข้าไปดูแลครอบครัวนี้ได้ทัน ไปสร้างต้นทุน ไปแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ก็ลดความเสี่ยงลง จนเขาไม่ต้องมาเป็นคนไร้บ้าน

สุดท้ายมันคือ ความเหลื่อมล้ำ

มันอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำด้วย มันอยู่ที่การจัดการที่ทำให้นโยบายไปสู่จุดนั้นได้จริงๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่ามันก็ต้องผัด หมายถึงว่า คนที่มาเป็นรัฐบาลมันต้องผัด หรือว่าประชาชนที่เลือกเขาไปเป็นรัฐบาลแล้วรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหา ทั้งภาคสังคม ทั้งภาคเศรษฐกิจของเรา ประชาชนก็เลือกไปแล้วเสร็จ เราก็ต้องผัดเพื่อที่จะทำให้ตัวรัฐบาล หรือว่าคนที่เราเลือกไปแล้ว เขาสามารถที่จะทำได้จริง


สุนันทา บวบมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน