หน.นิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ โพสต์ถามคดี ‘เปรมชัย’ ซุปหางเสือ หายไปไหน ยันดีเอ็นเอ เสือดำ ตรวจซ้ำตลอดชีวิตก็ได้ผลเหมือนเดิม พ้อคงต้องไปหานิยาม “การครอบครองซากสัตว์ป่า” ให้ดีกว่านี้

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. น.ส.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความและภาพหลักฐานผ่านเฟซบุ๊ก หลังศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตัดสินคดีล่าสัตว์ป่าของ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกโดยจำคุก 16 เดือน และยกฟ้องข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ)

โดย น.ส.กณิตา โพสต์ระบุว่า ทั้ง ๆ ที่บอกตัวเองว่าไม่มีอะไรต้องกังวล แต่พอเอาเข้าจริง ๆ กลับรู้สึกกังวลขึ้นมา มีอยู่จุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น ก็คือการยกฟ้องคุณเปรมชัย เรื่องการครอบครองซากเสือดำ แน่นอนว่าตัวเองนั้นต้องเคารพ และเชื่อมั่นคำตัดสินของศาลอยู่แล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมองกลับมาที่ตัวเองว่าทำอะไรบกพร่องไปรึเปล่า จึงขอทบทวนสิ่งที่ทำไปตามที่สื่อก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ดังนี้ วัตถุพยานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเนื้อต่าง ๆ หนังเสือดำที่มีรอยกระสุน หางเสือต้มซุปในหม้อ กระดูกในลำธาร ลำไส้ มีดหลายเล่ม เขียง แม้แต่เลือดบนใบไม้ หรือคราบเลือดบนดิน ฯลฯ ล้วนแต่มาจาก เสือดำ ตัวเดียวกัน แต่คงไม่จบง่ายแค่นั้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

“งานนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่งานสั้นๆ ที่จะตอบแค่ว่าเป็นสัตว์ชนิดอะไร เป็นตัวเดียวกันหรือไม่เพียงแค่นั้น แต่จะต้องตอบให้ได้มากกว่านั้นหลังจากที่ประมวลรวมผลทั้งหมดแล้ว เช่น เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างในที่เกิดเหตุ เขาไปทำอะไรกันตรงนั้น ลำดับของเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นก่อนหลัง แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องเขามีพฤติกรรมอะไรหรือมีเจตนาอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการหลักฐานเชื่อมโยงกันทั้งหมด ข้าพเจ้าคงตอบไม่ได้ในที่นี้ว่ามันเชื่อมโยงกันมากน้อยแค่ไหน ผิดแค่ไก่ฟ้าหลังเทา-ซุปหางเสือหายไปไหน”

โดยตั้งคำถามว่า การเห็นรอยกระสุน เห็นมีดทำครัวและเขียง เห็นซุปในหม้อ เห็นกระดูกที่ทิ้งแล้วเห็นการหมกซาก ย่อมบอกได้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีพฤติกรรมการล่า มีการฆ่าสัตว์ให้ตาย มีการชำแหละ มีการปรุงอาหาร มีการบริโภค มีการซุกซ่อน ฯลฯ เป็นต้น มีใครอยู่ตรงนั้นตอนนั้นบ้าง ก็เชื่อมโยงกันไป แล้วพฤติกรรมเหล่านี้มันอยู่ในนิยามความหมายของการครอบครองซากสัตว์ป่าหรือไม่

ทั้งนี้ แต่อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะบอกไว้ก่อนเลยก็คือ ไม่มีเจตนาอันใดแม้แต่น้อยที่จะไปพยายามหาจุดผิดให้กับจำเลย ไม่มีอคติใดใด ความมีอคติ-หรือไม่มีอคติ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดใดกับการตรวจ DNA ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้าล้วน ๆ ซึ่งโกหกไม่ได้ ปรุงแต่งข้อมูลอะไรก็ไม่ได้ เพราะมันมีหลักฐานทุกขั้นตอนหมด

ส่วน DNA ก็เป็นรหัสที่ตรวจซ้ำกี่ทีตลอดชีวิตก็ได้ผลเหมือนกัน ดังนั้นขอให้มั่นใจเลยว่าจรรยาบรรณของผู้ที่ทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในเบื้องต้น คือ ไม่มีการตั้งธงไว้ก่อน แล้วมองจำเลยเป็นผู้ร้าย..แต่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน และทุกชีวิต (คือหมายถึงตัวสัตว์ด้วย) บนข้อมูลของความจริงที่ปรากฏอย่างเสมอภาคกัน

สำหรับเคส เสือดำเคสนี้ยอมรับว่าเป็นเคสที่มีความซับซ้อนมากที่สุดเคสนึงในประสบการณ์การทำงานของข้าพเจ้า ซึ่งได้พยายามทุ่มเททำให้ดีที่สุดแต่ก็อาจจะมีหลายจุด หลายประเด็นที่คงต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก

“ความติดใจในเรื่อง การพบซุปหางเสือในหม้อ กับการพบ ซากไก่ฟ้าหลังเทาในกะละมัง แต่ได้ความผิดเรื่องการครอบครองไก่ฟ้าเพียงอย่างเดียว อาจเป็นอะไรที่ข้าพเจ้าไม่มีความเข้าใจมากนัก.. คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติม หรือไปค้นคว้าหานิยามของคำว่า “การครอบครองซากสัตว์ป่า” ให้ดีขึ้นกว่านี้ก่อนนะคะว่ามันคืออะไร?”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน