สวัสดีชาวโลก! ลูกเต่าหญ้า รังแรกในรอบ 23 ปี รอคอยมานาน คลานลงทะเลอันดามัน

ลูกเต่าหญ้า / วันที่ 21 มี.ค. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ว่าพบหลุมไข่เต่าเริ่มยุบตัว บริเวณศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่าทะเล หน้าวัดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา

เป็นสัญญาณว่าลูกเต่าหญ้าได้ฟักตัวออกจากไข่และเริ่มคลานขึ้นมาบริเวณใกล้ปากหลุมแล้ว เจ้าหน้าที่ได้รอจนน้ำทะเลขึ้นสูงสุด จึงได้ทำการช่วยลูกเต่าที่ขึ้นมาจากหลุมฟัก พร้อมขุดหลุมเปิดทางให้ลูกเต่าที่ยังเหลืออยู่ในหลุมให้ขึ้นมาจนหมดลงสู่ทะเลอย่างปลอดภัยได้จำนวนลูกเต่าหญ้ารวม 68 ตัว และได้ตรวจสอบในหลุมพบว่ามีไข่ที่ไม่มีน้ำเชื้อผสม 11 ฟอง ไข่ที่ได้รับการผสมแต่ไม่ฟักจำนวน 2 ฟอง รวมไข่ทั้งหมด 81 ฟอง

นายจตุพร เปิดเผยว่า ไข่เต่าทะเลจะฟักตัวโดยอาศัยความร้อนจากแสงอาทิตย์ และความชื้นที่เหมาะสมใต้พื้นทราย โดยประเทศไทย อุณหภูมิของหลุมไข่เต่าใต้ทรายอยู่ในช่วง 25-34 องศาเซลเซียส ตัวอ่อนในไข่เต่าทะเล จะเริ่มเจริญแบ่งเซลล์และเริ่มยึดเกาะติดกับเยื่อเปลือกไข่บริเวณส่วนบนของไข่เต่าในช่วงประมาณ 6-12 ชั่วโมง หลังจากที่แม่เต่าวางไข่แล้วซึ่งสังเกตุได้จากเปลือกไข่บริเวณบนเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น

โดยเริ่มเป็นจุดด้านบนและจะเพิ่มวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใช้เวลาเพาะฟักนานขึ้น ในช่วงนี้ถ้ามีการเคลื่อนย้ายหรือพลิกหมุนไข่เต่าจะทำให้ตัวอ่อนหลุดออกจากที่ยึดเกาะและตายในที่สุด ดังนั้นถ้ามีความจำเป็นในการเคลื่อนย้ายไข่เต่าเพื่อการเพาะฟักช่วงเวลาที่ปลอดภัยที่สุดต้องอยู่ในเวลา 3-6 ชั่วโมงหลังจากที่แม่เต่าวางไข่

ในกรณีที่พบเต่าทะเลขึ้นวางไข่เกินกว่า 6 ชั่วโมง การเคลื่อนย้ายไข่เต่าทะเลเพื่อการเพาะฟักต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยเคลื่อนย้ายไข่เต่าในตำแหน่งจุดบนอยู่ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ตัวอ่อนกระทบกระเทือนหรือหลุดจากที่ยึดเกาะและเสียชีวิต จากการศึกษาการเจริญเติบโตของเต่าทะเลชนิดเต่าหญ้าในบ่อเลี้ยง พบว่าเต่าหญ้ามีน้ำหนักเฉลี่ย 4.5 กิโลกรัม ในระยะเวลา 22 เดือน โดยจะใช้เวลาเจริญเติบโตและสามารถแพร่พันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 8-12 ปี

อย่าทิ้งขยะลงทะเล

อธิบดีทช. กล่าวว่า สำหรับเต่าหญ้า หรือเต่าสังกะสี หรือเต่าหญ้าแปซิฟิก เป็นเต่าทะเลชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidochelys olivacea เป็นเต่าทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30-40 กิโลกรัม กระดองมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาล เกล็ดบนกระดองมีลักษณะซ้อนกันเหมือนสังกะสีมุงหลังคา อันเป็นที่มาของอีกชื่อเรียกหนึ่ง

ส่วนท้องมีสีเหลืองออกขาว หัวค่อนข้างโต ดวงตาปูดโปนออกมา กระดองมีความแข็งมาก ริมฝีปากสั้นทู่และคมแข็งแรงมากเพื่อใช้สำหรับขบกัดกินสัตว์มีกระดองซึ่งเป็นอาหารหลัก ส่วนของกระดองและท้องเชื่อมต่อกัน เป็นเต่าทะเลที่ว่ายน้ำได้เร็วมาก โดยอาจว่ายได้ถึง 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในน่านน้ำไทยจะพบได้ในฝั่งทะเลอันดามัน

ส่วนในทะเลอ่าวไทยจะพบได้น้อยกว่า จัดเป็นเต่าทะเลอีกชนิดหนึ่งที่พบได้น้อยมากในน่านน้ำไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

นายจตุพร กล่าวว่า ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากทุกคน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรม เรือท่องเที่ยว ชาวประมง และประชาชนในพื้นที่ ให้ช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศชาติ ด้วยการไม่ทิ้งถุงพลาสติกบริเวณชายหาดหรือในท้องทะเล ไม่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ลดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

การสร้างรีสอร์ทที่ส่งผลกระทบทำลายระบบนิเวศทางทะเล และลดความเชื่อผิดๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมทั้งอยากให้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมลงมือทำกันอย่างจริงจัง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ให้คงอยู่คู่ทะเลไทยต่อไป

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน