ทวี สอดส่อง ห่วงหลัง คนแชร์แคมเปญถอดถอน กกต. โดนจับ หมิ่น เตือนใช้อำนาจ!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงประเด็นของการแจ้งจับกุมผู้แชร์แคมเปญรณรงค์ถอดถอน กกต. ว่า “ภาพพจน์ของรัฐราชการในเงามืด (ในวัฒนธรรมที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย)

ข่าวตำรวจแถลงการจับกุม 7 ผู้ต้องหา ที่แชร์ส่งต่อแคมเปญรณรงค์ รวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บนเว็บไซต์ Change.org/EC ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 8 แสนราย และได้รับการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางบนเฟซบุ๊ก,กรณีตำรวจดำเนินคดีกับ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รับหมายเรียกข้อหายุยงปลุกปั่น ให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหาจากเหตุเมื่อ 4 ปีก่อน, ข่าวกรณีตำรวจดำเนินคดีกับคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และน.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่น กกต.”

และข่าวการดำเนินคดีเสรีชนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกจำนวนมากที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง จึงมีความรู้สึกไม่สบายใจและห่วงใยประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่งที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกการใช้อำนาจนิยมของรัฐข้าราชการ เกือบทั้งระบบ ที่มีทั้งตำรวจ ผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ ซึ่งในยามที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกมองเป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการทำให้ประชาชนหวาดกลัวและจำยอม

เป็นยุคที่กฎหมายจะถูกบัญญัติขึ้นมามากมายที่ใช้บังคับกับประชาชนที่เป็นเสรีชนแม้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จะบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นไว้ก็ตาม แต่เป็นบทบัญญัติที่ขาดการนำไปปฏิบัติ ไม่ให้คุณค่า ไม่ให้ความสำคัญ และถูกเลือกปฏิบัติ

การใช้กฎหมาย “ตามอำเภอใจ” เป็นต้นเหตุสำคัญของการทุจริตคอรัปชั่น “อาชญากร” ผู้ก่อให้เกิดมิใช่เพียงผู้กระทำที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นเพียงความผิดเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึง บทบัญญัติของกฎหมายอาญา ผู้บังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย

รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรมที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (Rule fo Law)

“ความยุติธรรม” เป็นคำยากต่อการกำหนดนิยาม มีความเป็นนามธรรมระดับสูง แต่ความยุติธรรมมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง หากสังคมใดขาดความยุติธรรมย่อมต้องประสบปัญหาความทุกข์ร้อนทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ซึ่งในกรณีของกฎหมายก็เช่นเดียวกันผู้บังคับใช้กฏหมาย อย่าเป็นเครื่องมือของกฎหมาย แต่ต้องใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือให้เกิด “ความยุติธรรม”

ขออนุญาตนำเสนอบทความของ อาจารย์ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ที่ได้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์มติชน

https://www.matichon.co.th/article/news_1435924

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน