ผู้ว่าฯกทม.เผยแลนด์มาร์กเจ้าพระยาเสร็จมี.ค.63

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า สำนักการบริหารและพัฒนาเมือง ได้รายงานความคืบหน้าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (พระปกเกล้าสกายปาร์ค) ว่า ภายหลังจากโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา กทม.ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท เอส จี อาร์ เอนเตอร์ไพร์ส จำกัด เพื่อสร้างทางเดินและสวนสาธารณะลอยฟ้าเชื่อมต่อฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทาง 280 เมตร ความกว้าง 8.5 เมตร ความสูง 850 เมตร โดยมีการออกแบบโครงสร้างรั้วดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทั้งยังมีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องซีซีทีวี เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ และจะมีการก่อสร้างทางจักรยาน และลิฟท์เพื่อให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สามารถขึ้นสู่สวนสาธารณะลอยฟ้า ใช้งานได้อย่างสะดวก ส่วนพื้นที่ใต้สะพาน จากเดิมที่เป็นจุดอับ เป็นแหล่งอาชญากรรม ก็จะปรับปรุงให้สวยงาม และมีความปลอดภัยมากที่สุด

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ทางเดินและสวนสาธารณะลอยฟ้า จะดำเนินการบริเวณสะพานด้วนซึ่งเป็นสะพานลอยฟ้า ที่อยู่ระหว่างสะพานพระปกเกล้า และสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งสะพานด้วนดังกล่าว เป็นโครงสร้างเก่า ที่ในอดีตก่อสร้างเพื่อเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โครงการระงับไป โครงสร้างจึงไม่มีการพัฒนาใดๆเป็นเวลานาน โดยกทม.ได้ออกแบบการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับประชาชนในแนวเส้นทาง โดยได้จัดทำแบบเบื้องต้น และสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำสวนสาธารณะลอยฟ้า ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต่างมีความต้องการให้กทม.เร่งดำเนินการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

สำหรับโครงการดังกล่าวใช้วงเงิน 122 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน จะก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 22 มี.ค.2563 หากดำเนินการแล้วเสร็จเป็นไปตามแผน จะเป็นแหล่งนันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจและแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดมุมมองแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นักท่องเที่ยวสามารถชมทัศนียภาพกรุงเทพฯ ได้ 360 องศา และเป็นแลนด์มาร์กเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า ระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี ด้วยการเดินและปั่นจักรยาน จึงนับว่าเป็นโครงสร้างทิ้งร้างของเมือง ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นแห่งแรกๆ ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มเข้ามาใช้งาน สอดคล้องกับเทรนด์การพัฒนาพื้นที่สาธารณะในหลายเมืองทั่วโลก ที่อาศัยการฟื้นฟูโครงสร้างเก่า อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกทม.จะพัฒนาการเชื่อมต่อไปยังบริเวณใกล้เคียงและต่อเนื่องไปยังคลองโอ่งอ่างต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน