พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี 2 รัชกาล

คําว่า “องคมนตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “น. ผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์”

องคมนตรีมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกนั้นยังไม่ได้เรียกว่า “องคมนตรี” แต่จะใช้คำว่า “ปรีวีเคาน์ซิล”

“ปรีวีเคาน์ซิลลอร์” “ปรีวีเคาน์ซิลเลอร์” หรือ “สภาที่ปฤกษาในพระองค์” ส่วนคำว่า “องคมนตรี” เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน

ทั้งนี้ ในรายงานการประชุมเสนาบดีวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 111 (พ.ศ.2435) และใน “ประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็กแลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลตั้งองคมนตรี” รัตนโกสินทรศก 111 ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า “องคมนตรี” แล้ว

ตามหลักฐานที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้น 2 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 แผ่นที่ 1 หน้า 2-3 ได้ลงพิมพ์ “ประกาศที่ 3 ว่าด้วยตั้งเกาน์ซิล และพระราชบัญญัติ” ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า

“…ราชการผลประโยชน์บ้านเมืองสิ่งใดที่จะเกิดขึ้น แลการที่ยังรกร้างมาแต่เดิมมากนั้น ถ้าจะทรงจัดการแต่พระองค์เดียว ก็จะไม่ใคร่สำเรจไปได้ ถ้ามีผู้ที่ช่วยกันคิดหลายปัญญาแล้ว การซึ่งรกร้างมาแต่เดิมก็จะได้ปลดเปลื้องไปได้ทีละน้อยๆ ความดีความเจริญก็คงจะบังเกิดแก่บ้านเมือง จึ่งได้ทรงจัดสันข้าทูลอองธุลีพระบาทซึ่งมีสติปัญญาโปรดเกล้าฯ ตั้งไว้เปนที่ปฤกษาแห่งสมเดจพระเจ้าอยู่หัว…”

และในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้นค่ำ 1 ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 แผ่นที่ 5 หน้า 46 ได้ลง “ประกาศการในที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” และ “ประกาศว่าด้วยปฤกษาจัดการในเคาน์ซิลออฟสเตด คือที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” รวมทั้ง “ประกาศว่าด้วยการปรีวีเคาน์ซิล” นอกจากนั้น ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 10 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 แผ่นที่ 17 หน้า 158-161 ได้ลงประกาศ “พระราชบัญญัติ ปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษาในพระองค์”

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แบบอย่างการแต่งตั้งองคมนตรียังคงเป็นไปตามเดิม ทรงแต่งตั้งองคมนตรีขึ้นใหม่ตามพระราชอัธยาศัย แต่ทั้งนี้ ทรงตั้งประเพณีไว้อย่างหนึ่ง คือในเดือนมีนาคม ให้กระทรวงมุรธาธรทำบัญชีผู้ที่ได้รับพระราชทานพานทองเครื่องยศ ในคราวพระราชพิธีฉัตรมงคลเดือนพฤศจิกายน ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงเลือกเป็นองคมนตรี แล้วจะทรงตั้งเป็นองคมนตรีในวันที่ 4 เมษายน เนื่องในพระราชพิธีศรีสัจปานกาล (พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา)

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งองคมนตรีเพิ่มใหม่เป็นประจำทุกปี เป็นผลให้จำนวนองคมนตรีในรัชกาลนี้มีถึง 233 คน และอยู่ในตำแหน่งจนสิ้นรัชกาล

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยึดแบบอย่างการแต่งตั้งองคมนตรีตามแบบเดิม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้องคมนตรีทั้งหมดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นองคมนตรีในรัชกาลของพระองค์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย คือทรงเลือกผู้ที่ไม่ได้พระราชทานเครื่องยศชั้นพานทองเป็นองคมนตรีด้วย

องคมนตรีในรัชกาลนี้จัดสรรเป็นสัดส่วนระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการคือ อภิรัฐมนตรี เสนาบดี ราชเลขาธิการ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าพระยา พระยา และราชครู มารวมกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งองคมนตรีในการพระราชพิธีศรีสัจปานกาลในเดือนเมษายนของทุกปี

จนถึงพุทธศักราช 2472 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนแปลงการตั้งองคมนตรีมาตั้งในพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีจะต้องเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณและรับพระราชทานสัญญาบัตรองคมนตรีก่อน จึงจะถือว่าเป็นองคมนตรีโดยสมบูรณ์

เนื่องจากองคมนตรีมีจำนวนมากไม่สะดวกในการเรียกประชุม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” ขึ้น ตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษาในพระองค์ จุลศักราช 1236

และทรงคัดเลือกองคมนตรีที่ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ จำนวน 40 คน เข้ามาเป็นกรรมการองคมนตรีเพื่อทำหน้าที่ “ประชุมปรึกษาหารือข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้าฯพระราชทานลงมาให้ปรึกษา”

นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริให้สภากรรมการองคมนตรีเป็นที่ประชุมตัวอย่างสำหรับการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเสรี

ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สภากรรมการองคมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่และประชุมอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จึงได้มีการประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2475 เป็นผลให้องคมนตรีและสภากรรมการองคมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 พ้นจากตำแหน่งและหน้าที่ไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์นั้นยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ และจะต้องเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้น มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นประธาน และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ร่วมเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีอำนาจหน้าที่ตามประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ดังนี้

“…โดยมีข้อตกลงว่า ในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองคนเป็นผู้ลงนาม…”

ครั้นถึงพุทธศักราช 2490 ได้มีประกาศแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ซึ่งมีรายละเอียดที่บัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน”

“มาตรา 10 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้อภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที” และ

“มาตรา 13 อภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งประจำมีห้านาย เป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์” อภิรัฐมนตรีจึงเป็นทั้งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปในขณะเดียวกัน

ต่อมา วันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2492 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 มาตรา 13 ได้บัญญัติเกี่ยวกับองคมนตรีไว้ดังนี้

“พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้”

นับเป็นรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกที่บัญญัติถึงคณะองคมนตรีและหน้าที่ของคณะองคมนตรี อันเป็นการวางรากฐานบทบาทและหน้าที่ของคณะองคมนตรีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร ภาระหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้หมดไปโดยปริยาย แต่องคมนตรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นมา คงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม

มีข้อที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าคณะองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 9 จะมีรากเหง้ามาจากคณะที่ปรึกษาในพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” (THE PRIVY COUNCIL) ซึ่งทรงรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษอีกทอดหนึ่ง

แต่เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบัน โครงสร้างและหน้าที่ของคณะองคมนตรีประเทศไทยเปลี่ยนไปจากโครงสร้างและหน้าที่ของคณะองคมนตรีไทยแต่ดั้งเดิมและของประเทศอังกฤษโดยสิ้นเชิง

คณะองคมนตรีของไทยในรัชกาลที่ 9 นั้นพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งด้วยพระองค์เองทุกคน มีหน้าที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญ ส่วนประเทศอังกฤษซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรนั้น

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งองคมนตรีโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี จากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในวงราชการ วงการศาสนา หรือวงการการเมือง เช่น ผู้พิพากษาระดับสูง สมเด็จพระสังฆราช รัฐมนตรี เป็นต้น ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งแล้วโดยไม่จำกัดจำนวน

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรมีองคมนตรีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 500 คน โดยดำรงตำแหน่งชั่วชีวิต และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ เช่น ลงนามในประกาศบรมราชโองการการขึ้นเสวยราชสมบัติของพระประมุขของประเทศพระองค์ใหม่ การอภิเษกสมรสของพระประมุขของประเทศ การเปิดและปิดสมัยประชุมรัฐสภา การยุบสภา เป็นต้น ทั้งนี้ คณะองคมนตรีของสหราชอาณาจักรในปัจจุบันมีบทบาทไม่มากนัก

รายพระนามและรายนามอดีตประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 9

1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ดำรงตำแหน่งทั้งหมด 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2492-2517 ทรงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีจนถึงวันที่สิ้นพระชนม์

2. พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม-4 มิถุนายน 2493

3. พลเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฏ ทรงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม-29 พฤศจิกายน 2494

4. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ดำรงตำแหน่งทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม-8 มิถุนายน 2506 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9-14 กรกฎาคม 2506

5.หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม-8 กันยายน 2518

6. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2518-4 กันยายน 2541 ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีจนถึงวันที่กราบถวายบังคมลาออก เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรีในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2541 กระทั่งสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 9

สำนักราชเลขาธิการทำเนียบองคมนตรีแจ้งประกาศให้ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม-1 ธันวาคม พ.ศ.2559

กระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี 2 รัชกาล ทั้งในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน