กรมอนามัยห่วง เด็กไทยเตี้ย 8.8% แนะดื่มนม-กระโดดโลดเต้น อัพสูง

เด็กไทยเตี้ย / วันที่ 30 พ.ค. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าววันดื่มนมโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มิ.ย.ของทุกปี ว่า กรมฯ ส่งเสริมให้เด็กไทยสูงใหญ่สมส่วน สมองดี ซึ่งความสูงเป็นตัวสะท้อนว่ามีการดูแลเด็กเป็นอย่างดี ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เติบโตอย่างแข็งแรง

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า เด็กไทยอายุ 6-14 ปี ยังมีภาวะ เตี้ย ร้อยละ 8.8 ซึ่งกรมฯ ตั้งเป้าให้ลดลงเหลือร้อยละ 5 โดยความสูงเฉลี่ยของเด็กไทยเมื่ออายุ 12 ปี ในเด็กหญิงควรสูงที่ 155 เซนติเมตร ปัจจุบันอยู่ที่ 149.9 เซนติเมตร ส่วนเด็กชายควรอยู่ที่ 154 เซนติเมตร ปัจจุบันอยู่ที่ 148.6 เซนติเมตร

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีความสูงเพิ่มขึ้นมี 4 เรื่อง คือ 1.การดื่มนมโคสด ซึ่งมีทั้งโปรตีนและแคลเซียมที่มีความสำคัญในการสร้างกระดูก โดยควรดื่มวันละ 2 กล่องหรือ 2 แก้วทุกวัน 2.การรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง เพื่อรับโปรตีนอย่างเพียงพอ

3.การกระโดดโลดเต้น การเคลื่อนไหวร่างกาย 60 นาทีทุกวัน เพื่อให้เกิดแรงกระแทกและการยืดเหยียด จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกและทำให้สูงเพิ่มขึ้น และ 4.การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ 9-11 ชั่วโมง ร่างกายจะหลั่งโกรว์ธฮอร์โมน (Growth Hormone) ตอนนอนหลับที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต ซึ่งต้องอาศัยทั้ง 4 ปัจจัยร่วมกันและอยู่ภายใต้การรับประทานอาหารมื้อหลักครบ 5 หมู่

ปัญหาคือการดื่มนมในภาพรวมของคนไทยยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่ถือว่าคนไทยดื่มนมมากขึ้น เมื่อเทียบจากสมัยก่อน แต่ก็ยังไม่มากพอ ทั้งนี้ การส่งเสริมการดื่มนมเพื่อให้เด็กสูง ควรเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ เพราะหากแม่ตั้งครรภ์ดื่มนมประจำ 2 แก้วทุกวัน จะช่วยให้เด็กตัวยาวตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงถือว่ามีต้นทุนที่ดีกว่า

“ส่วนช่วงเวลาสำคัญที่จะเพิ่มความสูงให้เด็ก คือ วัยเด็กเล็ก , วัยเด็กโตจะแตกต่างกัน โดยเด็กผู้หญิงจะเริ่มช่วงอายุ 9-10 ปี ความสูงจะเพ่มอยางรวดเร็วไปจนถึงอายุ 12 ปี ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มตอนอายุ 10-12 ปี และสูงอย่างรวดเร็วไปจนถึงอายุ 14 ปี และช่วงสุดท้าย คือ ช่วงวัยรุ่น หากกระตุ้นความสูงจากทั้ง 4 ปัจจัย ก็จะยังสูงขึ้นได้ แต่อาจไม่รวดเร็วเท่ากับตอนเด็ก” พญ.พรรณพิมล กล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องผลสำรวจที่พบว่าเด็กอายุมากกว่า 12 ปีดื่มนมลดลงถึงครึ่งหนึ่ง พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เด็กเล็กจนถึงอายุ 12 ปี ประเทศไทยมีสวัสดิการ คือ การจัดนมโรงเรียนให้ดื่มวันละ 1 กล่องหรือ 1 ถุงทุกวัน จึงอยากเชิญชวนให้ครอบครัวส่งเสริมการดื่มนมเพิ่มอีกวันละ 1 กล่อง ก็จะครบ 2 กล่องหรือ 2 แก้วต่อวันพอดี

ปัจจุบันพบว่า เด็กไทยดื่มนมวันละ 2 กล่องได้ประมาณ 70% ส่วนที่เลย 12 ปีไปแล้วดื่มนมน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจมาจากที่ไม่มีนมโรงเรียนแจกฟรีแล้ว ดังนั้น จะต้องส่งเสริมให้เด็กเห็นความสำคัญของการดื่มนมเพื่อให้เกิดการดื่มนมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัย 2 ปัจจัย คือ ตัวคนดื่มเอง ที่จะต้องสร้างเสริมนิสัยและฝึกให้ดื่มนมจนคุ้นชิน เพราะนมเป็นรสชาติใหม่ อาจจะไม่คุ้นชินรสชาติจึงไม่ดื่ม

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย

อย่างเด็กบางคนที่ชอบดื่มนมเพราะเขาคุ้นชินกับรสชาติและชอบดื่ม และ 2.สิ่งแวดล้อม ที่จะส่งเสริมพฤติกรรมการดื่ม ซึ่งครอบครัวต้องเข้ามาช่วยดูแล สำหรับการขยายนมโรงเรียนให้เด็กโตนั้น ต้องมาประเมินความคุ้มทุนคุ้มค่าและมีประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ แต่ที่ปัจจุบันไม่ได้ให้เด็กโตก็เพื่อให้เกิดการดื่มด้วยตนเอง

ขอย้ำว่า การดื่มนมควรจะเป็นนมโคสดแท้รสจืด เพราะหากมีการเติมรสชาติลงไป เท่ากับน้ำนมโคจะลดลง การดื่ม 1 กล่องก็จะได้ไม่ครบกล่อง ซ้ำยังได้รับน้ำตาลเพิ่มจนส่งผลเสียต่อร่างกายด้วย การฝึกให้ลูกดื่มนมรสจืดจึงสำคัญ และไม่ควรตามใจให้ไปดื่มนมเปรี้ยวแทน ก็จะยิ่งติดรสและแก้ไขได้ยาก

ส่วนการดื่มนมช่วงตั้งครรภ์จะทำให้ลูกเกิดการแพ้นมวัวก็ไม่จริง เพราะการแพ้เป็นกลุ่มเฉพาะบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยในการแพ้อยู่แล้ว และถ่ายทอดไปยังลูกได้ การดื่มน้ำนมถั่วเหลืองแม้จะได้รับโปรตีน แต่มีแคลเซียมน้อย ไม่เหมือนการดื่มนมโค หากจะดื่มนมชนิดอื่นก็ต้องมีการรับประทานอาหารอย่างอื่นที่มีแคลเซียมด้วย

“แต่นมโคจะดีที่สุด เพราะมีทั้งแคลเซียม โปรตีน และสารอาหารอื่นๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างกระดูกได้ทันที ซึ่งดีกว่าการให้กินอาหารเสริมแคลเซียม” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน