*คำเตือน* เมนูอาหารแสนอร่อย ผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ห้ามกิน อาจซ้ำเติมอาการ

วันที่ 17 มิ.ย. นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีผู้ป่วย โรคซึมเศร้า เข้าถึงบริการร้อยละ 66 จึงขอให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่เหลืออย่าอายหมอ ขอให้รีบไปรักษา

ทั้งนี้ ยังได้ให้ฝ่ายเชี่ยวชาญของ รพ.ไปวิเคราะห์ประเภทอาหารที่เป็นผลดีและผลเสียต่อโรคซึมเศร้าและยาที่ใช้รักษา เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะฟื้นฟูอยู่ที่บ้าน และขณะนี้มีการโฆษณาอาหารต่างๆ ผ่านสื่อจำนวนมาก อาหารบางอย่างอาจมีสารที่มีผลขัดขวางกับฤทธิ์ยารักษาโรคซึมเศร้าได้ เพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆซ้ำเติมผู้ป่วยอีก

นางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพยารักษาของแพทย์มี 5 กลุ่มและเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด ด้วย

1.กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพช่วยลดอาการซึมเศร้า คือ โอเมกา 3 ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ อาทิ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว เป็นต้น

2.ไข่ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟนและไทโรซีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินทำให้อารมณ์ดี และยังเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

3.กลุ่มกล้วย จะมีแร่ธาตุโพแทสเซียมและมีสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล

4.กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อาทิ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย

5. กลุ่มเห็ดทุกชนิด จะมีธาตุเซเลเนียมสูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้

ส่วนเครื่องดื่ม 2 ชนิดเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่

1.น้ำอัญชัน ในดอกอัญชันจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวลและช่วยให้นอนหลับ

2.น้ำลำไย ซึ่งมีสาร 2 ชนิดคือกรดแกลลิก ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ห้ามกิน

นางจิรัฐิติกาล กล่าวว่า สำหรับกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามรับประทาน เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยา มี 2 ประเภท และเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด ได้แก่

1.อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว ร่างกายเกิดภาวะเครียด อาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

2.อาหารประเภทไส้กรอก และถั่วปากอ้า มีสารไทรามีนสูงทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้

เครื่องดื่ม 3 ชนิด คือ

1.ชา-กาแฟ เพราะมีคาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากดื่มเกินกว่า 2 แก้วต่อวัน ทำให้วิตกกังวล ใจสั่นและเครียดเพิ่มขึ้น

2.น้ำอัดลมประเภทสีดำ มีคาเฟอีนและน้ำตาลสูง ส่วนแบบไม่มีน้ำตาลก็ต้องระวัง เพราะมีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า

3 .น้ำผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม เสาวรส น้ำองุ่น เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาเท่าที่ควร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน