อึ้ง เปิดผลสำรวจน้ำตาล ชานมไข่มุก สูงกว่าที่ WHO แนะนำ 3 เท่า เกือบ 19 ช้อนชา

ฉลาดซื้อเผยผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูด น้ำตาล และโลหะหนัก ในชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ พบตัวอย่างเม็ดไข่มุกมีสารกันบูด 100% แต่ไม่เกินมาตรฐาน มีเพียง 2 ยี่ห้อ ที่น้ำตาลน้อยกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ บางยี่ห้อสูงถึง 18 ช้อนชา

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยชานมไข่มุกที่ซื้อมีราคาตั้งแต่แก้วละ 23 – 140 บาท ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน, น้ำตาล และไขมัน และทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก

โดยผลการทดสอบพบว่า ปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดต่อแก้ว อยู่ที่ 4 ช้อนชา ยี่ห้อที่มีน้ำตาลมากที่สุดอยู่ที่ 18.5 ช้อนชา ในขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชา ซึ่งพบว่ามีเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม

ส่วนผลการทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในเม็ดไข่มุก ไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สำหรับผลทดสอบโลหะหนักในเม็ดไข่มุกทั้งหมด 25 ยี่ห้อ ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า “จากผลการทดสอบต้องการให้ผู้บริโภคได้รับทราบว่า ชานมไข่มุกบางยี่ห้อ มีน้ำตาลมากเกือบ 19 ช้อนชา หากลองนึกภาพตามว่าน้ำตาลปริมาณ 19 ช้อนชานั้นมากมายขนาดไหน ก็จะทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคได้มากขึ้น และทุกยี่ห้อมีสารกันบูด แต่ไม่มียี่ห้อไหนที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเลย”

นางสาวสารี กล่าวเสริมว่า “ ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการให้ปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้ว (serving size) ลงให้เหมาะสม เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณพลังงานและน้ำตาลต่อแก้วสูงจนเกินไป เพราะเมื่อผู้บริโภคซื้อชานมไข่มุก ก็อาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะความเสียดาย ทำให้พลังงานและน้ำตาลที่ได้รับในหนึ่งมื้อนั้นมากจนเกินความจำเป็น

ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการฯ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า “ด้านปริมาณน้ำตาล องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) โดยผลทดสอบชานมไข่มุก ยี่ห้อที่มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และมากสุด คือ 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 3 เท่า และแม้เครื่องดื่มจะมีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม แต่ก็พบว่า ในหนึ่งแก้วมีปริมาณน้ำตาลต่อวันไปแล้ว 2 ใน 3 ซึ่งคาดได้ว่า ปริมาณการบริโภคจะเกินข้อแนะนำ”

“ดังนั้น เครื่องดื่มเหล่านี้ จึงเป็นเครื่องดื่มที่ควรงดการดื่ม เพราะเป็นแหล่งอุดมน้ำตาล ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่สูงหากได้รับในคราวเดียว จะรบกวนระบบการ metabolite ซึ่งจะทำให้เกิดเป็น กลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (NCDs ) ได้” ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา กล่าว

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคสนใจอ่านผลทดสอบสินค้าและบริการอื่น ๆ สามารถสมัครสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อออนไลน์ได้ เพียงปีละ 300 บาท เท่านั้น โดยสามารถสมัครด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.chaladsue.com หรือสอบถามฟรีผ่านไลน์แอทได้ที่ @chaladsue.online

ภาพปริมาณน้ำตาลแต่ละยี่ห้อในแกลอรี่ จาก ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน