สสส.-สคล. ชวนคนไทยงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2562 ภายใต้แคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” ชี้รณรงค์ต่อเนื่อง 16 ปี แนวโน้มคนไทยดื่มลดลง ซื้อเหล้าดื่มลดลง เฉพาะเข้าพรรษา 3 เดือนประหยัดค่าซื้อเหล้าได้กว่าหมื่นล้านบาท ปีนี้ชูกลยุทธ์ คนหัวใจเพชร สร้างคนหัวใจหิน สร้างแกนนำเลิกเหล้าทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 ที่หอประชุมชั้น 3 อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ วัดยานนาวา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และวัดยานนาวา ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2562 “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า”โดยพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ได้ให้คติธรรมเรื่องบาป 5 อย่าง เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้งดเหล้าครบพรรษาความว่า บาป 5 อย่าง

ได้แก่ 1.การเบียดเบียนฆ่าคนและสัตว์ 2.การลักทรัพย์ 3.การละเมิดในกาม 4.การพูดจาโกหกและหยาบคาย และ5.การดื่มสุราเมรัย ซึ่งบาป 5 อย่างนี้ถ้าใครหลงผิดจะให้ทำตนเองและคนในครอบครัวเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะการดื่มสุรา จะทำให้สูญเสียทุกอย่าง ดังนั้นในเทศกาลเข้าพรรษาจึงอยากเชิญชวนให้ญาติโยมงดดื่มเหล้าให้ครบ 3 เดือน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผลบุญนี้จะช่วยให้มีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงปี 2544 – 2560 พบคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจากร้อยละ 32.7 ในปี 2544 เหลือ ร้อยละ 28.4 ในปี 2560 คือมีคนไทย 15.9 ล้านคนที่ยังดื่มอยู่ และจากข้อมูลการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557

มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือร้อยละ 3.4 ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ ร้อยละ 9.1 ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงเหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 จาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. และสคล. ริเริ่มโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาตั้งแต่ปี 2546 และทำต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 16 การดำเนินงานที่ผ่านถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีประชาชนเข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจากการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2561 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่าร้อยละ 30.4 สามารถงดได้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษาและจะงดต่อไปจนออกพรรษา หรือประมาณ 6.9 ล้านคน

จากผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการดื่มโดยเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ 325 บาท หากผู้ดื่มสามารถงดเหล้าได้ตลอด 3 เดือน จะประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนเฉลี่ยรายละ 1,820 บาท โดยประมาณการจำนวนเงินรวมที่ประเทศจะประหยัดได้มีมูลค่าถึง 10,724 ล้านบาท

นอกจากนี้จากการประเมินผลจากการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาต่อการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ พบว่า ในเดือนที่มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลงร้อยละ 9 และการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง ร้อยละ 25 และยังส่งผลให้การดื่มลดลง ร้อยละ 10 อีกด้วย

“จากการสื่อสารรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. ทำให้ผู้ดื่มสุราในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ได้มีความตระหนักถึงพิษภัยของการดื่มสุราทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงทำให้มีประชาชนสนใจเข้าร่วมแคมเปญ “ลด ละ เลิก เหล้า ในช่วงเข้าพรรษา” กันมากขึ้นทุกปี ซึ่งเทศกาลเข้าพรรษาปี 2562 นี้ สสส. ได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณารณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา

ภายใต้แคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” เพื่อขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้เวลาในช่วงเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้นในการลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพื่อฟื้นฟูตับให้กลับมาดี ดังนั้นจึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกท่านใช้ช่วงเวลาเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อมาร่วมกันฟื้นฟูตับ” ดร.สุปรีดากล่าว

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ช่วงเข้าพรรษากิจกรรม “งดเหล้า” กลายเป็นกิจกรรมหลักที่มีการรณรงค์จากหลากหลายหน่วยงานเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิกการดื่มเหล้า พักตับ พักใจ ทำสมาธิ เข้าวัดและฟังธรรม โดย สสส. สคล. มีแนวทางสำคัญในการรณรงค์คือ การสร้างชุมชนคนสู้เหล้าให้ชาวบ้านชักชวนคนในชุมชนงดเหล้าอย่างทั่วถึง ด้วยการรณรงค์สร้างคุณค่าให้แก่ผู้เลิกดื่ม สร้างค่านิยมใหม่ให้เด็ก สร้างกิจกรรมสานสัมพันธ์ และที่สำคัญคือการสร้างกำลังใจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในปี 2561 ทำให้เกิดเครือข่าย “นายอำเภอนักรณรงค์ชวนงดเหล้า” 157 คน ครอบคลุม 69 จังหวัด ส่งผลให้การทำงานในชุมชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ได้แก่ 1.มีการจัดงานศพและงานประเพณีปลอดเหล้า 430 แห่ง 2.มีชุมชนร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 1,546 แห่ง 3.มีคนลงนามบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษา 24,376 คน และ4.มีการมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคนงดเหล้าครบพรรษาคน 19,501 คนจนกลายเป็นคนหัวใจหิน และที่เลิกดื่มต่อเนื่อง 3 ปีขึ้นไป 3,222 คน กลายเป็นคนหัวใจเพชร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน