อเล็กซ์ เรนเดลล์ : เขายอมรับว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ แต่มีคนจำนวนมากที่ยอมรับฟังเขา เขามีความฝันว่าอยากปลูกหัวใจรักธรรมชาติให้เด็กๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่ต้องมีใครบอกให้ทำ

เห็นหน้าค่าตาบนจอแก้วมาตั้งแต่เด็กสำหรับ อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงลูกครึ่งไทย – อังกฤษ ปัจจุบันอายุ 29 ปี ซึ่งมีผลงานออกมาให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ ฝีมือก็พัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เข้าสู่เส้นทางบันเทิงตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ใช้ชีวิตทำงานในกองถ่ายละคร เป็นที่รู้จักในฐานะคนมีชื่อเสียงตลอดมา แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็เติบโตและมีชีวิตควบคู่ไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้นักแสดงหนุ่มผันตัวเองมาทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว และเป็นผู้ก่อตั้ง ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย (Environmental Education Centre Thailand; EEC Thailand) เห็นได้จากภาพเขาอยู่กับเด็กๆ ตามภูเขา ทะเล ทั้งเดินป่า ดำน้ำ และบรรยายให้ความรู้ เราจะเห็นรอยยิ้มที่ดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งแสดงออกถึงความสุขที่เขาได้รับจากสิ่งที่เขาทำอย่างแท้จริง

ครั้งนี้ ข่าวสด นั่งพูดคุยกับอเล็กซ์แบบยาวๆ และถามถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้เขาก้าวขึ้นเป็น ไอคอน วงการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการรันโครงการ และการออกค่ายของ EEC ที่ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่โชคดี

เราเริ่มทำ EEC จากไม่มีอะไรเลย แล้วก็ค่อยๆ ประคองมันขึ้นมา คอยรักษามันเหมือนแบบลูกชายเล็กๆ ของเราที่จะประคองให้มันเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เราจะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตของการบริหาร พาร์ตของการดูแลคน คือองค์กรหนึ่งมันมีหลายส่วนมาก มันมีรายละเอียดที่มันยิบย่อยมาก เราก็พยายามจะรู้ให้ได้มากที่สุดก่อนที่เหมือนเราจะสั่งงานต่อ เราออกจากคอมฟอร์ตโซนของเรา เราพักน้อยมาก แล้วเราเห็นแนวทางที่มันชัดเจน เราเห็นตัวตนของเราที่ชัดเจน เราเห็นความสุขของการทำงาน

“เราเห็นความโชคดีของเราที่ได้แสดงละคร แล้วได้ทำ EEC ไปด้วย เราก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าเราเองก็คิดว่า มันมีไม่กี่คนหรอกที่จะได้ทำงานทั้งสองงาน ที่เป็นงานที่ตัวเองรักทั้งคู่เลย เราก็พยายามที่จะทำมันให้เต็มที่เท่าที่แรงเรามีจริงๆ” เขาพูดประโยคนี้ด้วยรอยยิ้มที่มีความสุข

จุดเปลี่ยน และ จุดเริ่มต้น

ตอนเริ่มต้น EEC แรกๆ เลยมีประมาณ 3-4 คน แต่ว่าเราก็ใช้ต้นทุนเท่าที่เรามี อย่างตึกออฟฟิศก็เป็นตึกที่คุณแม่ซื้อไว้เราก็มาเป็นที่ตั้งบริษัท อย่างคุณครูอลงกต ก็เป็นคุณครูของเราตั้งแต่เด็ก เขาก็มาสอนเด็กๆ ให้ เราก็ดูแลเรื่องของการจัดการ แล้วครูกตก็ดูแลเรื่องการเรียนการสอน

แล้วก็มี พี่เต้ย จรินทร์พร เขาก็ดูแลเรื่องของมีเดีย เรื่องของมาร์เก็ตติ้ง แล้วมันก็ใหญ่ขึ้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเป็นคนไม่ชอบทำอะไรที่มันเสี่ยง เราชอบให้ฐานมันแข็งแรง แล้วค่อยๆ เติบโต ไม่ใช่อยู่ๆ จะโดดไป 10 เลย มันก็ไม่ยั่งยืน พยายามสร้างความยั่งยืนให้กับตัวองค์กรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ครูกตรู้จักผมตั้งแต่ผมประมาณ 10 ขวบ ตอนนั้นครูกตเป็นคนทำวิจัยเรื่องของช้างอยู่ แล้วผมก็ไปเขาใหญ่ ไปรู้จักกับแก ตอนนั้นเราเป็นนักแสดงเด็กแล้ว เหมือนจะได้ทำรายการด้วยกัน แต่มันไม่เกิด แต่สิ่งที่เกิดคือรู้จักกับครู ก็เลยกลับมาเดินป่า กลับมาดูแลช้างป่าตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ

พอเราโตขึ้นมาเราเรียนจบเราก็อยากรู้ ครูกตทำอะไร เลยลองโทรไปหาครูกต แล้วก็เห็นว่าเขากำลังทำเรื่องของช้าง เรื่องของเด็กตาบอด เราก็รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ดี เป็นกิจกรรมที่ไม่มีใครเลย มีแต่ครู มีแต่ช้าง มีแต่เด็กๆ ตาบอด เราก็เลยรู้สึกว่า เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานแบบนี้ มันเจ๋งกว่าเพื่อน ไม่ต้องมีกล้อง ไม่ต้องมีใครมาตบมือ ไม่ต้องอะไรมากมายเลย แค่คนมาด้วยใจอย่างเดียวเลย เราก็เลยไปมีส่วนร่วมกับขบวนการของเขา แล้วก็จากหนึ่ง มันก็กลายเป็นสอง เป็นสาม เป็นสี่ จนกระทั่งมาเปิดองค์กร EEC ด้วยกัน

แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

การแก้ปัญหาที่เด็กๆ มันเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ผมคิดว่าหลายๆ ปัญหาที่เราอาจจะเห็นมันเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ง่าย นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาถึงต้องมีองค์กร ต้องมีกระทรวง ต้องมีนู่นนี่นั้นเต็มไปหมดเลย เพราะว่ากว่าเราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเป็นปัญหาระดับประเทศ มันไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคล แต่มันเป็นปัญหาของโลก

เอาคำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ ใส่เข้าไปในตัวเขา

ก่อนที่คุณจะเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ ที่มันเป็นการดำเนินชีวิตของสังคม มันไม่ได้แก้ง่ายอย่างที่หลายๆ คนอาจจะเข้าใจ มันต้องประชุมกันแล้ว ต้องให้มั่นใจว่า สมมติว่าเราจะออกกฎหมายมาใหม่ มันจะต้องดูทุกฝ่ายทุกส่วนว่ามันมีข้อดีข้อเสียให้กับฝ่ายไหน รายละเอียดมันเยอะ แต่คราวนี้เรามานั่งคิดว่า เราไม่อยากที่จะไปไฟต์อะไรมากขนาดนั้น

เราอยากที่จะให้เจนเนอเรชั่นใหม่ ได้เป็นนักอนุรักษ์โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกให้เขาอนุรักษ์ แล้วก็ไม่ต้องให้เขาเห็นอะไรบนโซเชียลมีเดีย ไม่ต้องรอให้เขาถูกกระทบก่อนที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหา แต่ว่าเขาได้ชอบมันก่อนที่เขาจะรู้ด้วยซ้ำ

นึกออกไหมว่าเด็ก 3 ขวบ 4 ขวบ 6 ขวบ 7 ขวบ เรามาสอนเรื่องของสิ่งแวดล้อม แล้วเขาก็ชอบเต่า ชอบปลา ชอบป่า มันจะติดตัวของเขา แล้วก็จะทำให้เขาสามารถที่จะตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่าง แล้วผมไม่ได้มองแค่คน บุคคล แต่ผมมองทั้งเจเนอเรชั่นนี้ควรที่จะเติบโตมา แล้วก็มีคำว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ในตัวเขามากกว่าเจนเนอเรชั่นของเรา หรือเจนเนอเรชั่นก่อนๆ เรา ที่มันเหมือนจะเพิ่งเป็นกระแสหลักได้แบบ 3 ปี ที่ผ่านมานี้เอง

แต่ว่าเป้าหมายของผมมันไม่ใช่อย่างนั้น เป้าหมายของผมคือ อยากจะปลูกฝังแล้วอยากจะให้มันอยู่ในหัวใจของเขาตั้งแต่เขาเด็ก

คนไทยก็ตื่นตัว ตอบสนองต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม

คือเราเองก็เพิ่งมาทำในด้านนี้จริงๆ จังๆ ก็ประมาณ 5 ปี 6 ปี แต่ถามว่าการตื่นตัวของคนไทย ผมแน่ใจว่ามันเพิ่งมาตื่นตัวหรือเปล่า หรือว่าเราเพิ่งมาทำตรงนี้เราถึงเห็นว่ามันตื่นตัว นึกออกไหมครับ แต่ว่าโดยรวมแล้วเราเห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญ อาจจะด้วยประเทศของเรามีทั้งป่า และทะเลค่อนข้างที่จะสมบูรณ์

ผมก็เลยเห็นการตื่นตัวของคนไทยมันดีนะ มันไปได้ด้วยดี แล้วทุกครั้งที่มันมีประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม คนก็ค่อนข้างให้ความสำคัญ คือมันมีกระแส ตอนที่ผมเริ่มทำผมพยายามจะบอกทุกคนว่า ผมจะทำให้สิ่งแวดล้อมมันเป็นกระแสหลักให้ได้ เพราะว่าที่ผ่านมามันเป็นกระแสรองมาตลอด แต่ว่ามันเป็นกระแสหลักโดยที่เราไม่รู้ตัว

อย่างเรื่องของมาเรียมที่เป็นพะยูน ใครๆ ก็รู้จักมาเรียม ใครที่เคยเล่นอินเตอร์เน็ต หรือว่าใครที่มีโซเชียลหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็ต้องรู้จักกับมาเรียม แล้วทุกคนก็ต้องเฝ้าดูและเอาใจช่วยมาเรียม

ชอบ – สนุก – รัก

เรารู้สึกว่า สิ่งแวดล้อมมันทำให้ คนมองเราอีกแบบหนึ่งเยอะขึ้น หมายความว่าตั้งแต่เรามาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เราได้รับฟีดแบ็กที่เราไม่คิดว่า คือเราทำงานตรงนี้เพราะว่าเราชอบ เราทำงานเพราะว่าเรารักมัน แล้วเราทำแล้วเราสนุก เราทำแล้วเรารู้สึกว่าเราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในทางที่ดี แต่ในขณะเดียวกันเราจะได้รับฟีดแบ็กที่เราไม่ได้คิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเรา

บางทีอยู่ๆ เป็นคนในวงการด้วยนะ ที่เราไม่รู้จักกัน มาเคยเจอกันมาก่อน ส่งข้อความมาหาเราแบบชอบ แล้วก็เหมือนให้กำลังใจ แบบทำต่อไปอะไรอย่างนี้ หรือว่าไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็แล้วแต่ มีแต่คนถามแบบว่า ช้างเป็นยังไงบ้าง หรือว่าอยากจะไปช่วย มีงานอะไรให้ผมเข้าไปช่วยไหม แบบนี้

รสชาติการทำงาน

ผมรู้สึกว่าเราโชคดีที่มีคนมองเราในทางด้านทำงานในสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นมันจะมีเหตุการณ์ที่เราประทับใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะไปไหน แต่ว่าส่วนมากการทำงานที่ประทับใจคือการทำงานที่ EEC คือต้องเข้าใจว่า EEC เป็นเหมือนแบบ Emotional Rollercoaster คือความรู้สึกหรือว่าอารมณ์ของเรามันจะขึ้น มันจะลงอยู่ตลอดเวลา จนการขึ้นการลงอยู่ทุกวันนี้มันทำให้เราเหนื่อย บางทีมันจะมีอะไรเข้ามาที่แบบ นี่เป็นวันที่ดีที่สุดในชีวิต ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงมันกลายเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในชีวิต นึกออกไหมครับ ความรู้สึกมันจะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

กว่าผลจะสุก บางทีต้องรอเวลาหลายปี

แต่โดยมากแล้ว เหตุการณ์ที่เราประทับใจ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในค่ายของเรา อย่างบางคนเราเห็นเขาเป็นเบบี้ คือเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันจะเป็นการปลูกฝังของเขา แต่บางทีมันต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตรงนั้น เพราะฉะนั้นเราเชื่อและเราคิดว่า กระบวนการศึกษาที่ EEC ทำ มันจะสร้างผลดี แต่บางทีมันต้องใช้เด็กแบบ 3 ปี 4 ปี กว่าที่เราจะได้เห็นผลจริงๆ ในบางคน บางคนอาจจะเสร็จจากค่ายแล้วก็เห็นผลทันที บางคนมันใช้เวลา แต่พวกที่ใช้เวลามันเป็นการทำให้เรารู้สึกดีกับงานของเรา

อีก 20 ปี ใน 30 ปี เขาจะมีอิมแพ็คมากแค่ไหน

อย่างเด็กๆ บางคนที่คุณพ่อเขาจะส่งลูกมาตลอด เขามาค่ายของเราตั้งแต่เขาเป็นเบบี้ ตั้งแต่เขาคลาน พี่สาวของเขาก็มา เหมือนแม่ก็ต้องอุ้มเดินป่า ตอนนี้เขาอายุ 3-4 ขวบแล้ว เขาจะสร้างอาร์ตเวิร์คอะไรที่เกี่ยวกับเต่าทะเล เขาจะทำอยู่ตลอดเวลา เขาจะเอาขึ้นไปพรีเซนต์ เอาไปเล่าให้เพื่อนฟังว่า เพราะเขาอยากที่จะบอกเล่าเรื่องของสิ่งมีชีวิตทั้งๆ ที่เขาแค่ 4 ขวบ ซึ่งผมรู้เลยว่า น้องคนนี้จะมีคำว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ในใจของเขาไปตลอด ในเมื่อเขาแค่ 3-4 ขวบ เขายังพูดไม่ค่อยได้เลย แต่เขาพยายามเรื่องของเต่าทะเล

แล้วลองคิดเขาในอีก 20 ปี ใน 30 ปี เขาจะมีอิมแพ็คมากแค่ไหน ในวันที่เขาเป็นผู้บริหาร ในวันที่เขาเป็นคนทำงาน หรือว่าดำรงชีวิตอยู่คนเดียว การตัดสินใจในแต่ละวันมันจะต้องเป็นการตัดสินใจที่มันมีแต่สิ่งดีๆ ให้กับโลกของเราแน่นอน

ในเมื่อถ้าเกิดเขา 3 ขวบ 4 ขวบ เขาขึ้นไปพรีเซนต์เรื่องเต่าให้กับคนทั้งโรงเรียนเขาแล้ว พอเราเห็นเราก็ปลื้มใจ แบบน้องคนนี้เขาไปค่ายนกกระเรียนมา เขายังพูดอะไรไม่เป็นเลยนะ เขายังเล่นปั้นนู่นปั้นนี่อยู่คนเดียว แต่พอเสร็จแล้วสิ่งที่เขาปั้นมันกลายเป็นรูปนกกระเรียน คือเขาได้ฟังทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วเขาพยายามที่จะถ่ายทอดออกมาในแบบของเขา พอเราเห็นเราก็แบบดีเนาะ น่ารักเนอะ สิ่งที่เราทำมันสร้างอิมแพ็คทางความคิด กับทางจิตใจให้กับเด็กได้จริงๆ เราเห็นมากับตาเราแล้ว

กิจกรรมหลากหลาย

เรามีกว่า 20 กว่าหลักสูตร 1 หลักสูตรก็ 3 วัน 2 คืนบ้าง 4 วัน 3 คืนบ้าง เรามีทั้งค่ายของทะเล ค่ายของป่า แล้วก็มีค่ายของอาสาสมัคร คือเอาอาสาสมัครมาทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือว่าเราร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ทำโครงการ CSR โครงการ Communication ทำเป็น Academic Report ฯลฯ คือเราเป็นเซ็นเตอร์ที่สามารถที่จะทำงานได้ทุกรูปแบบ บางคนเขาทำเป็น Private Camp ก็มี เขาก็จะมาให้สอนเกี่ยวกับเด็กกลุ่มนี้หน่อย ทำได้ไหมอะไรแบบนี้ เราก็จะออกแบบกิจกรรมให้กับความต้องการของคนที่เข้ามาเรียนกับเรา คือถ้าเป็นค่าย EEC เลย 85 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กโรงเรียนนานาชาติ มาจากเด็กไทยที่เรียนโรงเรียนนานาชาติ

ส่วนที่เหลือก็จะมีชาวต่างชาติมาออกค่ายบ้าง บางทีมีผู้ใหญ่มาออกค่าย มีนักเรียนจากโรงเรียนไทยก็มาอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าเป็นเด็กที่ส่วนมากใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ในกรุงเทพฯ แต่เด็กที่ไม่มีโอกาสเหมือนเด็กพวกนี้เขาจะได้เรียนแบบนี้ได้ยังไง เด็กที่อยู่ตามพื้นที่ ในเมื่อสุดท้ายแล้วเราก็ต้องพึ่งคนในพื้นที่ในการอนุรักษ์อยู่แล้วเราก็อยากจะเอากระบวนการแบบนี้มาสอนให้กับเด็กที่ไม่มีโอกาส

นี่ก็คือการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ มีผู้ใหญ่ใจดีเขาแบบเราสามารถที่จะเป็นผู้สนับสนุนให้ เราสามารถที่จะทำกิจกรรมนี้ให้ ก็ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปกันครับ ก็พยายามสอนเด็กให้ได้หลายรูปแบบให้ได้มากที่สุด

ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ

ผมกล้าพูดได้เลยว่า สิ่งหนึ่งที่มันทำให้เราไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะว่าเรารู้ว่า เราเป็นนักแสดง เป็นที่รู้จักของประชาชน เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดอะไร หรือว่าเวลาเราจะอธิบายอะไรให้ใครก็มีคนพร้อมที่จะฟังเรา ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นก็ได้ ผมทำงานตรงนี้ผมรู้สึกว่า สิ่งหนึ่งที่เราจะทำตัวเองให้เป็นประโยชน์ คือเอาความรู้ดีๆ ของผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกสังคม หรือเป็น Spokesperson ผมไม่มีความรู้เท่าคุณครูหรอก

ผมไม่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเท่ากับคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทุกวันแน่นอน ผมไม่สามารถที่จะอธิบายเรื่องนก ได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญนก แต่คนพร้อมที่จะฟังเรา เราก็เลยต้องพยายามหาวิธีที่จะปรับเปลี่ยนความรู้ตรงนี้ให้มันดัดแปลง แล้วให้เป็นเวอร์ชั่นที่คนฟังสามารถที่จะรับรู้ได้ สามารถที่จะเรียนไปกับเราได้

คือบางครั้งถ้าเราเอาเวลามานั่งหวงความเป็นนักแสดง ความเป็นดารา มาหวงแบบห้ามใช้ตัวเรา ผมว่ามันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราลดลงมาสักนิดหนึ่ง แล้วเราอยากจะใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ คือมองตัวเองจากภาพที่มันกว้างขึ้น ถ้าเรามองว่าตรงนี้มันสามารถที่จะสร้างประโยชน์อะไรได้บางอย่าง ทำไมเราถึงจะไม่ทำมัน เราไม่ได้ไปวางตัวว่าเราคือผู้เชี่ยวชาญหรือว่าเราเก่งที่สุดทางด้านสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้ต้องการที่จะมีศัตรู หรือบอกว่าเราเก่งกว่าใคร หรือว่าวิธีของใครถูก วิธีของใครผิด ผมไม่ได้ต้องการ

ตรงนั้นเลย ผมต้องการแค่อยากที่จะให้ใช้ในสิ่งที่เรามี ต้นทุนที่เรามีให้มันเป็นประโยชน์แค่นั้นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน