สตาฟ มาเรียม เพื่อการศึกษา เผยภาพชันสูตรพลาสติกทำตาย หวังเกิดสำนึกลดขยะ!

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 ส.ค. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ​ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าว สาเหตุการตายของลูกพะยูนมาเรียม​

นายววราวุธ กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงเป็นหน่วยงานที่ดูแลรักษาโรคพะยูนมาเรียม ที่พลัดหลงจากแม่และว่ายน้ำตามเรือเข้ามาในจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 26 เมษายน เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันให้มาเรียมกลับสู่ทะเลเพราะยังไม่หย่านม โดยใช้ความพยายามถึง 3 ครั้ง แต่มาเรียมยังว่ายวนเวียนในจุดเดิม เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจหาที่อยู่ที่เหมาะสม เป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเล มีกลุ่มพะยูนอาศัยอยู่มาก และชุมชนในพื้นที่ต้องมีความพร้อมที่จะช่วยดูแล จึงนำตัวมาดูแลเพื่ออนุบาลสภาพแบบธรรมชาติบริเวณจุดชมพะยูน เกาะลิบง จังหวัดตรัง ที่มีความพร้อมในทุกด้าน

นายววราวุธ กล่าวต่อว่า ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่ามาเรียมจะกินหญ้าทะเลได้แต่ด้วยวัย นมยังเป็นอาหารหลักเจ้าหน้าที่จึงต้องป้อนนมจนกว่ามาเรียนจะแข็งแรงพอที่จะกินหญ้าทะเลอย่างเดียว จึงถือว่ามาเรียนเป็นพะยูนตัวแรกของไทยและของโลกที่มนุษย์ให้นมในสภาวะธรรมชาติ

โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ทีมสัตวแพทย์ ได้ให้มาเรียมออกไปท่องทะเลกว้างก็เจอพะยูนโตเต็มวัยไล่คุกคามจึงหนีกลับอ่าวและมีภาวะเครียด แม้จะกินสารอาหารวิตามินและน้ำหญ้าปั่นแทน แต่มาเรียมยังไม่ค่อยดื่มนม จึงมีอาการอ่อนเพลียให้เห็นไม่ร่าเริงไม่ค่อยว่ายน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด

ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม เจ้าหน้าที่มีการประชุมตัดสินใจเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เพราะมีอาการน่าเป็นห่วง วันที่ 15 สิงหาคม ทีมสัตวแพทย์ได้ย้ายมาเรียนไปดูแลในบ่อชั่วคราว จนวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 00.09 น. มาเรียม เกิดอาการช็อคและตายในที่สุด โดยหลังจากนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำร่างมาเรียม มาสตาฟเพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษาและอนุรักษ์ต่อไป และ หลังจากนี้จะให้มาเรียมเป็นสัญลักษณ์ในโครงการต่างๆในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้วย

“การตายของมาเรียม วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นจุดกระแสให้ชาวโลกหันมาใส่ใจ กำจัดขยะทางทะเล ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง ลดการใช้พลาสติก เพื่อในวันข้างหน้าจะได้ไม่เกิดการสูญเสียขึ้นอีก พร้อมผลักดันให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน รับเรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติด้วย”

นายววราวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนพะยูนยามีลตัวผู้ ที่ขึ้นเกยตื้นบริเวณจังหวัดกระบี่ ขณะนี้อยู่ในความดูแลของศูนย์ที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากนี้ก็จะนำประสบการณ์จากเหตุการณ์ของมาเรียม และระดมทีมแพทย์ เข้าไปดูแลยามีลอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีชีวิตและเติบโตได้ต่อไป

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวว่า จากการตรวจพิสูจน์พบเศษพลาสติกเล็กๆ ชิ้นขวางลำไส้มีอาการอุดตันที่บริเวณปลายลำไส้เล็ก-ต้นลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดมีหนองทำให้ขาดน้ำอย่างหนัก ประกอบกับมีรอยช้ำกล้ามเนื้อ บริเวณช่องทางและพนังช่องท้องด้านในที่คาดว่าเกิดจากการกระแทกจากพะยูนตัวผู้ ตับมีสีเหลืองเนื่องจากไม่ได้รับอาหารเป็นเวลานาน หัวใจพบเลือดเล็กน้อยและบีบตัวแข็งจากการเกิดภาวะช็อค

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวต่อว่า สำหรับพลาสติกที่พบในลำไส้ของมาเรียม เป็นขยะประเภทถุงพลาสติกจำนวน 8 ชิ้นที่เสื่อมสภาพ มีความยาว ประมาณ 8-10 เซนติเมตร คาดว่า พลาสติกเหล่านี้จะตกค้างอยู่ บริเวณหญ้าทะเลและมาเรียกินเข้าไป เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่พะยูนจะแยกระหว่างหญ้าและพลาสติก ยอมรับว่าถุงพลาสติกเป็นจุดเริ่มเติมในการทำให้ร่างกายของมาเรียมทรุดลง และเสียชีวิตในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน