กรมชลฯ ใช้ 3 แก้มลิง กรุงเก่า พื้นที่ 3 แสนไร่รับน้ำหลาก เจ้าพระยายังล้น-เอ่อท่วมสิงห์บุรี ระดมตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบาย ปทุมฯก็เดือดร้อน น้ำท่วมขังเริ่มเน่าส่งกลิ่นคลุ้ง กทม. สั่งจับตา 7 เขตรอบนอกเสี่ยงท่วม สร้างแนวป้องกรุง-กันน้ำเจ้าพระยาล้นเกือบเสร็จแล้ว ฝนกระหน่ำ 11 เที่ยวบินลงดอนเมืองไม่ได้

เตือนฝนถล่มยาวถึง 6 ต.ค.

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฏา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

นายกฤษฎากล่าวว่า ขณะนี้มีหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและประชาชนตื่นตระหนก จึงขอให้ผวจ.ชี้แจงกับชาวบ้านว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติ เพราะขณะนี้มวลน้ำจากภาคเหนือและฝนที่ตกตามฤดูกาลไหลลงเจ้าพระยา รัฐบาลจึงจำเป็นต้องระบายน้ำเข้าไปในบางพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดถึงไม่ระบายน้ำเข้านั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่รอเก็บเกี่ยวช่วงกลางเดือนต.ค. ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวเสร็จรัฐบาลจะระบายน้ำเข้าพื้นที่ โดยขอให้ประชาชนเข้าใจและไม่ทำลายคันกั้นน้ำ พร้อมยอมรับมีพื้นที่น่าห่วง 3 จังหวัด คือ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง แต่ยืนยันว่าสถานการณ์จะไม่หนักเหมือนปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีกร้อยละ 30-40 ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ เป็นน้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก ไม่ใช่ผลกระทบจากน้ำที่กรมชล ประทานระบาย และน้ำทะเลหนุน

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศว่า ช่วงวันที่ 30 ก.ย.ถึง 2 ต.ค. ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนโดยทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนวันที่ 3-6 ต.ค. ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนลดลง ส่วนในบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงฝนตกต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกหนักมากขึ้นช่วงวันที่ 4-6 ต.ค.

ชาวชัยภูมิเร่งย้ายศพหนีน้ำ
ส่วนสถานการณ์ฝนถล่มและน้ำท่วมในต่างจังหวัด ที่ จ.ชัยภูมิ นายสุวิทย์ ถนอมสัตย์ นายอำเภอเนินสง่า พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแนวพนังดินกั้นลำน้ำชีที่น้ำล้นเอ่อทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านและไร่นากว่า 1,400 ไร่ และจ่อล้นทะลักเข้าท่วมอีก 3 ตำบล จึงสั่งให้รถแบ๊กโฮขุดทำคันกั้นน้ำชีอีกฝั่ง เพื่อให้น้ำที่ท่วมขังไร่นาระบายออก จากนั้นแจ้งเตือน ทุกชุมชนริมน้ำให้เฝ้าระวัง
นอกจากน้ำที่ท่วมจะส่งผลต่อพื้นที่เกษตรแล้ว ชาวบ้านที่กำลังเตรียมงานศพนายนิล เจือขุนทด อายุ 93 ปี ต่างเร่งขนของกันวุ่นและทำแนวป้องกันน้ำเข้าท่วมบ้าน พร้อมช่วยกันย้ายศพไปตั้งไว้ที่วัดประจำหมู่บ้านเป็นการด่วน

ที่ จ.นครราชสีมา สถานการณ์น้ำท่วมยังขยายวงกว้าง หลังน้ำเอ่อล้นห้วยลำเชียงไกรเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 500 หลัง รวมถึงถนนหลายจุดระดับน้ำสูง 20-80 ซ.ม. ชาวบ้านต้องย้ายรถไปจอดไว้ที่สูง ส่วนวัดลำเชิงไกรที่ตั้งขวางทางน้ำทำให้น้ำทะลักเข้าวัดท่วมกุฏิและศาลาการเปรียญ ระดับน้ำสูง 70 ซ.ม. พระและเณรไม่มีอาหารฉัน ก่อนเจ้าคณะอำเภอเมืองนครราชสีมานำข้าวสาร น้ำดื่มและอาหารแห้งมามอบให้ โดย ปภ.นครราชสีมาได้ติดป้ายประกาศเตือนภัยเป็นธงสีแดง ซึ่งเป็นการเตือนภัยขั้นสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเก็บของอพยพออกจากบ้าน เหตุมีปริมาณน้ำไหลลงลำน้ำมูนที่ อ.พิมาย อีกจำนวนมาก ส่วนในต.ประสุข อ.ชุมพวง น้ำได้กัดเซาะถนนขาดเสียหายด้วย

อุบลฯนาล่ม-เมืองบุรีรัมย์จม
ที่ จ.อุบลราชธานี ชาวนาบ้านสวนสวรรค์ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ พายเรือเกี่ยวข้าวบนพื้นที่ 4 ไร่เศษ ที่ถูกน้ำท่วมสูง 50 ซ.ม. และข้าวกำลังเริ่มเน่า เพราะน้ำจากแม่น้ำมูนเอ่อล้นเข้าท่วมนานเกือบ 1 เดือน โดยชาวบ้านบางส่วนเตรียมเก็บข้าวของอพยพหนีน้ำไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราว

ที่ จ.ร้อยเอ็ด ฝนตกหนักหลายพื้นที่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะตัวเมืองร้อยเอ็ด ทำให้น้ำท่วมถนนแทบทุกสาย อาทิ ถนนรอบบึงพลาญชัย ถนนสุริยะเดชบำรุง ด้านหน้า สภ.เมืองร้อยเอ็ด สวนสมเด็จฯ

ที่ จ.บุรีรัมย์ เกิดพายุฝนกระหน่ำนาน 2 ช.ม. ส่งผลให้น้ำเอ่อท่วมถนนหลายสายในเขตเทศบาลเมือง บางจุดท่วมสูงกว่า 50 ซ.ม.แล้วยังทะลักเข้าบ้านเรือนริมถนน ทำให้ข้าราชการและชาวบ้านขับรถลุยน้ำอย่างลำบาก

ที่ จ.พิจิตร สถานการณ์น้ำท่วมโดยเฉพาะ อ.บางมูลนาก ยังคงวิกฤต มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 1,267 ครัวเรือน ไร่นาถูกน้ำท่วม 39,909 ไร่ โดยจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 10 อำเภอ

ที่ จ.พิษณุโลก นายวีระชัย สายต่างใจ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า น้ำท่วมส่งผลกระทบกับนาข้าวและพื้นที่เกษตร มีเกษตรกรได้รับผลกระทบแล้ว 5,700 ราย พื้นที่เสียหาย 60,000 ไร่ ด้านนายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผอ.ชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำจากแม่น้ำยมที่เอ่อล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ 71,000 ไร่

ปทุมฯอ่วม-เจอน้ำเน่าซ้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำในจุดเสี่ยงพื้นที่ภาคกลาง ที่ จ.สิงห์บุรี ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน อ.อินทร์บุรี ได้ล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและนาข้าวเป็นวงกว้าง บ้านเรือนเดือดร้อน 125 หลัง เจ้าหน้าที่ต้องระดมทำคันดินป้องกันและตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบาย

ที่ จ.อ่างทอง ชาวบ้าน ต.โผงเผง อ.ป่าโมก หลายครอบครัวที่ประสบอุทกภัยต้องย้ายมาอาศัยเต็นท์ที่พัก บนถนนสายโผงเผง-บางบาล แต่ต้องมาหวาดกลัวอุบัติเหตุจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่สัญจรไปมาตลอด 24 ช.ม. โดยมีเพียงแผงกั้นและกรวยมาตั้งไว้เท่านั้น ส่วนระดับน้ำในลุ่มน้ำเพิ่มขึ้นจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้น้ำท่วมแล้ว 3 อำเภอ รวม 885 ครัวเรือน

ที่ จ.ปทุมธานี หลังแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนใน ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก แล้วขังเป็นเวลาหลายวัน ทำให้น้ำเริ่มเน่าส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งและเป็นแหล่งขยายพันธุ์ยุงด้วย โดยชาวบ้านระบุน้ำท่วมใต้ถุนบ้านมาหลายวันและเริ่มเน่าเสียแล้ว อีกทั้งยังกลัวทั้งยุงและปลิงด้วย รวมถึงเชื้อโรคที่มากับน้ำ ต่อมานายสุรชัย ขันอาสา ผวจ.ปทุมธานี สั่งการให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและวางกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำ ป้องกันน้ำไหลข้ามถนนคันคลอง 13 ในจุดที่ถนนเคยทรุดตัวและอยู่ระหว่างซ่อมแซม

ใช้ 3 แก้มลิงรับน้ำหลาก
วันเดียวกัน นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้วางแผนใช้พื้นที่แก้มลิง 3 แห่งเป็นแหล่งรับน้ำ คือ 1.ทุ่งป่าโมก-ผักไห่ พื้นที่ 50,000 ไร่ มีการปลูกข้าวนาปีรวม 10,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 8,900 ไร่ รอเก็บเกี่ยว 1,100 ไร่ คาดเก็บเกี่ยวหมดสิ้นเดือนก.ย. เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วรับน้ำได้ 80 ล้านลบ.ม. 2.ทุ่งผักไห่ พื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่ มีการปลูกข้าวนาปีรวม 37,431 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 28,354 ไร่ รอเก็บเกี่ยว 9,077 ไร่ คาดเก็บเกี่ยวหมดสิ้นเดือนก.ย. รับน้ำได้ 240 ล้านลบ.ม. 3.ทุ่งบางบาล พื้นที่ประมาณ 130,810 ไร่ มีการปลูกข้าวนาปีรวม 106,315 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 76,765 ไร่ รอเก็บเกี่ยว 29,550 ไร่ คาดเก็บเกี่ยวหมดวันที่ 5 ต.ค. มีพื้นที่รอเก็บเกี่ยว 3,500 ไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วรับน้ำได้เฉพาะพื้นที่มีคันกั้นน้ำ 30,000 ไร่ ความจุ 130 ล้านลบ.ม.

รายงานข่าวจากกรมชลประทานแจ้งว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาในวันที่ 30 ก.ย. มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 14,571 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ของความจุอ่างเท่านั้น โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 5,949 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่าง ยังเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 7,514 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 7,098 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่าง ยังเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 2,412 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 712 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่าง เหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 227 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 813 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุอ่าง เหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 147 ล้านลบ.ม.

กทม.จับตา 7 เขตเสี่ยงท่วม

ขณะที่แผนรับมือฝนถล่มและน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงเรือตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจุดเสี่ยง และกล่าวว่า ได้ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวร ความยาวประมาณ 77 ก.ม. ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 76.80 ก.ม. พร้อมวางกระสอบทรายป้องกันชั่วคราว

นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า หากมีฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ตามที่กรมอุตุฯ เตือนไว้ ยังเป็นห่วงในพื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา ดอนเมือง หลักสี่ และสายไหม ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ เบื้องต้นติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมและวางกระสอบทรายไว้แล้ว

ฝนถล่มกรุง-11เที่ยวบินลงไม่ได้
ด้านบก.จร. รายงานสภาพการจราจร พบถนนพหลโยธินเกิดน้ำท่วมขังฝั่งขาออกหน้าอนุสรณ์สถานประมาณ 30-50 ซ.ม. ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวช้า บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาออก หน้าห้างเซียร์รังสิต มีน้ำท่วมขัง 50 ซ.ม. และบริเวณทางด่วนโทลล์เวย์ทางยกระดับดอนเมือง มีน้ำท่วมขังบริเวณหน้าโรงกษาปณ์ มีน้ำท่วมขัง 50 ซ.ม.เช่นกัน ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวไปได้ช้า

นายศักดิ์ชัย อรุณรักถาวร รองผอ.ท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.00-17.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย. เกิดฝนตกหนักลมแรงบริเวณสนามบินดอนเมือง ทำให้เครื่องบินที่มีกำหนดจะลงที่สนามบินดอนเมืองในช่วงดังกล่าว 11 เที่ยวบิน ต้องขอเปลี่ยนเส้นทางลงจอดไปยังสนามบินใกล้เคียง 3 แห่ง แบ่งเป็นสนามบินอู่ตะเภา 5 เที่ยวบิน สนามบินอุดรธานี 3 เที่ยวบิน และสนามบินสุวรรณภูมิ 3 เที่ยว

เน่าแล้ว - สภาพบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ ม.5 ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำรอการระบายนานจนกลายเป็นน้ำเน่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

เน่าแล้ว – สภาพบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ ม.5 ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำรอการระบายนานจนกลายเป็นน้ำเน่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน