ประชาชนแห่ดูหมุดใหม่ ที่ถูกเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎร พบมี สีแดงป้ายตรงกลาง “โคทม-สุธาชัย”ซัดคนเปลี่ยน จ้องทำร้ายจิตใจผู้รักประชาธิปไตย เหน็บข้อความใหม่นึกว่าโฆษณาขายครีมหน้าใส “ศรีสุวรรณ”เตรียมร้องนายกฯ 18 เม.ย.นี้ จี้ให้สอบด่วน ขู่หากยังนิ่ง เตรียมงัดรธน.มาตรา 51 มาจัดการ “มีชัย”ย้ำโละกกต.จังหวัด ให้มีแค่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง 5-8 คนเฉพาะช่วงมีเลือกตั้ง ชี้ถ้ากสม.สละเรือ องค์กรอิสระอื่นอาจต้องรีเซ็ตด้วย เผยร่างพ.ร.บ.กกต.มี 4 หมวดและบทเฉพาะกาล รวม 78 มาตรา ส่งสนช.วันอังคารนี้ ติดดาบสั่งสตง.สอบเส้นทางเงินพรรคการเมือง โพลเผยคนหนุนพรรคเรียกร้องคสช.ปลดล็อก

ประชาชนแห่ดูหมุดคณะราษฎร

วันที่ 15 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีข่าวว่ามีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร บริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นหมุดที่ทำขึ้นเนื่องในเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม 2475 และมีการนำหมุดใหม่เข้ามาแทน ปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ทราบข่าวต่างเดินทางมาดู พร้อมใช้กล้องโทรศัพท์มือถือถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึก อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการ นำสีแดงมาป้ายที่บริเวณตรงกลางหมุดด้วย

นายอาชาไท สีตองอ่อน อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะโบราณคดี มหา วิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ทราบข่าวจากสื่อมวลชนจึงเดินทางมาดู ซึ่งรู้สึกงงมากกับการกระทำเช่นนี้ หมุดคณะราษฎรนั้นมีอายุกว่า 85 ปี ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย ซึ่งหมุดใหม่อันนี้มีขนาดใหญ่กว่าหมุดเดิม และ มีข้อความเปลี่ยนไปจากเดิม หากจะมองในแง่มุมของการเมืองยังสงสัยว่าต้องการเปลี่ยนเพื่อเหตุผลใด หมุดคณะราษฎรถือเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตน ก็อยากทราบเหตุผลและข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ข้อมูลหรือชี้แจง เพราะการกระทำแบบนี้เท่ากับเปลี่ยนแปลง ข้อเท็จจริงในประวัติศาตร์อย่างร้ายแรง

“โคทม”ซัดคนเปลี่ยนหมุด

นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ทุกช่วงเวลาย่อมมีความสำคัญ เช่นเดียวกับหมุดคณะราษฎรที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์การเปลี่ยน แปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นผู้ประกาศเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 หน้าพระบรมรูปทรงม้า โดยระบุข้อความในหมุดว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” จากนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค.2475 หมุดคณะราษฎรจึงเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ ดังนั้น คนที่ถอนหมุดคณะราษฎรจึงเหมือนไปถอนจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย

“หมุดคณะราษฎรมีมาจนถึง 85 ปี บางคนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่คนที่ไปถอนไม่ควรทำลายและประทุษ ร้ายทางจิตใจของคนที่ยึดมั่นในระบอบประชา ธิปไตย ควรเคารพความเลื่อมใสในศรัทธานั้นๆ ผมมองว่าไม่เป็นผลดีแต่ประการใดในการเปลี่ยนหมุด ซึ่งผมยังไม่ทราบว่าใครเป็น ผู้มาเปลี่ยน คนทำอาศัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ไม่ค่อยมีคนสังเกตเห็น แต่เรื่องแบบนี้น่าจะสืบได้มีทั้งกล้องวงจรปิด อีกทั้งหน่วยงานที่ดูแลสถานที่นั้น รวมทั้งกรุงเทพมหานครควรเร่งติดตามสืบหาคำตอบให้สังคมได้กระจ่าง ส่วนหมุดคณะราษฎรของเดิมนั้นทราบว่า ใช้งบของแผ่นดิน ดังนั้น ในทางกฎหมาย จะปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง เพราะถือเป็นสมบัติของชาติ” นายโคทมกล่าว

เหน็บนึกว่าข้อความโฆษณา

ด้านนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หมุดคณะราษฎร เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 เป็นการเปลี่ยน แปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่นำสู่การได้มาซึ่งเสรีภาพของประชาชนชาวไทย สะท้อนถึงความอุทิศเสียสละของนักประชาธิปไตย ซึ่งหมุดคณะราษฎรอยู่ตรงนั้นมาถึง 85 ปี กระทั่งมีใครก็ไม่รู้มาเปลี่ยนหมุด ถ้าให้คาดเดาคงเป็นพวกขวาจัด อนุรักษนิยม พวกที่ยอมรับเผด็จการ ไม่เอาประชาธิปไตย หมุดคณะราษฎรคงเป็นหนามตำใจของพวกเขา

“การกระทำเช่นนี้สะท้อนถึงความไร้ เดียงสา หมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยน แปลง เป็นเรื่องตลกขบขันและน่าขายหน้า ล้าหลัง และข้อความที่ระบุว่า ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ผมนึกว่าเป็นข้อความโฆษณาขายครีมหน้าใส ข้อความไม่ได้มีความหมายเลย สะท้อนภูมิปัญญาของคนทำ เป็นข้อความที่ตลก แท้จริงแล้วหมุดคณะราษฎรไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ คนที่ทำควรนำกลับมาไว้ อย่างเดิมดีกว่า” นายสุธาชัยกล่าว

“สมภาร”ชงหารือกก.วัฒนธรรม

นายสมภาร พรมทา อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรว่า ตนในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ตามกฎหมายมีนายกฯ เป็นประธาน มองว่าประเด็นการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรเป็นเรื่องสำคัญทางวัฒนธรรม จึงจะขออนุญาตที่ประชุมปรึกษาหารือเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งต่อไป

ศรีสุวรรณยื่น”บิ๊กตู่”สอบด่วน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนจะไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการให้ มีการสอบสวน ตรวจสอบการกระทำของบุคคลหรือหน่วยงานใดที่เข้ามาดำเนินการฉกและสับเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร อันเป็น การบิดเบือนและทำลายหลักฐานทางประวัติ ศาสตร์ของชาติ และให้สั่งการให้บุคคลที่นำหมุดคณะราษฎรออกจากพื้นที่ให้นำกลับมาคืนที่เดิม โดยจะยื่นผ่านศูนย์บริการประชาชนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 18 เม.ย. เวลา 10.00 น. และจะทำหนังสือถึง ผู้ว่าฯ กทม. รมว.วัฒนธรรม เลขาธิการวุฒิสภาในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เพื่อให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ทางกลุ่มคงทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องใช้ช่องทางนี้กดดันให้รัฐบาล กทม. กรมศิลปากร ดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนสับเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรในพื้นที่ซึ่งถือเป็นโบราณสถาน มีประวัติความเป็นมา เพราะหมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ ให้ลูกหลานได้ศึกษาว่าครั้งหนึ่งมีการเปลี่ยน แปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเข้าไปทำอะไรก็ได้
ขู่งัด”ม.51″จัดการนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามถึงเจตนาของผู้ที่จะกระทำการดังกล่าว นายศรีสุวรรณกล่าวว่า มองได้สองฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการสร้างความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม และฝ่ายที่พยายามป้ายสีว่าอาจเป็นการกระทำของรัฐบาลหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น เมื่อหาข้อสรุปไม่ได้ นายกฯควรจะเร่งสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงมาอธิบายกับสังคมให้ชัดเจน เพราะเรื่องนี้เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 57(1) ประกอบมาตรา 78 หากนายกฯไม่สั่งการหรือดำเนินการตามคำร้องนี้ คงใช้สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 51 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป

“ที่มีข่าวว่ากรมศิลปากร ระบุว่าบริเวณดังกล่าวไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ และยังไม่มีการขึ้นทะเบียนหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณ สถาน ถามว่าใครจะเข้าไปทุบทำลายอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ หากยังไม่ตรวจสอบ ต่อไปเกิดมีผู้ไม่พอใจกับการเปลี่ยนและทุบทำลายหมุดอันใหม่ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุดขึ้นอีก” นายศรีสุวรรณกล่าว

จ่านิวฉะบิดเบือนสัญลักษณ์

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนทราบข่าวเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา จึงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการนำหมุดคณะราษฎรอันใหม่มาแทนที่ของเดิม แต่ยังตรวจสอบไม่ได้ว่าใครเป็นคนทำ และทางหน่วยงานราชการก็ยังไม่มีใครยืนยัน ซึ่งหมุดอันใหม่ มีการเปลี่ยนหมดทุกอย่าง ทั้งเนื้อหา สิ่งที่สื่อ ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยเลย ตนเห็นถึงการมีความพยายามจะลบล้างและบิดเบือนประวัติศาสตร์ในปี 2475 เพราะหมุดคณะราษฎรถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของปี 2475 อีกทั้งยังเหมือนการบิดเบือนถึงสัญลักษณ์ และแสดงถึงความชัดเจนมากขึ้นที่จะลบล้างสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาของคณะราษฎร

เตรียมหารือเครือข่ายจัดกิจกรรม

นายสิรวิชญ์กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อน ไหวเพื่อเรียกร้องให้นำหมุดคณะราษฎรกลับมาติดตั้งไว้ที่เดิมนั้น เราต้องขอหารือกับอีกหลายคนก่อน คาดว่าหลังสงกรานต์คงจะชัดเจนขึ้นว่าเราจะทำกิจกรรมหรือมีแคมเปญอะไร ไม่คิดว่าหมุดคณะราษฎรจะหายไปง่ายๆ แบบนี้ ขอเรียกร้องให้มีการชี้แจงว่าใคร หรือหน่วยงานไหนเป็นคนทำ และขอให้นำหมุดคณะราษฎรอันเดิมกลับมาติดตั้ง ที่เดิม ซึ่งเราไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก หรือ จะสร้างหมุดใหม่ก็ได้ แต่ควรตั้งคู่กันไป ไม่ควรทำลายสัญลักษณ์เดิม ซึ่งคนจำนวน ไม่น้อยยึดถือเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดประชาธิปไตย จึงควรจะติดตั้งกลับคืนมา

นายสิรวิชญ์กล่าวว่า ส่วนที่จะมีการแจ้งความร้องทุกข์หรือไม่นั้น ตนกำลังหารือกับคนที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ล่าสุดเท่าที่ดูแนวทางของนายศรีสุวรรณ จรรยา ก็คงทำได้ ในเรื่องกฎหมายนั้น ก็ต้องดูแนวทางของนายศรีสุวรรณ ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพราะเขายืนยันมาแล้วว่าการถอนหมุดคณะราษฎรนั้นผิด อย่างไรก็ตาม ตนอยากทราบว่าหมุดคณะราษฎรของเดิมอยู่ที่ไหนเพราะถือเป็นโบราณวัตถุ เป็นทรัพย์สินของทางราชการและสาธารณะ ในเมื่อมีการสูญหายหรือมีการเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบว่านำไปเก็บรักษาไว้ที่ไหน หรือต้องสืบหาคนที่ทำลายโดยเร็ว ทั้งนี้ เราอาจจะต้องเร่งสอบถามยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป

ปชป.จี้ผู้มีอำนาจชี้แจง

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรว่า การที่หมุดประเทศเปลี่ยนไปหรือถูกเปลี่ยนนั้น ผู้มีอำนาจจะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบว่าเกิดเหตุนี้ ได้อย่างไร เป็นการกระทำของผู้ใดและมีวัตถุ ประสงค์อะไร เพื่อที่ประชาชนจะได้เข้าใจและติดตามสถานการณ์ได้ทันท่วงที ส่วน จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ หรือไม่ คงต้องรอฟังคำชี้แจงอย่างชัดเจนจากรัฐบาลก่อน

ไก่อูปัดตอบเปลี่ยนหมุด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณีที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์โดยเพจเฟซบุ๊กหมุดคณะราษฎรระบุว่าหมุดดังกล่าวถูกเปลี่ยนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า สั้นๆ ว่า ส่วนตัวไม่ทราบข้อมูลในส่วนนี้ และ ไม่ขอออกความเห็นเรื่องดังกล่าว

โพลหนุนพรรคจี้คสช.ปลดล็อก

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรกับการเมืองไทย” จากประชาชนทั่วประเทศ 1,287 คน ระหว่างวันที่ 10-14 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 42.83 เห็นด้วยการที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ คสช. ผ่อนปรนให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทุกพรรคย่อมมีสิทธิเสรีภาพ ร้อยละ 30.15 ไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด แต่มีมาตรา 44 ควบคุมอยู่ ถ้าไม่มีอาจสร้างความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม ร้อยละ 27.02 ระบุว่าไม่แน่ใจ เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคสช. อาจเรียกร้องเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้ว ประชาชนร้อยละ 74.44 ระบุว่าอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม ไม่สร้างความแตกแยก ร้อยละ 71.87 อยากให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วมช่วยเหลือบ้านเมือง พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น และร้อยละ 65.19 อยากให้พรรคการเมืองเคารพกฎหมาย กติกา และระบอบประชาธิปไตย

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของพรรคที่ประชาชนอยากเห็นนั้น ร้อยละ 64.65 อยากเห็นพรรคเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง คัดเลือกผู้สมัคร กำหนดวิสัยทัศน์และนโยบาย ร้อยละ 55.71 ระบุว่าการลงพื้นที่พบปะประชาชน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ร้อยละ 51.75 อยากเห็นพรรคสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพรรค เสริมสร้างความปรองดอง

ลักษณะของพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เป็นรัฐบาล ร้อยละ 80.26 ระบุควรยึดหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ สุจริต คำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ ร้อยละ 77.78 เห็นว่าควรเป็นพรรคการเมืองที่สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ร้อยละ 69.08 ระบุควรเป็นพรรคที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากการตัดสินใจของประชาชน

มีชัยย้ำโละกกต.จว.-มีแค่ผู้ตรวจ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กรธ.จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวันที่ 18 เม.ย.ว่า รายละเอียดของร่างกฎหมายลูกกรธ.ได้นำขึ้นเว็บไซต์แล้ว จะเป็นเนื้อหาล่าสุดที่จะส่งให้สนช. ในส่วนร่างกฎหมายลูกกกต. มีการเกลาถ้อยคำ แต่หลักการใหญ่ยังเป็นแบบเดิมคือ ไม่อยากให้มี กกต.จังหวัด เพราะมีปัญหาและข้อติฉินนินทาเยอะ ส่วนกกต.ยังอยากให้มี กกต.จังหวัด แล้วให้มี ผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย ตรงนี้จะยิ่งหนักเข้า ไปใหญ่ ยิ่งเปลืองงบประมาณและไม่คุ้มค่า

นายมีชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ กรธ.ยังยืนในหลักของผู้ตรวจการเลือกตั้งเฉพาะช่วงที่มีเลือกตั้ง เพราะหากเอาไปอยู่ประจำ พอตกเย็นก็เจอหน้าคนในพื้นที่แล้วจะไปจับใครได้ ไม่เข้าใจว่าจะอยากมี กกต.จังหวัดไปทำไม โดยโครงสร้างของผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมี 5-8 คน จังหวัดไหนใหญ่ก็มีมาก และอาจมีส่วนกลางเป็นม้าเร็วไปเสริมได้ ซึ่งการจะส่งม้าเร็วลงไปก็ต่อเมื่อได้ข่าวว่าจะมีการทำทุจริต ก็จะลงไปได้ทันที

โบ้ยสนช.รีเซ็ตองค์กรอิสระ

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนข้อห่วงกังวลจากหลายฝ่ายเรื่องการรีเซ็ตกรรมการองค์กรอิสระนั้น ตรงนี้แล้วแต่สนช. เพราะกรธ. ยังยืนยันคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้กำลังจะมีปัญหาเพราะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สมัครใจอยากรีเซ็ต ซึ่งถ้าไปรีเซ็ตกสม. จะเกิดคำถามว่าแล้วทำไมองค์กรอื่นถึงไม่รีเซ็ต องค์กรแรกที่จะต้องมาดูในเรื่องคุณสมบัติคือกกต. เพราะจะเป็นกฎหมายลูกที่เสร็จออกมาเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอิสระที่เหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาร่างกฎหมายว่าด้วยกกต. ที่กรธ.ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. มีทั้งสิ้น 4 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 78 มาตรา ในส่วน ขั้นตอนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระมีเนื้อหาดังนี้ มาตรา 12 นอกจากประกาศรับสมัครการเข้ารับสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระอื่นแล้ว คณะกรรมการสรรหาสามารถคัดเลือกจากบุคคลทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น โดยคำนึงถึงความหลากหลายและประสบการณ์ในแต่ละด้าน ให้กรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้สมัครหรือให้ผู้สมัครแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม ประกอบการพิจาณาด้วย และให้นำกระบวน การดังกล่าว มาใช้แก่การคัดเลือกในส่วนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วย

ติดดาบสตง.สอบที่มาเงินพรรค

ส่วนการสรรหาให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ผู้ได้รับการสรรหาต้องได้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงถึงตามที่กำหนด หรือยังได้บุคคลไม่ครบจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้ลงคะแนนใหม่ หากยังไม่ได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ โดย ผู้ที่ไม่ได้รับการสรรหาในรอบนี้จะเข้ารับการสรรหาใหม่ไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่ไม่ได้

สำหรับอำนาจหน้าที่กกต. เช่น มาตรา 35 กกต.อาจตั้งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถาบันการศึกษา ที่สมัครใจไปทำหน้าที่ผู้สังเกต การณ์การเลือกตั้ง เพื่อรายงานต่อกกต.ได้ มาตรา 21 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง กกต.จะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมหลักสูตรหรือโครงการใดไม่ได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่กกต.เป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ มาตรา 32 กกต.อาจขอให้มีอำนาจดำเนินการดังนี้ (1)ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สอบบัญชีของพรรคการเมือง อย่างเร่งด่วนในช่วงที่มีการเลือกตั้งก็ได้

สนช.ยังกั๊กไม่เคาะโละกกต.จว.

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. ของสนช. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. ซึ่งกรธ.จะส่งร่างกฎหมายลูกฉบับสมบูรณ์มาให้สนช. ช่วงวันที่ 18 เม.ย.ว่า ในหลักการสำคัญที่กรธ.ได้วางกรอบไว้ ทั้งกลไกและมาตรการเชิงรุกของกกต. ต่องานป้องกันและปราบปรามการซื้อเสียงเลือกตั้งถือเป็นประเด็นที่คณะกรรมการสนับสนุน และมองว่ามาตรการจะป้องกันการทุจริตเลือกตั้งได้ ต้องเน้นที่หน่วยเลือกตั้ง หากควบคุมหน่วยได้ดี จะทำให้ช่องทางโกงเลือกตั้งลดลงได้

นพ.เจตน์กล่าวว่า ส่วนกลไกตรวจสอบการเลือกตั้งที่กรธ.กำหนดให้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนกกต.จังหวัดนั้น ยอมรับว่าคณะกรรมการมีความเห็น 2 ทาง แต่จะมีข้อสรุปไปทางใดหรือไม่นั้น ต้องรอร่างพ.ร.บ.กกต.ฉบับทางการที่กรธ.จะส่งให้สนช. ซึ่งความเห็นขัดแย้งที่ว่านั้นคือ ให้คงกกต.จังหวัดตามที่กกต.เสนอ หรือตัดออกไป และให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนตามร่างที่กรธ.เขียนขึ้น โดยเรื่องนี้ยอมรับว่ายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

ยันไม่ตั้งเวทีฟังความเห็น

นพ.เจตน์กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการยกร่างกฎหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดไว้ ในชั้นของกรรมาธิการ (กมธ.) ของสนช. คงไม่ตั้งเวทีเพื่อรับฟังความเห็นใดๆ อีก เพราะทราบว่ากรธ. ฐานะผู้เสนอกฎหมายมีกระบวนการรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยการเปิดเวทีและรับฟังความเห็นประชาชนทั่วไปผ่านทางเว็บไซต์มาแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงชั้นกมธ.ที่มีตัวแทนจาก กกต. กรธ. คณะกรรมการกฤษฎีกา และสนช. คงเข้าสู่การพิจารณาเนื้อหา หากจำเป็นต้องแก้ไข จะยึดการปรับที่ไม่ขัดกับบท บัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ไม่กังวลถกกม.ยุทธศาสตร์ชาติ

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่สอง กล่าวถึงการพิจารณาพ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอว่า กฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุมสนช. ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ซึ่งต้องจัดทำตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือต้องเสร็จภายใน 120 วัน นอกจากนี้จะต้องรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรืออาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายตามมาตรา 77 ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่า ครม.ได้จัดทำความเห็นประกอบมาเรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้ที่เสนอกฎหมายโดยตรง ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น สนช.จึงไม่กังวลทั้งเรื่องกรอบเวลา และรายละเอียดของกฎหมาย โดยสมาชิก สนช.อาจจะเพิ่มเวลาพิจารณา พ.ร.บ.ยุทธ ศาสตร์ชาติให้มากขึ้น เพราะเราจะต้องทำให้ทันเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

“มาร์ค”ชี้”ม.5″มีทางออกมากกว่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการแก้ไขมาตรา 5 ว่า เป็นเนื้อหาที่ดีแล้ว คือกลับมาเหมือนมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งตนเคยพูดแล้วว่า การกำหนดรูปแบบกรรมการอาจจะรัดตัวเกินไป ขอบเขตการวินิจฉัยทำได้แค่เรื่องข้อกฎหมาย การเขียนกว้างแบบเดิมเปิดโอกาสให้หาทางออกได้มากกว่า เพราะตนไม่เคยมองว่ากรรมการเหล่านั้นจะปฏิบัติราบรื่นได้จริง แม้มีกรรมการตัดสินความขัดแย้ง แล้วความขัดแย้งเหมือนเดิมก็ไม่จบ จึงไม่ได้อยู่ที่จะมีกรรมการเหล่านี้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการยอมรับทางออกที่ตรงกัน ดังนั้น การกำหนดตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากกว่า

“ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ จะใช้มาตรานี้ได้ ต้องเกิดสถานการณ์ที่เข้าข่ายว่าบท บัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ครอบคลุมว่าต้องทำอย่างไร เพราะไม่มีกฎหมายไหนจะเขียนรองรับได้ทุกสถานการณ์ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นสาเหตุที่มาตรา 7 เดิมไม่สามารถนำมาแก้ไขได้เพราะผู้มีอำนาจไม่พร้อมสละอำนาจของตนเอง เพื่อเปิดทางให้แก้ปัญหา และไม่สามารถบังคับได้ ผมจึงบอกว่าปัญหาการเมืองในอดีตอยู่ ที่พฤติกรรมและวัฒน ธรรมการเมือง ในประเทศที่สามารถหาข้อยุติได้คือมีการยอมถอย ไม่ใช่คิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ก็ต้องอยู่อย่างนั้น จึงจะลดแรงกดดันทางสังคมได้ และทำให้แก้ปัญหาได้ ซึ่งรูปแบบการปกครองที่มี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีหลักการอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

กกต.กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกกต. ว่า แม้ว่าแผนจะวางไว้ไกล แต่เราต้องถอดแผนงานออกมาเป็นแผนระยะสั้น 1 ปี และแผนระยะยาว 5 ปี ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างพื้นฐานการจะเดินไปสู่ 20 ปี ซึ่ง 5 ปีแรกต้องเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมถึงการกำหนดแผนงานกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกัน โดยจะมีตัว ชี้วัดประมาณ 10 ตัว บางตัวอาจวัดทุกปี หรือบางตัวอาจวัดเมื่อมีกิจกรรมใหญ่ๆ เช่น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นจะมีอะไรเกิดขึ้น และแตกต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร และบางตัวจะวัดโดยมองจากเวลาที่กำหนดไว้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อมีกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว จะต้องมีเวลาให้พรรคทำกิจกรรมในระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อครบกำหนดแล้ว กกต.ต้องมีบทบาทเข้าไปส่งเสริม ฉะนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วต้องมาประเมินว่าเกิดความสำเร็จตามนั้นหรือไม่

นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้การบริหารจัดการเลือกตั้งมีตัวชี้วัดที่จะประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปีใดจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างน้อย 11 อย่าง เป็นสิ่งที่คิดค้นใหม่ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หรือเพื่อช่วยทำให้การเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมมากขึ้น โดยนวัตกรรมที่ กกต.ได้ทำแล้วคือ การจดทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงที่จะใช้สิทธิล่วงหน้าในอินเตอร์เน็ต หรือการรับสมัครส.ส.โดยระบบอินเตอร์เน็ตควบคู่กับระบบปกติ เพื่อแก้ปัญหาการปิดล้อมหน่วยรับสมัคร การใช้บัตรสมาร์ตการ์ดในการแสดงตนของประชาชน เพื่อลดขั้นตอนและเวลาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ปกติแล้วเวลามีการเลือกตั้งล่วงหน้าตามที่ต่างๆ บางหน่วยมีคนเข้าใช้สิทธิเกือบพันคน พอรอแถวนานเขาก็ถอดใจเลิกใช้สิทธิ จึงออกแบบว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าสามารถใช้สมาร์ตการ์ดแสดงตัวได้ ไปถึงก็เสียบบัตรในอุปกรณ์ที่ กกต.ได้เตรียมไว้

เร่งสร้างเครือข่ายส่องเลือกตั้ง

นายสมชัยกล่าวว่า การประเมินจำนวน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องดูถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงดังกล่าวว่าคนมีความตื่นตัวมากน้อยขนาดไหน แต่ กกต.จัดเตรียมกลไกทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนทุกกลุ่มทุกประเภทให้มากที่สุด เช่น แอพพลิเคชั่นนำคนไปยังหน่วยเลือกตั้ง ที่เรียกว่าแอพฯ ดาวเหนือ หรืออำนวยความสะดวกกับผู้สูงอายุ ถ้าใครต้องการเพิ่มหน่วยเลือกตั้งพิเศษ สามารถแจ้งมาได้ กกต.พยายามให้ทุกสิทธิทุกเสียงมีความหมาย

นายสมชัยกล่าวว่า สำหรับการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร จากเดิมจะเอาคะแนนที่นับได้ส่งกลับมาที่ประเทศไทย แต่ถ้าส่งไม่ทันภายในกำหนดคะแนนดังกล่าวจะเสียไป จึงเปลี่ยนกลไกใหม่ว่าให้นับคะแนนในสถานทูตที่อยู่ประจำประเทศนั้นๆ เลย ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากประเทศไทยได้ปิดหีบ เมื่อนับคะแนนเสร็จสถานทูตจะเป็นผู้ส่งคะแนนทั้งหมดกลับมาที่ไทย เราจะกระจายคะแนนไปยังเขตเลือกตั้งต่างๆ ส่วนผู้ที่มาใช้สิทธิไม่ได้ เช่น ผู้ป่วย จะนำรถ เลือกตั้งเคลื่อนที่ไปในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยที่อยู่ประจำ ส่วนการคาดการณ์สำหรับผู้ที่ จะมาใช้สิทธิเราต้องรอผลที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

นายสมชัยกล่าวว่า ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาสังคมในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 มีองค์กรเอกชนเข้าร่วม 22 จังหวัด หายไป 55 จังหวัด ฉะนั้นต้องสร้างเครือข่ายภาคเอกชน ส่งเสริมให้เกิดความพร้อม เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจะต้องมีองค์กรเอกชนให้ครบทุกจังหวัด ต้องครอบคลุมในพื้นที่อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ของหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ การใช้สิทธิของประชาชนจะมาจากการได้รู้ถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้สมัครและพรรค เพื่อเป็นเกณฑ์ในการเลือก ซึ่งทำให้ได้นักการเมือง ที่ดีมาบริหารประเทศ

“ปู”ทำบุญ-ไหว้กู่บรรพบุรุษ

ที่ จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และน้องไปป์ นายศุภเสกข์ อมรฉัตร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาว และกลุ่มเครือญาติ เดินทางมาไหว้และสรงน้ำอัฐิ หรือกู่บรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง ซึ่งเป็นประเพณีที่อดีตนายกฯ และครอบครัวทำเป็นประจำทุกปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน