เปิดรายละเอียดภายใน “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ก่อนเตรียมส่งคืน เผยที่บ้าน มีกลิ่นทุกวัน เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เข้าสำรวจ

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทหารด้านการข่าว และ รักษาความปลอดภัยบ้านสี่เสาเทเวศร์ ได้นำคณะสื่อมวลชนซึ่งเป็นคณะสุดท้ายเข้าเยี่ยมชมบ้านสี่เสาเทเวศร์ พร้อมได้บรรยายถึงพื้นที่ส่วนต่างๆของบ้าน ที่พล.อ.เปรม ได้ใช้พำนักอาศัย และ ทำกิจวัตรประจำวันตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2522

ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เรื่อยมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกรัฐมนตรี จนกระทั่งเป็น ประธานองคมนตรี ก่อนที่วันที่ 31 ต.ค.นี้ จะทำการส่งคืนให้กรมสวัสดิการทหารบก โดยหลังจากเยี่ยมชมบ้านแล้วคณะสื่อมวลชนได้นำดอกไม้สีชมพู มาวางไว้ที่หน้าภาพถ่าย พล.อ.เปรมด้วย

โดยบ้านหลังนี้สร้างขึ้นสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปี พ.ศ. 2500 ส่วน พล.อ.เปรมเข้ามาอยู่บ้านหลังนี้เมื่อปีพ.ศ. 2522 ต่อ พ.ศ.2523 เมื่อตอนดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. อยู่มาจนถึงขณะนี้รวม 40 ปี และจะส่งมอบให้กรมสวัสดิการทหารบกตามขั้นตอน ระหว่างนี้ไม่สามารถให้เข้าไปดูในตัวบ้าน หรือถ่ายภาพได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้มาสำรวจและเก็บรายละเอียดแล้ว ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะนำไปดำเนินการอะไรต่อ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของชั้นความลับ เพราะจะส่งผลเรื่องการรักษาความปลอดภัย

สำหรับ บ้านสี่เสาฯ มีอาคารหลัก 2 ชั้น 1 อาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ พล.อ.เปรม พักอาศัย ประกอบไปด้วยปีกซ้ายด้านบนเป็นห้องทำงานมีโต๊ะทำงาน และโต๊ะวางเอกสาร รวมถึงโทรทัศน์เท่านั้น ถัดไปด้านหลังเป็นห้องเก็บของที่ระลึก และห้องพระ

เมื่อสองปีที่แล้ว พล.อ.เปรม ได้สั่งให้บรรจุของทั้งหมดใส่รถ “ยีเอ็มซี” ไปไว้ที่บ้านเลขที่ 1 (บ้านศรัทธา) อ.เมือง จ.สงขลาหมดแล้ว สำหรับด้านกลางไปถึงปีกขวาทั้งชั้น 2 เป็นห้องนอนโล่ง มีเตียงกลางห้อง มีโต๊ะวางวิทยุ 1 เครื่อง และ นาฬิกาปลุก มีตู้เสื้อผ้าติดผนัง ห้องน้ำในตัว ส่วนด้านล่างปีกซ้ายเป็นห้องที่มีเปียโนตั้งอยู่กลางห้อง และเป็นห้องประพันธ์เพลง

ฝั่งขวาเป็นห้องรับแขก ที่ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี ได้ทำประวัติศาสตร์ไว้ เพราะท่านเป็นคนแรกที่ได้เข้ามาเยี่ยมคารวะ และ เป็นคนสุดท้ายที่เป็นแขกต่างประเทศที่เข้าพบก่อนที่ป๋าจะเสียชีวิต สำหรับด้านหลังเป็นห้องประชุม จัดเลี้ยง มีคาราโอเกะ ด้านข้างมีห้องตัดผม

ส่วนด้านนอกตัวบ้านคือพื้นที่ประเด็นการเมือง และ ประวัติศาสตร์การเมือง คือ ด้านทางเดินที่ตั้งไมรโครโฟนในการให้โอวาทในเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ วันเกิด ซึ่งท่านจะพูด จะด่า จะชมใครก็จะที่นี่ และ ประตูเหล็กสีเทาด้านข้าง ซึ่งทุกคนต้องเรียกว่าประตูข้าง ห้ามเรียกประตูหลัง เพราะป๋าจะเคือง ซึ่งประตูบานดังกล่าวมีเกร็ดข้อมูลมากมาย ตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหาร คนที่จะมาปรึกษา ขอคำแนะนำ ชนะก็เป็นนายกฯ แพ้ก็หนีไปต่างประเทศ ทุกคนเข้าประตูนี้หมดไม่ว่า กุญแจประตูนี้จะมีอยู่ที่นายทหารคนสนิทเพียงคนเดียวที่จะอนุมัติให้เปิดได้หรือไม่

“ป๋าจะมีความเป็นส่วนตัว และประหยัดมาก มีความพอเพียง จะเปิดปิดไฟด้วยตนเอง ออกจากห้องไหนก็จะปิดทันที โดยลูกน้องก็จะอยู่อีกส่วนของบ้าน สังเกตจากไฟก็จะรู้ว่าป๋าอยู่ในช่วงเวลาทำกิจวัตรประจำวัน และอยู่ห้องไหน ทุกคนอาจจะเรียกท่านว่าป๋า แต่พวกเราเรียกว่าปู่ ทุกวันนี้ป๋ายังอยู่ ไม่ได้ไปไหนเพราะยังไม่ได้เผา ทุกคนรู้ดี

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีการเก็บที่เหลือออกมาทั้งหมด ก็ใช้ลิฟท์ที่ท่านขึ้นประจำขนของ ลิฟท์ก็ขึ้น-ลงไม่หยุด ไม่รู้ว่าท่านส่งสัญญาณอะไร หรือว่าท่านอาจจะไม่อยากไป ส่วนเรื่องกลิ่นหอมไม่ต้องพูดถึง มีทุกวัน ทั้งกลิ่นน้ำหอม สบู่ ที่คนในบ้านรู้ดี” นายทหารรปภ.บ้านสี่เสา กล่าว

นายทหารคนเดิม กล่าวว่า จะมีงานใหญ่อีก 2 งาน คือ “งานเผาปู่” และ “งานนำปู่กลับบ้าน” โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 62 ครบรอบวันเกิดพล.อ.เปรม ทางญาติได้อนุญาตนำอัฐิกลับไปที่ จ.สงขลา 1 ส่วนตามการทำเรื่องขอมาจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งอาจจะไว้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บ้านศรัทธรา หรือรูปปั้นที่ตั้งอยู่หลายที่ใน จ.สงขลา โดยคนสงขลาก็กำลังเตรียมงานรับปู่กลับบ้าน โดย พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรีเป็นผู้ประสาน

พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษฯ และนายทหารคนสนิท กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวกองทัพบกได้ขอเข้าใช้ประโยชน์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้มอบให้กรมสวัสดิการทหารบกรับผิดชอบ การส่งมอบพื้นที่ก็จะส่งมอบกลับไปที่กองทัพบกตามขั้นตอน โดยระหว่างนี้คือการย้ายของส่วนตัว ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ครุภัณฑ์ ของทางราชการออกไปเท่านั้น


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน