รายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 19 เม.ย.นี้ ที่ประชุม กกพ.จะพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะเรียกเก็บบิลค่าไฟกับประชาชนรอบใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 2560) ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย จากต้นทุนจริงที่ต้องปรับขึ้น 20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากปรับขึ้นตามต้นทุนจริงอาจเป็นอัตราที่สูงเกินไป โดยอาจใช้แนวทางให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระไปก่อน รวมทั้งต้องพิจารณาว่าจะมีวงเงินใดเข้ามาชดเชยเพิ่มเติมได้หรือไม่

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กกพ. ในฐานโฆษกกกพ. กล่าวว่า ยอมรับว่าค่าเอฟทีมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.2560) ที่อยู่ที่ -37.29 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าไปอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การจัดหาเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น แต่สุดท้ายค่าเอฟทีจะเป็นอัตราเท่าไหร่นั้น คงจะต้องรอผลการพิจารณาจากที่ประชุมเป็นข้อสรุปอีกครั้ง

“งวดที่ผ่านมา กกพ.กันเงินที่เหลือจากค่าความพร้อมจ่าย (เอพี) จากเอกชนประมาณ 2,200 ล้านบาท เพื่อนำมาดูแลค่าเอฟทีงวดใหม่นี้ สามารถลดค่าไฟได้ประมาณ 3 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบกับกรณีการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซยาดานา ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 25-28 ก.พ.2559 มีผลให้ก๊าซหยุดจ่าย 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ปตท.และกฟผ. ต้องสำรองน้ำมันดีเซล 14 ล้านลิตร และน้ำมันเตา 100 ล้านลิตร ซึ่งเดิมประเมินว่าหากนำเชื้อเพลิงสำรองมาใช้ทั้งหมดจะกระทบต่อค่าไฟฟ้า 1.30 สตางค์ต่อหน่วย แต่ปรากฏว่าได้นำไปใช้เพียงน้ำมันเตาแค่ 30 ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้กระทบค่าไฟเพียง 0.2 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ซึ่งการพิจารณางวดนี้ยังต้องนำปัจจัยหลักด้านต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมาประกอบการตัดสินใจด้วย”นายวีระพล กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน