อาม่า ขึ้นศาลเดินหน้าทวงเงิน 350 ล้าน หลังลูกรวมหัวพนักงานแบงก์ยักยอกบัญชี

จากกรณีนางฮวย ศรีวิรัตน์ อายุ 76 ปี ร้องขอความช่วยเหลือต่อนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความชื่อดัง หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากตั้งแต่ปี 57 ที่ผ่านมา ถูกนางมาวดี ศรีวิรัตน์ อายุ 53 ปี ซึ่งเป็นบุตรสาวแท้ๆ ทยอยถอนเงินในบัญชีหลายร้อยครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 253 ล้านบาท และถ่ายโอนทรัพย์สินอื่นๆไปจนหมดเกลี้ยง ขณะนอนพักฟื้นรักษาตัวด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยมีพนักงานแบงก์รวม 4 ราย คอยให้การสนับสนุนแอบเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิก-ถอน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

จากลงลายมือชื่อเป็นพิมพ์ลายนิ้วมือ พร้อมทั้งปลอมหนังสือมอบอำนาจเพื่อนำไปถอน และสั่งจ่ายเช็คแทนในบัญชีกระแสรายวัน เมื่อแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกลับไม่มีความคืบหน้าแม้แต่อย่างใด จนทนายอนันต์ชัย มาให้ความช่วยเหลือกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาพระโขนง 3 ศาลอาญาพระโขนง ได้ฟ้องคดีบุตรสาวและพนักงานแบงก์ทั้ง 4 ราย เป็นคดีอาญา ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

คืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 พ.ย. ที่ศาลแพ่งพระโขนง ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช พร้อมด้วยนางฮวย ศรีวิรัตน์ อายุ 76 ปี และ น.ส.มินตรา หรือใบเตยศรีวิรัตน์ อายุ 29 ปี ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องให้ธนาคารชื่อดัง (กสิกรไทย) และพนักงานแบงก์ 4 ราย รวมทั้งบุตรสาวชดใช้เงินที่สูญเสียไปรวมมูลค่า 350 ล้านกว่าบาท

น.ส.มินตรา กล่าวว่า โดยก่อนหน้านี้อาม่าฮวย ประกอบธุรกิจผลิตโครงสร้างเครื่องปรับอากาศมานานกว่า 30 ปี ซึ่งมีบุตร 3 ราย คนโตเป็นบิดาตน คนรองคือนางมาวดี และคนสุดท้องได้เสียชีวิตลง ทั้งนี้ได้เปิดบัญชีธนาคารดังกล่าวถึง 2 บัญชี แบ่งเป็นสาขาถนนศรีนครินทร์ กม. 9 และสาขาสุขุมวิท 101 ก่อนมาป่วยเป็นโรคหัวใจตีบ และกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยแพทย์ต้องทำการเจาะคอ

เนื่องจากติดเชื้อจนต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ นางมาวดี ได้พาไปอยู่ด้วยแต่ดูแลไม่ดีนัก และไม่ยอมหาเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นอาม่ายังสามารถเดินได้ เมื่อตนหามาให้โดยเจ้าหน้าที่ทำกายภาพบำบัดแค่ 2 ครั้ง ก็ถูกนางมาวดี ไล่ออกจนเป็นผู้ป่วยติดเตียงและไม่สามารถเดินได้อีกเลย

ซึ่งช่วงนั้นอาม่าเขียนจดหมายมาหาพี่ชายตนว่าอยากกลับบ้านก่อนมาอยู่ด้วยกัน แต่เมื่ออาม่าเปิดตู้เซพเพื่อดูสมุดบัญชีกลับไม่พบ จึงให้พี่ชายตนติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ธนาคารคือนางทิพย์ภาพร แดงสวัสดิ์ อายุ 57 ปี ซึ่งเป็นคนสนิทของนางมาวดี และได้รับคำตอบว่าไม่มีเงินในบัญชีเหลือแล้ว เมื่อให้มาชี้แจงก็วางสายใส่และไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

น.ส.มินตรา กล่าวต่อว่า จากนั้นพี่ชายตนจึงไปที่สาขาสุขุมวิท 101 เพื่อไปพบนายเทพ ภูแก้ว อายุ 55 ปี เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ชี้แจงว่าเงินในบัญชีหายไปไหน โดยนายเทพ ไม่ให้ดูข้อมูล และยังกล่าวหาว่าอาม่าสติไม่สมประกอบ จนเป็นเหตุให้วันที่ 27 ธ.ค. 60 ตนและพี่ชายต้องพาอาม่าไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.อุดมสุข

แต่เมื่อพนักงานสอบสวนมีการสอบปากคำเรื่องก็เงียบหาย จนทางญาติส่งทนายความมาให้แต่ก็ไม่เดินเรื่อง ให้ทางตนเป็นผู้หาข้อมูลทั้งหมด จนอาม่ามาพบทนายอนันต์ชัยในโทรทัศน์จึงให้ตนประสานติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจนเรื่องมีความคืบหน้าไปอย่างมากมาย

ทนายอนันต์ชัย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา น.ส.มินตรา ได้ติดต่อมาหาตนเพื่อร้องขอความช่วยเหลือจนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางมาวดี และพนักงานแบงก์รวม 4 ราย ประกอบด้วยนายเทพ ภูแก้ว อายุ 55 ปี นางวิไล รุ่งเรือง อายุ 62 ปี นางทิพย์ภาพร แดงสวัสดิ์ อายุ 57 ปี และ น.ส.ทัศนีย์ จำเนียรศิลป์ อายุ 29 ปี ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม

ส่วนในวันนี้ตนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเพื่อเรียกเงินคืนรวมมูลค่า 350 ล้านกว่าบาท ทั้งนี้ตนขอชี้แจงว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ได้อย่างล่าช้ามาก ไม่ใส่ใจ และไม่สนใจ เป็นเหตุให้ตนต้องโทรศัพท์ไปข่มขู่ว่าจะร้องเรียนผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความกระตือรือร้นของตำรวจ สน.อุดมสุข จากนั้นตนได้พบกับผกก. โดยให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่แบงก์ไม่ยอมส่งมอบเอกสาร ตนจึงโทรศัพท์ไปข่มขู่เจ้าหน้าที่แบงก์อีกครั้งหากไม่ยิมยอมส่งเอกสารจะเปิดเผยต่อสื่อมวลชนจนเป็นเหตุให้ได้เอกสาร

ทนายอนันต์ชัย เผยต่อว่า ขณะนั้นทางอาม่ายังไม่ทราบเรื่องบัญชีกระแสรายวันกับบัญชีออมทรัพย์ว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่เนื่องจากถูกปกปิดมาโดยตลอด เมื่อตนมาดูแลคดีได้เพียง 6 เดือน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสั่งฟ้องได้ในทันทีตามข้อหาดังกล่าว ส่วนในวันนี้ตนเป็นโจทก์เพื่อเรียกทรัพย์คืน รวมทั้งสัญญาฝากทรัพย์ ในการที่มีบุคคลนำทรัพย์สินของอาม่าไป

โดยบัญชีแรกเป็นบัญชีออมทรัพย์สาขาถนนศรีนครินทร์ เปิดเมื่อปี 3 ธ.ค. 47 ซึ่งถูกลักทรัพย์ไปประมาณ 111 ล้านบาท ลงลายมือชื่อนางฮวย ศรีวิรัตน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการสั่งจ่าย โดยแท้จริงแล้วช่วงเกิดเหตุระหว่างวันที่ 14 ม.ค. ปี 57 จนถึงวันที่ 26 ม.ค. 57 อาม่านอนป่วยติดเตียงอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและไม่สามารถเขียนได้

โดยมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ปาก คอ จมูก เท่านั้น ไม่ใช่แพทย์ทางสมองหรือผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ฉะนั้นใบรับรองแพทย์ฉบับนี้จึงไม่สามารถใช้ได้กับอาม่า แต่นางมาวดี กลับนำไปให้เจ้าหน้าที่แบงก์เพื่อเปลี่ยนเงื่อนไขในการเซ็นเบิกเงินมาเป็นพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เงิน 111 ล้านบาทหายไปตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 57 ที่ผ่านมา

ทนายอนันต์ชัย เผยอีกว่า อีกบัญชีเป็นกระแสรายวันสาขาสุขุมวิท 101 โดยมีเงื่อนไขคือเซ็นชื่อ ซึ่งในวันที่ 24 ม.ค. 57 นางมาวดี เปลี่ยนเงื่อนไขในการเบิกเงินสั่งจ่ายแทนอาม่ารวมทรัพย์สินที่สูญหายคือ 97 ล้านบาท และยังมีเงินกองทุนเปิดของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ซึ่งก่อนหน้านั้นอาม่าได้นำเงินในบัญชีไปซื้อไว้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยสูง โดยมีกำหนดระยะเวลาที่กำหนดเมื่อเบิกจะเข้าบัญชีออมทรัพย์

แต่ปรากฏว่าเงินกองทุนกว่า 40-50 ล้านบาทหายไป โดยมีวิธีคือหลังจากปั้มลายนิ้วมืออาม่าที่โรงพยาบาลไม่ใช่ทำธุรกรรมที่สาขา ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารกลับยินยอมเปลี่ยนเงื่อนไขในการเบิกถอนสั่งจ่าย ปัญหาทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น เงินจำนวนกว่า 350 ล้านบาทยังคงต้องอยู่ในบัญชีธนาคาร แต่กลับให้การช่วยเหลือจนเงินหมดเกลี้ยงบัญชีทั้งหมด

“โดยในวันที่ 16 ม.ค. 63 ที่จะถึงนี้ พนักงานอัยการพิเศษคดีอาญาฟ้องนางมาวดี กับพวก ซึ่งตนเป็นโจทก์ร่วมโดยศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน” ทนายอนันต์ชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน