สารพัดคดีตุ๋น โผล่แจ้งความรายวัน ทั้งพริตตี้สาวกว่า 10 คน ร้องกองปราบฯถูกโมเดลลิ่งเก๊ หลอกจ้างงาน ก่อนเรียกมัดจำ สุดท้ายถูกเบี้ยวทั้งงานและมัดจำ อีกรายหลอกร่วมลงทุนบริษัทขายครีมบำรุงผิว ความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท รายสุดท้ายเปิดเฟซฯ ตุ๋นประมูลทองคำ ผู้เสียหาย 126 คน เสียหายกว่า 100 ล้านบาท ตร.สั่งด่านตม. ทั่วประเทศ จับตา ดร.ตุ๋น หลอกลงทุนสลาก หวั่นหนีออกนอกประเทศ ประสานปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบมีผู้อื่นเกี่ยวข้องด้วย เร่งตรวจสอบมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ ด้านจุฬาฯแจงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง สคบ.เอาจริงไล่เช็กบริษัทขายตรง ทำผิดดำเนินคดีทุกราย

ชงปปง.ตรวจการเงินดร.จุฬาฯ

จากกรณี รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อเหตุหลอกลวงกลุ่มเพื่อนอาจารย์ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ให้นำเงินไปร่วมลงทุนในสหกรณ์ลอตเตอรี่ที่ตนตั้งขึ้น อ้างว่าจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ร่วมลงทุนร้อยละ 1 ต่อเดือน จนมีผู้ เสียหายหลงเชื่อกว่า 160 รายที่ นำมาเงินมาร่วมลงทุนด้วย โดยในช่วงแรกก็จ่ายเงินตรงตามกำหนด จนเหยื่อหลงเชื่อนำเงินมาร่วมลงทุนเพิ่มเติม ปรากฏว่าในระยะหลังไม่ยอมจ่ายเงินปันผล และหอบเงินทั้งหมดหลบหนีไป รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท ล่าสุดตรวจสอบบัญชีธนาคารมีเงินเหลือแค่ 5,000 บาท ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่กองปราบปราม พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป.เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายสืบสวนกำลังเร่งรัดติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหารายนี้แล้ว ซึ่งหากจับกุมตัวมาแล้ว คดีก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะนี้คงยังไม่สามารถให้ข้อมูลทางคดีได้ ส่วนกรณีมีข่าวพบเบาะแสของ ผู้ต้องหาแถบพื้นที่ชายแดนนั้น กำลังตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

พล.ต.ต.สุทิน เปิดเผยต่อว่า ส่วนความคืบหน้าทางคดี ทางพนักงานสอบสวนกำลังเร่งรัดดำเนินการในทุกคดีที่พบความผิด ไม่ใช่เพียงคดีฉ้อโกงประชาชนเท่านั้น เนื่องจาก พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก.ก็ได้กำชับมาแล้วว่าให้ดำเนินการทุกคดี เพราะเข้าใจว่าผลพวงของปัญหาที่เกิดจากคดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนและทุกข์ใจให้กับกลุ่มผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อ สำหรับกระแสการเงินของผู้ต้องหา ได้ประสานไปยัง ปปง. แล้ว เบื้องต้นพบมีบุคคลอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำผิดหรือไม่ คงต้องรอการตรวจสอบสวนในเชิงลึก ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าต้องดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นด้วยหรือไม่ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ก็น่าจะเกิดความชัดเจน โดยพฤติกรรมของผู้ต้องหาจะใช้ความสนิทสนมส่วนตัวกับกลุ่มผู้เสียหายเป็นรายบุคคล เพื่อให้นำเงินมาร่วมลงทุนกับสหกรณ์ลอตเตอรี่ที่ตัวเองอ้างถึง ซึ่งเรื่องสหกรณ์ลอตเตอรี่นั้นยืนยันได้แล้วว่าไม่มีอยู่จริง ส่วนกรณีเงินสะสมของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ นั้นยังไม่พบว่าถูกนำไปลงทุนโดยตรงแต่อย่างใด

ตม.คุมเข้มกันหนีออกนอกปท.

วันเดียวกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับรศ.ดร.สวัสดิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่ามีความผิดชัดเจนในเรื่องของการฉ้อโกงประชาชน พร้อมกันนี้ได้มีการประสานกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และด่านชายแดนต่างๆ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้หลบหนีออกนอกประเทศ โดยเบื้องต้นทราบว่าผู้ต้องหารายนี้ยังไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า ผู้ต้องหารายนี้หลอกลวงประชาชน โดยการสร้างความน่าเชื่อถือจากอาชีพการงาน หลองลวงเหยื่อว่าจะนำเงินไปซื้อสลากเพื่อลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทน เป็นการสร้างแรงจูงใจ ประกอบกับผู้ต้องหาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง ทำให้มีคนหลงเชื่อจำนวนมาก ส่วนกรณีที่คาดว่าอาจารย์รายนี้ติดการพนันนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เงินที่หลอกลวงประชาชนไม่ว่าจะเอาไปทำอะไรถือว่ามีความผิด อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้มีข่าวหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน

ม.จุฬาฯแจงไม่เกี่ยวข้อง

ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ความว่า ในนามผู้บริหารจุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกเห็นใจเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ และขอให้ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ (1) นายสวัสดิ์ แสงบางปลา เป็นอดีตอาจารย์ของมหาวิทยา ลัยที่เกษียณอายุไปแล้วกว่า 19 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 และในอดีตเคยเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ (2) สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เป็นองค์กรที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มีการดำเนินงานและบริหารจัดการที่เป็นอิสระ ภายใต้การควบคุมการดำเนินงานโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และการตรวจสอบบัญชีโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไปกำกับดูแลการดำเนินการของ สหกรณ์ฯ

การกระทำที่เป็นเหตุให้ออกหมายจับครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบุคคล โดยอาศัยความน่าเชื่อถือและความสัมพันธ์ส่วน ตัวกับผู้เสียหายแต่ละราย ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอแสดงความเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบครั้งนี้อีกครั้ง รวมทั้งขอแสดงจุดยืนที่จะต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ และพร้อมที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินคดีและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยในอนาคตต่อไป

โผล่อีกตุ๋นลงทุนขายครีม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันยังมีผู้ เสียหายจากคดีหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทยอยเข้าแจ้งความอีกหลายราย โดยเมื่อเวลา 09.30 น. นางรัศมี ดวงพระจันทร์ อายุ 49 ปี พร้อมผู้เสียหาย รวม 15 คน เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.นนท์นรัตน์(ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง ในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” พร้อมนำเอกสารหนังสือสัญญาร่วมลงทุน สลิปโอนเงินทางบัญชีธนาคาร และเอกสารที่เกี่ยวข้อง มามอบไว้เป็นหลักฐาน

นายเอ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เสียหาย ให้การว่า น.ส.นนท์นรัตน์ มาชักชวนให้ร่วมลงทุนธุรกิจผลิตครีมบำรุงผิว โดยอ้างว่ามีพี่คนหนึ่งทำงานบริษัทผลิตครีม ตอนแรก ก็สนใจจะตั้งบริษัททำเอง แต่อยู่ระหว่างหาเงินลงทุน ขณะนั้นเห็นว่าน.ส.นนท์นรัตน์ มีสินค้าอยู่จริง แต่น.ส.นนท์นรัตน์ ก็ขอให้ตนเป็นเพียงแค่หุ้นส่วน ไม่ต้องมีชื่ออยู่ในบริษัท เนื่องจากเวลาดำเนินการอะไรก็แล้วแต่จะต้องมีลายลักษณ์อักษรของหุ้นส่วน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนติดต่อหน่วยงานต่างๆ ล่าช้า โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ช่วงแรกก็มีการให้เงินปันผลจำนวน 30% ของเงินลงทุน ต่อมาก็ชวนให้ลงทุนเพิ่มอีก อ้างว่าต้องผลิตสินค้าเพิ่ม เพราะกำลังขายดี และส่งออกไปต่างประเทศด้วย พร้อมมีเอกสารการส่งออก แต่ก็ไม่ทราบว่าใช่เอกสารจริงหรือไม่ กระทั่งมาเมื่อก.พ.ที่ผ่านมาจึงรู้ว่า น.ส.นนท์นรัตน์ หอบเงินลงทุนหลบหนีไปแล้ว มีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนด้วย มีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้านบาท ร่วมมูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท

ขณะที่ นางรัศมีกล่าวว่า ตนทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกา รู้จักกับผลิตภัณฑ์ครีมดังกล่าวจากญาติที่อยู่ประเทศไทย โดยได้ศึกษาข้อมูลของครีม ก่อนจะตัดสินใจนำเงินมาร่วมลงทุน ซึ่งครั้งแรกได้เปิดสาขานำสินค้าออกวางจำหน่ายที่สหรัฐ โดยแต่ละเดือนสามารถขายได้ประมาณ 50 ชุด ในราคาชุดละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นทาง น.ส.นนท์นรัตน์ ติดต่อมาว่ามีรายการสั่งซื้อครีมนี้จากประเทศจีน หากสนใจลงทุนด้วยจะได้รับเงินปันผล 30% จากเงินลงทุน ซึ่งจากการพูดคุยกัน ตนก็สนใจและว่าจะลงทุนเป็นเงิน 1.25 ล้านบาท โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงจะได้รับเงินต้นและเงินปันผลคืน แต่เมื่อครบกำหนดแล้วก็ยังไม่เงินคืน ก่อนจะถูกชักชวนให้ลงทุนต่อ กระทั่งเมื่อช่วงต้นปี 2560 ตนพยายามทวงถามและขอเงินลงทุนคืน กลับถูกบ่ายเบี่ยงมาตลอด จนรู้ว่าได้หลบหนีไปแล้ว

สาวพริตตี้แจ้งจับโมเดลลิ่ง

ต่อมา 11.30 น. น.ส.กฤษิรา หรือ กุ้ง ภูภัทระศิริ โมเดลลิ่งจัดหานางแบบ พร้อมกลุ่มนางแบบ สาวพริตตี้ กว่า 10 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.วชิรา ยาวไธสงค์ รองผกก.ปพ. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับโมเดลลิ่งรายหนึ่ง ในความผิดฐานฉ้อโกง ภายหลังติดต่อให้กลุ่มผู้เสียหายรับงานทั้งในและต่างประเทศผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยต้องเก็บเงินค่ามัดจำก่อน แต่ภายหลังกลับแจ้งยกเลิกงาน เชิดเงินค่ามัดจำไป รวมมูลค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท พร้อมนำหลักฐานการโอนเงินทางอินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง และเอกสารที่เกี่ยวข้อง มามอบไว้เป็นหลักฐาน

น.ส.กฤษิรากล่าวว่า ผู้เสียหายทั้งหมดที่รวมตัวเข้ามาแจ้งความนี้ ทำงานเป็นสาว พริตตี้ ก่อนหน้านี้ได้รับการติดต่อรับงานโชว์ตัวจากโมเดลลิ่งรายนี้ ที่ตั้งเงื่อนไขว่าพวกตนทุกคนจะต้องวางเงินมัดจำ 1,000 บาท เพื่อป้องกันเบี้ยวงานจนอาจทำให้งานได้รับความเสียหาย ซึ่งพวกตนก็ยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ แต่ภายหลังกลับไม่ได้ทำงานตามที่ได้ติดต่อไว้ และก็ไม่ได้รับเงินมัดจำคืนอีกด้วย เท่าที่ทราบจากในเฟซบุ๊กดังกล่าว มีผู้เสียหายประมาณ 30 คน ส่วนตนที่กลายเป็นเหยื่อไปด้วยก็เพราะต้องรับงานไปติดต่อพริตตี้อีกทอดหนึ่ง และเสียเงินมัดจำไปประมาณ 40,000 บาท

ด้านน.ส.ภูริดา จรัสฉัตรศศิธร ผู้เสียหายอีกราย ให้การว่า เพิ่งรู้จักกับโมเดลลิ่งรายนี้ได้ไม่นาน จนได้รับการติดต่อให้ไปทำงาน “พริตตี้” ที่ประเทศสิงคโปร์ 1 วัน ค่าจ้างประมาณ 10,000 บาท จึงตัดสินใจรับงาน เพราะเห็นว่าการจ่ายเงินมัดจำแค่ 1,000 บาทนั้นคุ้มค่าต่อเงินค่าจ้างที่ได้รับ แต่ภายหลังกลับได้รับแจ้งว่างานยกเลิกกะทันหัน แต่ก็ยังมีงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ ที่อาร์ซีเอ ภายหลังกลับบอกยกเลิกงาน โดยโมเดลลิ่งคนดังกล่าว มักจะแจ้งยกเลิกก่อนถึงกำหนดวันเวลาทำงานเพียงไม่กี่วัน จนทำให้เสียโอกาสไปรับงานอื่น ซึ่งจริงๆ แล้ว หากมีงานจริง ก็น่าจะต้องมีค่าเสียเวลาหากเขาทำงานเป็นมืออาชีพ แต่เท่าที่ทราบมาคือบางงานก็ไม่มีการจัดขึ้นแต่อย่างใด เป็นเพียงการสร้างเรื่องขึ้น เพื่อหลอกเอาเงินมัดจำเท่านั้น

เบื้องต้น พ.ต.อ.สุวัฒน์ได้รับเรื่องไว้ โดยได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ร้องไว้เป็นหลักฐาน ก่อนนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชา พิจารณาสั่งการต่อไป

เปิดเฟซฯตุ๋นซื้อทองสูญ 100 ล.

ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) น.ส.สรารัตน์ ขำสุวรรณ อายุ 22 ปี พร้อมกลุ่มผู้เสียหายกว่า 22 ราย เข้าแจ้งความ หลังถูกหลอกประมูลทองคำทางเฟซบุ๊ก น.ส.สรารัตน์ เผยว่าเข้าร่วมกลุ่มเฟซบุ๊กประมูลเพื่อร่วมประมูลสินค้าอื่นๆ จากนั้นตนเห็นเฟซบุ๊กคนชื่อนิด ประกาศขายทองคำทั้งแบบแท่งและรูปพรรณ ในราคาถูกกว่าราคาตลาดทั่วไป ประมาณ 1,000-2,000 บาท และมีคนมารีวิวว่าได้ทองจริง จึงติดตามเฟซบุ๊กดังกล่าวมาจนกระทั่งเดือนก.พ.ที่ผ่านมา นิดชักชวนลูกค้าและผู้ติดตามไปเปิดกลุ่มปิดในเฟซบุ๊กเพื่อขายทองโดยตรง มีสมาชิกประมาณ 120 คน ตนและครอบครัวจึงได้ลงทุนครั้งแรก ซื้อทองคำแท่งหนัก 200 บาท ราคา 16,400 บาท และเดินทางไปรับทองที่ร้านขายทองแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นของจริงและมีใบรับประกันสินค้า ซึ่งตนเคยถามที่ร้านแล้วว่ารู้จักนิดหรือไม่ โดยทางร้านรับว่านิดเป็นตัวแทนขายทองของทางร้านเอง จึงรู้สึกน่าเชื่อถือ

“ในช่วงแรกๆ ตนและในกลุ่มได้รับทองตามที่ตกลง ถึงได้รับของช้ากว่าเวลาที่กำหนด ก็จะได้รับของแถม เช่น ทอง 1 สลึง เป็นต้น จากนั้นช่วงปลายเดือนมี.ค. ก็เริ่มไม่ได้รับทอง เพราะทางร้านทองอ้างว่ายังไม่ได้รับการโอนเงินจากนิด พร้อมเห็นข่าวเรื่องประชาชนถูกโกงประมูลทองผ่านเฟซบุ๊กจึงรู้สึกกังวล และเมื่อโทรศัพท์ติดต่อไป นิดจะมีข้ออ้างบ่ายเบี่ยงไม่โอนเงินให้ และทราบภายหลังว่า นิดและสามีได้หลบหนีไปในกลางดึกวันที่ 21 เม.ย.แล้ว โดยส่วนตัวได้รับความเสียหายกว่า 9.6 ล้านบาท เมื่อรวมกับคนในกลุ่ม 126 คน มีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท” น.ส.สรารัตน์กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.กก.2 บก.ปอท. ระบุว่า ได้ให้พนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่ามีความผิดจริงจะขอศาลออกหมายจับ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สคบ.ไล่ตรวจบ.ขายตรง

พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมทั้งผู้บริหารสคบ. และกลุ่มสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง แถลงข่าวถึงการควบคุมธุรกิจดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค พร้อมกับเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา หลังจากเกิดเหตุการณ์การหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้ามาทำธุรกิจขายตรง หรือเข้ามาลงทุนด้วยการหลอกล่อจูงใจมีสินค้าและบริการอื่นๆ พ่วงเข้ามา จนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อเข้าไปร่วมลงทุนจนเกิดความเดือดร้อน

พล.ต.ต.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สคบ.เตรียมเล่นงานผู้ประกอบการขายตรงและตลาดแบบตรงที่ทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มที่หลอกลวงผู้บริโภคให้เข้ามาเป็นเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งปัจจุบันได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สคบ.ไปตรวจสอบแล้ว ทั้งกลุ่มที่ได้จดทะเบียนกับสคบ.อย่างถูกต้อง แต่ไม่มีการขายสินค้าตามที่จดแจ้งไว้ หรือขายสินค้าพ่วงจูงใจให้คนเข้ามาเป็นเครือข่าย จะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าไม่แก้ไขต้องถูกปรับวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะแก้ปัญหาเสร็จ ส่วนอีกกลุ่มคือพวกที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสคบ. ถือว่ามีความผิดเข้าข่ายการฉ้อโกง หากตรวจพบสคบ.จะแจ้งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบ เพื่อลงโทษตามกฎหมายต่อไป

“สคบ.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ต้นทางคอยรับการจดทะเบียนทำธุรกิจ ตอนนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่คอยควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ไปดูสถานที่ตั้ง หากเป็นคอนโดฯ แฟลต หรือบ้านพักข้างล่างเลี้ยงควายก็ไม่จดทะเบียนให้” พล.ต.ต.ประสิทธิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน