คนกรุงอ่วม ฝนถล่ม ท่วม 13 จุด รอระบาย เตรียมรับมือน้ำหนุน กลางเดือนต.ค. “บิ๊กตู่”เผยน้ำท่วมโทษธรรมชาติ รับบริหารจัดการลำบาก ชาวบ้านไม่ยอมให้น้ำท่วมนา 5 ต.ค.นี้ ไปชัยนาท ดูการจัดการน้ำ อุตุฯ เตือน 4-9 ต.ค. ทั่วปท. เตรียมรับมือฝนตกหนัก ขณะที่ช่วง 8-10 ต.ค. ต้องจับตาดูหย่อมความกดอากาศต่ำจากฟิลิปปินส์ ที่แนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นจะเคลื่อนตัวปกคลุมอ่าวตังเกี๋ย อาจส่งผลให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ปภ.เผยน้ำท่วมแล้ว 13 จว. หลายพื้นที่ลดแล้ว แต่ยังมีท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ในหลายจังหวัดภาคเหนือและกลาง ขณะที่สถานการณ์น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังเพิ่มสูงอีก อ่างทองยังท่วม 4 อำเภอ อยุธยา 4 อำเภอ ยังไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง รอเกี่ยวข้าวเสร็จกลางเดือน ปทุมฯ เตรียมผันน้ำจากคลองระพีพัฒน์ ลงสระน้ำพระราม 9

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วงวันที่ 4-9 ต.ค. ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงตกต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 4-7 ต.ค. ร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศลาวลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค. ร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้คลื่นบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 ม. อนึ่งจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำจากประเทศฟิลิปปินส์แนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้น จะเคลื่อนตัวมาปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ในช่วงวันที่ 8-10 ต.ค. ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนสะสม ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 13 จังหวัด รวม 57 อำเภอ 310 ตำบล 1,839 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด 41 อำเภอ 261 ตำบล 1,605 หมู่บ้าน หลายจุดน้ำเริ่มลดลงแล้ว ส่วนที่ยังประสบปัญหาท่วมอยู่ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าตะโก อ.ลาดยาว อ.บรรพตพิสัย อ.เก้าเลี้ยว อ.แม่วงก์ และ อ.โกรกพระ ระดับน้ำสูงประมาณ 20 ซ.ม.

จ.อุทัยธานี ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ต.ท่าซุง อ.เมืองอุทัยธานี สูงประมาณ 30 ซ.ม. จ.ชัยนาท น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 6 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัวอยู่ที่ระดับ 20-60 ซ.ม. จ.สิงห์บุรี น้ำท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรี และอ.เมืองสิงห์บุรี ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัวอยู่ที่ระดับ 10-30 ซ.ม. จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.วิเศษชัยชาญ อ.ป่าโมก อ.เมืองอ่างทอง อ.แสวงหา อ.ไชโย และอ.โพธิ์ทอง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัวอยู่ที่ระดับ 40 ซ.ม.

นายฉัตรชัยเผยต่อว่า ขณะที่ภาคเหนือยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ชัยภูมิ น้ำบึงละหานเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ อ.จัตุรัส ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัวสูงประมาณ 20-30 ซ.ม. ส่วนภาคใต้ ที่ จ.พังงา น้ำป่าหลากท่วมในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่า ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา จากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทร อ.บางปะหัน และ อ.บางปะอิน รวม 81 ตำบล 457 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,854 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 80-100 ซ.ม. จ.สุพรรณบุรีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.เมืองสุพรรณบุรี ปัจจุบันระดับน้ำสูงประมาณ 10-15 ซ.ม. จ.ลพบุรี เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองลพบุรี อ.ลำสนธิ และ อ.บ้านหมี่

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า วันนี้มันมีน้ำอยู่สองตอนที่จะต้องรู้ คือน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยากับใต้เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งน้ำเหนือเขื่อนนั้นไหลผ่านหลายจังหวัด หลายแม่น้ำ และระบายไปไหนไม่ได้ เพราะมีประชาชนบางส่วนไม่ให้ระบายกลัวจะท่วมพื้นที่ ทั้งที่บอกว่าจะเยียวยาให้ก็ไม่เอา แต่ถ้าน้ำน้อยก็ไม่ให้ปล่อย ต้องไปใช้ข้างบนก่อน ข้างล่างก็จะแล้ง เป็นการไม่เข้าใจระบบ

“ถามว่าสาเหตุทั้งท่วม ทั้งแล้งนั้นเกิดจากอะไร ไม่ได้โทษชาวบ้าน แต่โทษธรรมชาติ แล้วการบริหารจัดการน้ำทำได้หรือไม่ ถ้าเถียงกันอย่างนี้ มันก็ท่วมกันอยู่อย่างนี้ มันก็ประท้วงกันอยู่ไม่มีจบ การที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ก็ต้องปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยายังไม่เกิน 2,500 ลบ.เมตรต่อวินาที เมื่อวันนี้ปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยายังไม่เกินก็แสดงว่าน้ำไม่ท่วม ปริมาณน้ำที่ท่วมทุกวันนี้เกิดจากน้ำฝน น้ำขัง และน้ำนอกเขตคันคลองชลประทาน ฝนตกในทุกที่ทำให้ท่วมขัง อีกทั้งประเทศไทยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เราต้องสอนให้คนรู้จักคิด อย่างการปลูกข้าวปีนึงก็ควรปลูกไม่เกิน 2 ครั้ง แต่ชาวบ้านก็ยังปลูกกันถึง 4 ครั้งต่อปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้ำท่วมทุกปีตั่งแต่สมัยโบราณ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของพื้นที่การสู้รบ เราต้องสร้างคนให้คิดและไม่ใช่อยู่ดีๆ รัฐบาลปล่อยให้น้ำท่วม มีการชี้แจงและทำความเข้าใจมาโดยตลอด ถ้าให้รัฐบาลคอยอุดหนุนทุกเรื่องทั้งหมดแล้วอนาคตจะเอาอะไรกิน วันนี้ถ้าไม่ปล่อยน้ำพื้นที่ข้างบนน้ำก็ต้องท่วม เก็บไว้มากๆก็ต้องท่วมแบบปี 2554 ดังนั้นก็ต้องปล่อยน้ำลงมายังเขื่อนและถ้าล้นเขื่อนจริงก็ต้องปล่อยน้ำออกมา แล้วหากน้ำท่วมพื้นที่ใดรัฐบาลก็พร้อมช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาตามกติกา ชดเชย รัฐบาลมีมาตรการทั้งหมด แต่ก็ไม่ยอมเชื่อกัน ถ้าสอนแบบเดิมก็ติดกันอยู่แบบเดิม ผมก็ไม่ต้องเข้ามาหรอก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่ายืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าน้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 2554 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ก็กั้นไว้ไม่ต้องปล่อย รอเกี่ยวข้าวกันให้หมดก่อน พอท่วมแล้วอย่ามาบ่นก็แล้วกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะเดินทางไปยังบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา และมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ก่อนรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและปัญหาอุทกภัยจาก ผวจ.ชัยนาท และอธิบดีกรมชลประทาน จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังวัดโบสถ์ล่าง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังบรรยายสรุป จากผวจ.พระนคร ศรีอยุธยา พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่เดือดร้อน และลงเรือเพื่อเยี่ยมประชาชน ต่อด้วยการติดตามการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายเจ้าเจ็ด

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกทม. นาง เบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขาผู้ว่าฯกทม. และรองโฆษก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 32 ซึ่งนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุม ว่า สำนักการระบายน้ำได้รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสถาน การณ์น้ำเหนือ น้ำหนุน รวมถึงสถานการณ์น้ำทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ยังไม่น่าห่วง เนื่องจากวันนี้กรมชลประทานได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงเหลือประมาณ 1,600 ลบ.ม./วินาที จากเดิมสัปดาห์ที่แล้ว (29 ก.ย. – 1 ต.ค.59) ปล่อยน้ำที่ปริมาณ 2,000 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากเริ่มมีน้ำเอ่อล้นท่วมหลายพื้นที่ เช่น ปทุมธานี อยุธยา ประกอบกับฝนตกน้อยลง รวมถึงระดับน้ำหนุนซึ่งวัดได้ที่ปากคลองตลาดเมื่อวานนี้ อยู่ที่ 1.4 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ยังไม่สูงมากนักยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับได้ ทำให้ในวันนี้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ จึงไม่น่าเป็นห่วงยังไม่มีผลกระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้ จะมีน้ำทะเลหนุนสูง โดยจะต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดกับขึ้นกับชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกทม.ได้เตรียมการช่วยเหลือแล้ว

ที่สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัดปทุมธานี แขวงทางหลวงกรุงเทพฯ แขวงทางหลวงปทุมธานี เทศบาลเมืองคูคต เทศบาลเมืองหลักหก เพื่อหารือถึงปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย ที่ถนนพหลโยธิน จุดรอยต่อกรุงเทพฯ -ปทุมธานี บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และแยกลำลูกกา

นายภัทรุตม์ กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน บูรณาการทำงานร่วมกัน โดยให้จังหวัดปทุมธานีเพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองลาดสนุ่น และให้กรมทางหลวงเสริมผิวการจราจรบริเวณอนุสรณ์สถานฯเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน หน้าสนามกีฬาธูปะเตมีย์ และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับทิศทางการระบายน้ำจากสนามกีฬาธูปะเตมีย์จากเดิมที่ระบายออกจากด้านหน้าถนนพหลโยธิน ให้ปรับทิศทางออกสู่ด้านข้างถนนลำลูกกา ออกคลองลาดสนุ่นแทน

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 11 เทศบาลเมืองหลักหก สำนักงานเขตดอนเมือง และสำนักการระบายน้ำให้ระบายน้ำจากคลองเปรมประชากรลงสู่คลองบ้านใหม่ ซึ่งเป็นคลองที่แบ่งเขตจังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพ มหานคร ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับเดินเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งทิศใต้ เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นระหว่างการก่อสร้างสถานีสูบน้ำหลักหก

ต่อมาศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมรายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กทม.ว่า ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เกิดฝนตกปานกลางถึงหนักทั่วพื้นที่กทม. โดยปริมาณฝนสูงสุดในเขตบางซื่อ 100 มิลลิเมตร (ม.ม.) ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง 12 จุด ความสูง 5-30 เซนติเมตร กว้าง 1-2 ช่องจราจร ความยาว 20-500 เมตร ดังนี้ 1.บริเวณทางลงทางด่วน ถนนพระรามหก 2.บริเวณแยกเตาปูน ถนนประชาราษฎร์สายสอง 3.บริเวณหน้าตลาดพงษ์เพชร ถนนงามวงศ์วาน 4.บริเวณปากซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน 5.บริเวณหน้าตลาดประชานิเวศน์ ถนนเทศบาลสงเคราะห์ 6.บริเวณแยกสะพานควาย ถนนประดิพัทธ์ทั้งสองฝั่ง 7.บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ-บริษัททีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ 8.บริเวณวงเวียนบางเขน ถนนพหลโยธิน 9.บริเวณอุโมงค์สะพานดำ ถนนกำแพงเพชร 10.บริเวณหน้าตลาดอมรพันธุ์ ถนนงามวงศ์วาน 11.บริเวณหน้าตลาดอมรพันธุ์ ถนนพหลโยธิน 12.บริเวณแยกประดิพัทธ์ถึงบ่อสูบน้ำสะพานดำ ถนนพระรามหก และ 13.บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ ถนนรัชดาภิเษก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์น้ำที่ท่วมขังตามถนนต่างๆ ยังส่งผลให้สภาพการจราจรติดขัดอย่างหนัก ในจุดที่เกิดน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบริเวณถนนพหลโยธินขาออก หน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ถนนกำแพงเพชร 2 ที่จะเข้าขนส่งหมอชิต ถนนงามวงศ์วาน ถนนแจ้งวัฒนะตลอดทั้งเส้น นอกจากนี้ยังติดพันมาถึงถนนวิภาวดีฯ ถนนรัชดาภิเษก ถนนรามอินทรา ปริมาณรถมากล็อกพันกันเป็นวงแหวน ใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเริ่มคลายตัว

ด้านผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบยังพื้นที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พบว่าแม้ว่าระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายลงมาสู่ท้ายเขื่อนจะลดลง แต่น้ำในพื้นที่ยังคงท่วมอยู่ โดยระดับน้ำลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะชาวบ้านในหมู่ที่ 3 และ 4 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ยังคงต้องใช้เรือในการเข้าออกไปยังบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตรมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ส่วนกระแสน้ำที่ไหลข้ามถนนในหมู่บ้านนั้น ก็ยังคงไหลอยู่ต่อเนื่อง ลูกเด็กเล็กแดงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ขณะที่ 4 อำเภอของจังหวัดอ่างทอง คือ อ.ไชโย อ.เมือง อ.ป่าโมก และ อ.วิเศษชัยชาญ ยังมีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสูง โดยทางจังหวัดนำเครื่องอุปโภค-บริโภคและสิ่งของบรรเทาทุกข์ออกช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่จ.พระนครศรีอยุธยา ปภ.รายงานว่า เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลดลงอยู่ที่ 1,644 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนเขื่อนพระรามหก ระบายน้ำเหลือ 488 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักหลายจุด โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกน้ำลดลงประมาณ 10-15 ซ.ม. นายเรวัต ประสงค์ รองผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่านายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา มีหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมชลประทานเรื่องการผันน้ำเข้าทุ่ง เพื่อขอเปิดประตูระบายน้ำคลองส่งน้ำเข้าทุ่งนาที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตามคำสั่งของรมว.เกษตรฯ ที่ได้ตกลงกันไว้ ว่าจะเปิด 5 ประตูระบายน้ำในพื้นที่ อ.ผักไห่ บางส่วน แต่ยังมีหลายแห่งที่ยังไม่ได้มีการเกี่ยวข้าวอาทิ ที่ อ.เสนา 4 หมื่นไร่ อ.ลาดบัวหลวง อ.บางไทร และ อ.บางซ้ายอีก 1 หมื่นกว่าไร่ จะเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ดังนั้นจะไม่มีการปล่อยน้ำเข้าทุ่งในบริเวณดังกล่าว

ด้านนายสุรชัย ขันอาสา ผวจ.ปทุมธานี นายพิสิษฐ์ พิบูลย์ศิริ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและลงพื้นที่เตรียมสระน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.คลองคลวง จ.ปทุมธานี เพื่อใช้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่รองรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์

นายพิสิษฐ์กล่าวว่า เนื่องจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำมาท้ายเขื่อนทำระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์และคลอง 13 ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำหลักสูงขึ้นมาก หากมีฝนตกลงมาเพิ่มมวลน้ำในคลองที่ระบายก็จะมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้นนี้จึงจำเป็นต้องต้องมีสถานที่รองรับน้ำ โดยจะให้น้ำผันเข้ามาทางคลอง 5 และคลอง 6 เพื่อให้สระน้ำพระราม 9 เป็นเพื่อที่รับน้ำ ปัจจุบันน้ำในสระน้ำพระรามเก้ามีมวลน้ำ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้ 31 ล้านลูกบาศก์เมตร และหากเต็มแล้วยังสามารถสูบน้ำเข้าสระได้ถึง 33 ล้านลูกบาศก์เมตร

ตลาดน้ำ - สภาพน้ำท่วมขังในตลาดประชานิเวศน์ 1 ย่านประชาชื่น ประชาชนและร้านขายอาหารริมทางได้รับ ผลกระทบเดือดร้อน หลังฝนถล่มหนักเมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ต.ค. ทำให้พื้นที่กทม. มีน้ำท่วมขังรวมทั้งสิ้น 13 จุด เกิิดวิกฤต ต่อเนื่องตลอดทั้งคืน จนท.ต้องระดมเร่งระบายด่วน

ตลาดน้ำ – สภาพน้ำท่วมขังในตลาดประชานิเวศน์ 1 ย่านประชาชื่น ประชาชนและร้านขายอาหารริมทางได้รับ ผลกระทบเดือดร้อน หลังฝนถล่มหนักเมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ต.ค. ทำให้พื้นที่กทม. มีน้ำท่วมขังรวมทั้งสิ้น 13 จุด เกิิดวิกฤต ต่อเนื่องตลอดทั้งคืน จนท.ต้องระดมเร่งระบายด่วน

ถล่มยาว - ฝนถล่มเขตเทศบาลนครลำปาง น้ำท่วมขังถนนหลายสายและย่านเศรษฐกิจ ชาวบ้านเร่งนำกระสอบทรายมาวางกั้นหน้าบ้าน ขณะที่กรมอุตุฯ ประกาศเตือนทั่วประเทศรับมือฝนกระหน่ำยาวถึงวันที่ 9 ต.ค.

ถล่มยาว – ฝนถล่มเขตเทศบาลนครลำปาง น้ำท่วมขังถนนหลายสายและย่านเศรษฐกิจ ชาวบ้านเร่งนำกระสอบทรายมาวางกั้นหน้าบ้าน ขณะที่กรมอุตุฯ ประกาศเตือนทั่วประเทศรับมือฝนกระหน่ำยาวถึงวันที่ 9 ต.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน