“ราชทัณฑ์” แจง “คุกบางขวาง” ติดอันดับ 10 คุกโหด ซัดข้อมูลล้าหลังไม่น่าเชื่อถือ เป็นตำนานมากกว่าข้อเท็จจริงหรือแค่ข้อมูลเขียนในนิยาย แจงยกเลิกใช้เครื่องพันธนาการในเรือนจำตั้งแต่ปี 2556 แล้ว

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงกรณีเว็บไซต์ข่าวบางแห่งลงข่าวการจัดอันดับ 10 เรือนจำที่โหดร้ายที่สุดในโลก ซึ่งเรือนจำกลางบางขวางของประเทศไทยติดอันดับ 10 โดยระบุว่าเรือนจำกลางบางขวางได้รับการขนานนามว่าเป็น ฮิลตันแห่งกรุงเทพฯ มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขัง มีความแออัดและมีการใส่ตรวนผู้ต้องขังใน 3 เดือนแรก ทำให้เรือนจำกลางบางขวาง กลายเป็นเรือนจำที่มีความโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนั้น กรมราชทัณฑ์ขอชี้แจงว่า การจัดอันดับนี้เป็นข้อมูลที่มาจากการบอกเล่าปากต่อปาก ที่เป็นตำนานมากกว่าข้อเท็จจริง

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงต่อว่า ยกตัวอย่างเช่น เรือนจำอัลคาทราซของสหรัฐอเมริกา ยกเลิกการดำเนินงานไปตั้งแต่ปี 2506 แต่ก็ยังนำมาจัดอันดับอยู่อันดับที่ 7 และคาดว่าหลายเรือนจำในการจัดอันดับนี้ได้ยกเลิกการดำเนินงานหรือปรับปรุงการดำเนินงานไปแล้ว และการที่ขนานนามว่าเรือนจำกลางบางขวางเป็น ฮิลตันแห่งกรุงเทพฯ เป็นคำบอกเล่าของผู้ต้องขังชาวต่างประเทศ ที่พ้นโทษจากเรือนจำกลางบางขวางไปนานกว่า 15 ปีแล้ว และมีผู้นำไปเขียนเป็นนวนิยาย ซึ่งมีการเสริมแต่งให้เรื่องมีความน่าตื่นเต้นไปกว่าข้อเท็จจริง

ส่วนการใช้เครื่องพันธนาการ ซึ่งแต่เดิมเป็นการใช้ตรวน ต่อมาในปี 2555 เปลี่ยนเป็นกุญแจมือ กุญแจเท้า และยกเลิกการใช้เครื่องพันธนาการภายในเรือนจำตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งปัจจุบันการใช้เครื่องพันธนาการจะใช้เฉพาะกรณีนำผู้ต้องขังไปศาลหรือย้ายเรือนจำ เพื่อป้องกันการหลบหนี

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ที่มีการกล่าวหาว่าเรือนจำกลางบางขวางมีความแออัด และมีการทุบตีผู้ต้องขังนั้น เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นในลักษณะนวนิยายปราศจากข้อเท็จจริง ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมาโดยตลอด จนเมื่อองค์การสหประชาชาติได้มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขึ้น หรือ Standard Minimum Rules of the Treatments to Prisoners หรือ SMR ในปี 2500 ประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวอย่างครบถ้วน และมีการยกระดับมาตรฐานเรื่อยมา จนเป็น Mandela Rules ในปี 2558

อีกทั้งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มให้องค์การสหประชาชาติ กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง (The Bangkok Rules) ตั้งแต่ปี 2553 จึงถือได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้าประเทศหนึ่งในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่กล่าวอ้างโดยใช้ข้อมูลจากนวนิยายมากกว่าข้อเท็จจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน