ดีเอสไอ ชง 6 ประเด็นแย้งอัยการ คดีฆ่าบิลลี่ สุดงงไม่เชื่อถือพยาน

วันที่ 28 ม.ค. รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แจ้งว่าชุดพนักงานสอบสวนได้สรุปความเห็นแย้งอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็น 6 ประเด็น เพื่อเสนอให้อัยการสูงสุด พิจารณาความเห็น โดยมี 1.ประเด็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่อัยการอธิบายความเห็นเกี่ยวกับให้ ดีเอ็นเอไมโทคอนเดรีย ซึ่งการรับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวนั้น ไม่ใช่การใช้ดุลยพินิจที่รับฟังพยานหลักฐานแตกต่างจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ

แต่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน เนื่องจากข้อเท็จจริงของอัยการไม่มีการอ้างอิงว่ารับฟังในประเด็นนี้เอามาจากพยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานหลักฐานส่วนใดในสำนวน เป็นข้อมูลที่อยู่นอกสำนวน เพราะผู้ต้องหาไม่ได้ให้การขั้นสอบสวน

รายงานข่าวระบุอีกว่า ยังมี 2.ประเด็นพยานกลับคำให้การ ที่อัยการระบุว่าไม่น่าเชื่อถือ แต่ขณะเดียวกันตามความเห็นของอัยการกลับเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปล่อยตัวนายพอละจี ไปแล้วหลังจับกุม ซึ่งย้อนแย้งกันเอง

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ส่วนประเด็นที่ 3 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 147

และฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 148 ที่พนักงานอัยการเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 เอาทรัพย์ของนายพอละจี ไป และเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจนายพอละจี นั้น ใน คดีนี้มีพยานบุคคลยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้จับเอาตัวนายพอละจี ไปพร้อมทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายของนายพอละจี

รายงานข่าวระบุอีกว่า สำหรับประเด็นที่ 4 การกล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการมีคำสั่งตามที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายพอละจี ตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 ซึ่งมีประเด็นแห่งคดีคนละประเด็นกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และคดีฆาตกรรมในคดีนี้

และข้อเท็จจริงในขณะนั้น ผู้ร้องไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นายพอละจี อยู่ในความควบคุมของผู้ต้องหาทั้งหมดศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง มิใช่คำสั่งว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด ดังนั้นความเห็นของพนักงานอัยการที่กล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงอันสำคัญที่ได้จากการสอบสวนในภายหลังจึงไม่ถูกต้อง

อีกทั้งประเด็นที่ 5 การพิสูจน์การฆ่า ซึ่งพนักงานอัยการอ้างว่าไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า และไม่อาจนำคดีฆ่าหมอพัสพร มาเทียบเคียงได้เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน นั้น เห็นว่า คดีนี้มีหลักในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาในทำนองเดียวกันกับคดีฆ่าหมอพัสพร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปของสังคมและควรนำคดีฆ่าหมอพัสพร มาเทียบเคียงเป็นกรณีศึกษาในการพิสูจน์การกระทำผิดในคดีนี้

เนื่องจากในคดีฆ่าหมอพัสพร ไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่าและไม่พบศพเช่นเดียวกับคดีนี้ โดยในคดีฆ่าหมอพัสพร พิสูจน์การตายด้วยชิ้นเนื้อซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีแพทย์ยืนยันการเสียชีวิต เช่นเดียวกับคดีนี้ที่พิสูจน์การตายโดยชิ้นส่วนกระดูกอันสำคัญโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันประกอบพยานเครือญาติดังที่กล่าวมาข้างต้น

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ประเด็นที่ 6 คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยอมให้การโต้แย้งหรือกล่าวอ้างพยานหลักฐานใดในชั้นสอบสวนเห็นว่า คดีนี้ตามคำให้การของผู้ต้องหาทั้งหมดในชั้นสอบสวน เห็นได้ชัดว่า พนักงานสอบสวนได้พยายามสอบถามเพื่อให้โอกาสแก้ผู้ต้องหาทั้งหมดที่จะแสดงข้อเท็จจริง

แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดก็มิได้ให้การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่กล่าวหาตนอันถือได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของสุจริตชนทั่วไป

เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงที่ผู้ต้องหาทั้งหมดได้กล่าวอ้างเพื่อหักล้าง คงมีแต่ข้อเท็จจริงที่รับฟังตามพยานหลักฐานทางการสอบสวน ทั้งพยานทางวิทยาศาสตร์ พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสารหลายรายการ โดยพยานส่วนหนึ่งผ่านการพิจารณาของศาลทุจริตและประพฤติมิชอบจนอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดทุกข้อกล่าวหา

ฉะนั้น การรับฟังข้อเท็จจริงจึงควรต้องรับฟังตามพยานหลักฐานดังกล่าวที่กล่าวสรุปไว้ตามรายงานการสอบสวน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน