อ.ยง วิเคราะห์วงจรไวรัสระบาด ชี้ต้องควบคุมเข้มงวด 1 ปีลดสูญเสีย

สถานการณ์ระบาด ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลวันที่ 30 ม.ค. องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นไปถึง 170 คนแล้ว ซึ่งประชาชนยังต้องการทราบว่า สถานการณ์ระบาดนั้นจะดีขึ้นเมื่อไหร่

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้ความรู้ในประเด็นวงจรการระบาดของโรค โดยทำกราฟเปรียบเทียบให้ดูว่า หากไม่ควบคุมเลยโรคจะระบาดจบใน 6 เดือนแต่สูญเสียจำนวนมากเพราะการแพทย์รองรับไม่ไหว แต่หากควบคุมโรคได้ดีเข้มงวดจริงจัง ระยะเวลาระบาดอาจยาวนาน 1 ปี แต่จะสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันดูแลตัวเองด้วยอีกทาง

โดยระบุว่า “ปอดบวมอู่ฮั่น โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การเตรียมพร้อม ในการลดความสูญเสีย เมื่อมีการระบาดของโรค ตามรูปของกราฟ โดยธรรมชาติ การระบาดของโรค เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนมีภูมิต้านทานกลุ่มเกิดขึ้นมากพอ โรคก็จะหยุดระบาด ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตามภาพจำลองเส้นกราฟสีแดง ถ้าไม่ทำอะไรเลย การระบาดจะมีผู้ป่วยจำนวนมาก อาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เป็นจำนวนมาก โรคก็จะหยุดเอง ปัญหาจึงอยู่ว่า เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมาก จะเกินความสามารถที่ บุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ การดูแลจะไม่ทั่วถึง ไม่มีเตียงรับผู้ป่วย เกิดโกลาหลวุ่นวาย และยังความสูญเสียจำนวนมาก

แต่ถ้าเรามีมาตรการในการดูแล ควบคุม พยายามหยุดยั้งการระบาดของโรค ด้วยมาตรการระดับหนึ่ง
ประชาชนทุกคนช่วยกัน ให้การระบาดของโรคลดลง และระยะเวลาจะยาวนานขึ้น เป็นแบบเส้นสีขาว
แต่ในบางครั้งหรือบางระยะ เวลาการสาธารณสุขจะไม่สามารถรองรับได้ เป็นครั้งคราว

สิ่งที่เราอยากให้เห็น และให้เป็น คือแบบเส้นสีเหลือง ในการใช้มาตรการทุกสิ่งอย่าง เข้มงวด จริงจัง ที่ขัดขวางการระบาดของโรค ให้มีจำนวนผู้ติดโรคน้อยที่สุด การระบาดของโรค จะยาวนานขึ้น จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม อาจจะมากกว่า 1 ปี แต่มาตรการการดูแลผู้ป่วย และระบบสาธารณสุขจะทำได้ดีขึ้นการสูญเสียจะน้อยที่สุด เป็นการกระจายผู้ป่วยให้เกิดขึ้นทีละน้อย จนกว่าจะได้ภูมิคุ้มกันกลุ่มมากเพียงพอ หรือมีวัคซีนมาช่วยเสริมภูมิต้านทานกลุ่มให้เร็วขึ้น โรคก็จะหยุดระบาด และกลายเป็นโรคประจำถิ่น

เรามาช่วยกันใช้มาตรการทุกอย่างในการป้องกัน ไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่อย่างรวดเร็ว แบบในเมืองอู่ฮั่นที่ตั้งตัวไม่ทัน ถึงต้องสร้างโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ระบบการสาธารณสุขของเรารองรับได้ และไม่อยากเห็นผู้ป่วยเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมกัน นอกจากทางราชการหรือผู้เกี่ยวข้องทำงานอย่างหนักกันแล้ว
เราทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลป้องกัน ดูแลตนเองด้วย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน