ระทึกสนามหลวง เกิดระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ สองสาวบาดเจ็บเล็กน้อย เบื้องต้นไม่พบดินปืนและเขม่าด้านอีโอดีสันนิษฐานเกิดจากท่อพีวีซีป้ายรถเมล์หักโค่นลงมาแล้วมีเสียงดังขึ้นที่ ประชุมสปท.ผ่านความเห็นชอบร่างพ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ชงหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจพิเศษตั้งกปช.แล้วให้นายกฯคุมเอง มีอำนาจล้วงตับได้ทุกเรื่องในกรณีเร่งด่วนแล้วค่อยรายงานให้ศาลทราบภายหลัง ด้าน”วิษณุ” เบรกสปท.ชงใช้อำนาจมาตรา 44 คลอดกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 36 ฉบับ ระบุตั้งแต่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ รัฐบาลระมัดระวังเรื่องนี้มาก ชี้ไม่จำเป็นต้องเร่ง ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะต่อไปจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเข้ามารับไม้ต่อ เรืองไกรยื่นแล้วสอบลึกซื้อเรือดำน้ำจีนส่อไม่ใช่จีทูจี และใช้งบประมาณไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ทร.โต้ทันควันยันดำเนินการทุกขั้นตอนถูกต้อง

บิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะประชุมกพช.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยกล่าวระหว่างการประชุมว่า วันนี้จะมารับฟังที่ประชุมในประเด็นต่างๆ ที่ได้พูดคุยกับคณะกรรมการเบื้องต้นมาแล้ว รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการทำงานและเรื่องที่ยังหยุดชะงัก ซึ่งจะต้องเตรียมการให้พร้อมตั้งแต่บัดนี้ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุม นายกฯ เยี่ยมชมพร้อมให้กำลังใจตัวแทนประเทศไทยที่จะไปร่วมงานงาน EXPO 2017 ASTANA ที่กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน วันที่ 10 มิ.ย. ถึง 10 ก.ย. พร้อมชมการนำเสนอนิทรรศการผ่านแว่น Virtural Reality (วีอาร์) ซึ่งเป็นแว่นสามมิติแสดงภาพเสมือนจริง

ย้ำภาคใต้ต้องมีโรงผลิตไฟฟ้า

จากนั้น เวลา 15.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุม ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญด้านพลังงาน ในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง สำหรับเกณฑ์มาตรการรองรับกรณีหากมีปัญหาเรื่องพลังงานแก๊ส ในช่วงปี 2564-2566 ที่จะอยู่ระหว่างเราจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565 ดังนั้นในช่วงนี้ถ้าเราไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนได้ ก็จะเกิดปัญหาในช่วงนั้น จึงต้อง เตรียมมาตรการองรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปสร้างอะไรที่มีปัญหาอยู่ ก็แล้วแต่ แต่ต้องหาวิธีการอื่น

นายกฯกล่าวว่าถ้าใช้แก๊สแทนก็ต้องหาพื้นที่เพื่อจะสร้างโรงงานผลิตแก๊ส และดูความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จะหาแก๊สจากที่ไหนมาใช้ ต้องเจรจาซื้อจากเพื่อนบ้าน หรือจะนำเข้า หรือจะทำที่เก็บเพิ่มเติมนอกจากที่มาบตาพุด อย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคใต้ประเมินปริมาณการใช้แก๊สแล้ว กำลังผลิตในพื้นที่ยังไม่พอ ต้องส่งจากภาคกลาง อย่างไรก็ต้องสร้างโรงงานผลิต แต่จะสร้างแบบไหนต้องไปว่ากันอีกที

วิษณุเบรกสปท.ชงม.44-36 กม.

วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เสนอให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 36 ฉบับ ว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและไม่ทราบว่าไปเสนอกันที่ไหน ถ้าเสนอมารัฐบาลจะมีแนวพิจารณาในการคิดเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม อุตส่าห์ออกกฎหมายมาตรา 44 ไปแล้ว และขมวดท้ายว่าให้จัดการออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ขึ้นมาเพื่อจะให้หมดสภาพความเป็นมาตรา 44 เพราะฉะนั้นอย่าคิดอะไรให้สวนกลับกัน

นายวิษณุกล่าวว่า เชื่อว่า สปท.คงมองว่าล่าช้าและไม่ทัน แต่คิดว่าได้เท่าไรก็เท่านั้น ไม่เห็นต้องทำไปทั้งหมด เลือกเอาแต่ที่สำคัญ อย่าคิดทำอะไรมากเกินไป ทั้งนี้ ตนเห็นใจที่มีเจตนาดี เพราะคิดและมีผลงาน จึงต้องการผลักดันให้เสร็จเหมือนส่งขึ้นฝั่ง แต่ในแง่รัฐบาลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 หรือตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเราพยายามระมัดระวังการใช้มาตรา 44 ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้ แต่เมื่อใช้แล้วก็จะขมวดท้ายว่าไปทำให้เป็นพ.ร.บ.โดยเร็ว เพื่อให้อยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ตนได้นั่งไล่สำรวจคำสั่งและประกาศทั้งที่ใช้มาตรา 44 และไม่ใช้มาตรา 44 มีทั้งเลิกใช้แล้วและเตรียมจะยกเลิกก็มี แล้วยังจะให้มาเพิ่มอีก 33-36 ฉบับหรือ ทั้งนี้ เอาไว้หารือกันอีกครั้ง

ถ้าเสนอมาจะให้กก.ปฏิรูปรับไป

เมื่อถามว่า สปท.อ้างว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปและต้องใช้ความรวดเร็ว รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดมีการปฏิรูป 11 ด้าน และภายใน 2-3 เดือนนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเมื่อตั้งแล้วออกมาจะเป็นผู้กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิรูปว่าจะทำอะไร ในวันนี้เป็นการทำไปพลางก่อน แล้วถ้าทำ 33-36 ฉบับนั้นให้เสร็จ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาจะให้เขาทำอะไรก็เหลือไว้ให้เขาทำบ้าง เพราะที่เขาจะทำกับ 33-36 ฉบับก็อาจไม่ตรงกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเสนอมาก็เสนอมาได้ และรัฐบาลจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะมีขึ้น 2-3 เดือนนี้ เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีได้หารือถึงปัญหานี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีแต่ตนไปขอคำหารือจากนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุกล่าวถึงความคืบหน้าการเชิญตัวแทนสื่อมวลชนมาพูดคุยหารือเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ยังไม่ได้นัดหมายตัวแทนสื่อมวลชนเพื่อพูดคุยหารือร่วมกัน เพราะสปท.ยังไม่ส่งร่างกฎหมายมาที่รัฐบาล จะทำก่อนก็คงไม่เหมาะสม นอกจากนี้ สปท.ยังไม่ได้นัดหมายว่าจะส่งร่างกฎหมายมาเมื่อใด ตามขั้นตอนแล้วประธานสปท.จะส่งมาที่นายกฯ จากนั้นนายกฯ จะส่งให้ตนได้ดำเนินการ และเมื่อมาถึงนายกฯ แล้วขั้นตอนจะไม่ล่าช้า

มีชัยจ่อส่งกม.ลูกฉบับ 3 ให้สนช.

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า สาระสำคัญไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเมื่อวันที่ 8 พ.ค.มีตัวแทนศาลอาญามาให้ข้อมูล มีข้อเสนอเพิ่มเข้ามาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในลักษณะไต่สวนคือการเขียนให้ละเอียด ไม่ให้แพ้ชนะด้วยกลวิธี ซึ่งหมายความว่าถ้าจะแพ้หรือชนะก็ให้ดูข้อเท็จจริงในข้อกฎหมาย ไม่ใช่ดูกระบวนพิจารณาคำตกหล่นแล้วแพ้ชนะกัน เช่น ให้ยื่นคำให้การภายใน 7 วัน แต่ไม่ได้ยื่นภายใน 7 วันแล้วแพ้ไป ซึ่งประเด็นนี้น่าจะดี โดยกรธ.จะพิจารณาทบทวน และเมื่อเสร็จจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป โดยจะเป็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่กรธ.ส่งไปให้

เมื่อถามว่าในโอกาสครบ 3 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประเมินการทำงานอย่างไร นายมีชัยในฐานะที่ปรึกษาคสช.กล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น โดยระบุว่า “ไม่เหมาะสมที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะอยู่ใน คสช. ควรให้คนอื่นเป็นคนมองดีกว่า”

สปท.ถกร่างพรบ.ไซเบอร์

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน เรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกต ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของกมธ.ด้านการสื่อสารมวลชน ที่มีพล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน มีสาระสำคัญคือ การวางมาตรการรับมือ และป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต การสื่อสาร โทรคมนาคมและดาวเทียม หากเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อระบบดังกล่าว

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกมธ. ชี้แจงว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ สาธารณูปโภค ดาวเทียม กมธ.จึงศึกษาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมนำร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.มาพิจารณา และมีข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไข เช่น การแก้ไขคำจำกัดความของไซเบอร์ให้กว้างขวาง ครอบคลุมความมั่นคงของชาติในทุกมิติ ทั้งด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภค ระบบกิจการสาธารณะ เช่น ระบบขนส่ง ถือเป็นเครือข่ายระดับประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ดันตั้งกปช.-ให้นายกฯ คุมเอง

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังเสนอแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) จากเดิมให้รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรมว.กลาโหม รมว.ดีอี เป็นรองประธาน เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน การให้นายกฯ เป็นประธานกปช. เพื่อให้กำหนดทิศทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ เพราะนายกฯมีอำนาจกำกับดูแลทุกกระทรวง ทบวง กรม ขณะที่สำนักงานกปช. ที่ร่างเดิมมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แก้ไข ให้เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม ขึ้นตรงต่อนายกฯ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนสั่งการรวดเร็ว โดยกปช.มีอำนาจกำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สามารถสั่งการหน่วยงานราชการ เอกชน ให้กระทำการหรือยุติกระทำการได้ รวมทั้งมีอำนาจการเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนได้ เมื่อเกิดเหตุที่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์

“ส่วนข้อกังวลของภาครัฐและเอกชนที่เกรงว่า การเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของ กปช. จะกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น ได้แก้ไขให้การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายในคำสั่งศาล ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการอนุมัติของกปช.ดำเนินการเข้าถึงข้อมูลได้ และรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ส่วนบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก้ไขให้มีโทษทางอาญาโดยเจตนาด้วย จากเดิมมีแค่โทษทางวินัยแก่หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ปฏิบัติตามร่างพ.ร.บ. และเสนอให้รัฐบาลเสนอร่างดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ประกาศใช้โดยเร็ว แต่ระหว่างนี้กมธ.เสนอให้นายกฯใช้อำนาจ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตั้ง กปช.ขึ้นมาทำหน้าที่ก่อน และเมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ ให้โอนกิจการทั้งปวงของกปช.ที่ตั้งขึ้นไปเป็นของกปช.ชุดใหม่ เสมือนเป็นการทำงานของกปช.” พล.ต.ต. พิสิษฐ์กล่าว

อภิปรายนิดหน่อยแต่ผ่านฉลุย

จากนั้น สมาชิกอภิปราย ส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องการกำหนดคำนิยาม “ไซเบอร์” ที่กว้างเกินไป และการมีอำนาจสั่งการให้เอกชนต้องปฏิบัติตาม อาจก้าวล่วงถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวว่า กมธ.กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “ไซเบอร์” ไว้กว้างเกินไป โดยเฉพาะมาตรา 44(3) เรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์สื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือดำเนินการตามมาตรการเหมาะสม แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากศาล ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ที่ให้กปช.ดำเนินการไปก่อนแล้วค่อยรายงานให้ศาลทราบโดยเร็วนั้น หมายความว่า นอกจากจะให้มีอำนาจดักฟังได้แล้ว ยังให้ดำเนินการตามมาตรการเหมาะสมได้อีก ซึ่งน่าห่วงว่า การที่กปช.มีอำนาจสั่งการครอบคลุมถึงเอกชนได้ด้วยนั้น จะมีหลักประกันอย่างไรว่า อำนาจเหล่านี้จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จึงควรระบุให้ชัดเจนว่า อำนาจเหล่านี้จะไม่ก้าวล่วงไปถึงเนื้อหาในการแสดงออกของประชาชน

หลังจากสมาชิกสปท.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าว จากนั้นจะส่งรายงานให้ครม.และคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาต่อไป

พท.ยื่นสอบลึกจีทูจีหรือไม่

ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ สตง. ให้ตรวจสอบโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ว่ามีการใช้เงินแผ่นดินเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและมติครม.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ โดยมีนางชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 เป็นผู้รับเรื่อง

นายเรืองไกรกล่าวว่า ขอให้ สตง.ตรวจสอบเพิ่มเติมคือ จัดซื้อด้วยวิธีรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี จริงหรือไม่ เพราะบริษัทไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งทำสัญญากับกองทัพเรือในกรณีนี้ เคยเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลไทยมาก่อนในลักษณะข้อตกลงระหว่างกองทัพบกกับบริษัทผู้ขายโดยตรง ไม่ใช่กับรัฐบาล และยังมีปัญหาความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลโครงการดังกล่าวเกี่ยวกับตัวเลขการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท แตกต่างจากโครงการอื่น เช่น โครงการจัดหาสะพานยุทธวิธีสนับสนุนหน่วยทหารช่าง วงเงิน 577.50 ล้านบาท ที่เปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาลอย่างไม่ปิดบัง แต่โครงการจัดหาเรือดำน้ำไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบอย่างที่เคยปฏิบัติ

ใช้เงินขัดรธน.-ไม่มีวินัยการคลัง

นายเรืองไกรกล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวของครม.ยังเป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งจากการหาข้อมูลเรือดำน้ำในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จะพบข้อมูล 3 ชิ้น คือ 1.พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ไปประเทศจีนเรื่องเอฟ 26 จี 2.ข้อสั่งการนายกฯ ให้ทำเองขนาดเล็ก และ 3.เรื่องการวิจัยพัฒนาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม

“ผมสงสัยว่าข้อมูลที่ 3 นี้น่าจะเกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ โดยเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประวิตรทำหนังสือเสนอครม. เพื่อรับทราบในวันที่ 7 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้น การดำเนินโครงการนี้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย และหาก สตง.ไม่ดำเนินการอะไรภายใน 2 สัปดาห์นี้ ผมจะไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.เอาผิดครม.ทั้งคณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และรัฐธรรมนูญมาตรา 244 กรณีไม่ปฏิบัติตามหลักวินัยการเงินการคลัง” นายเรืองไกร กล่าว

ด้านนางชลาลัย กล่าวว่า สตง.ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และจะนำข้อมูลของนายเรืองไกร ไปประกอบการตรวจสอบด้วย ซึ่งในวันนี้ ผู้ตรวจสอบโครงการนี้จะสรุปผลตรวจสอบในเรื่องงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างให้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. รับทราบและพิจารณาว่าจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่ โดยจะแถลงผลอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้

ผู้ว่าฯ สตง.เตรียมสรุปเบื้องต้น

ด้านนายพิศิษฐ์กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ยื่นเรื่องถึงสตง.ให้สอบเชิงลึกปมซื้อเรือดำน้ำ เพราะข้องใจการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐหรือ จีทูจี และไม่พบงบกองทัพส่วนจัดซื้อว่า ต้องขอบคุณนายเรืองไกรที่มอบประเด็นให้และจะได้สอบเพิ่มเติมลึกลงไป ซึ่งข้อเสนอให้สอบเพิ่ม ไม่ได้มีผลต่อระยะเวลาในการทำงานมากนัก บางประเด็นก็ตอบไม่ยาก อย่างกรณีที่ระบุว่า ไม่ปรากฏในงบประมาณการจัดซื้อของกองทัพเรือ เราดูเอกสารการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนมาก ตนยังมีเวลาอีกอาทิตย์หนึ่ง

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า เย็นวันเดียวกันนี้จะรับฟังรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้น จากข้าราชการระดับสูงของ สตง.ว่ามีอะไรที่ต้องตรวจสอบขยายผลหรือไม่ คาดว่าจะสรุปในเบื้องต้น และเปิดเผยรายงานได้ตามกำหนด 2 สัปดาห์ที่นัดหมายไว้ คือ ไม่เกินสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติก่อนการแถลงผล จะแจ้งผลการสอบไปยังผบ.ทร. เพื่อทราบถึงข้อสังเกตที่มีการตรวจสอบ โดยจะประสานผบ.ทร. ภายในสัปดาห์นี้

เตรียมนัดผบ.ทร.แจ้งผลสอบ

“ผมได้กำชับไว้แล้วว่าถ้าตรวจพบนัยสำคัญมากๆ ก็ให้รีบแจ้ง แต่ขอฟังรายงานเย็นนี้ก่อนว่ามีนัยสำคัญอะไรมากหรือไม่ ถ้ามีมาก ผมคงต้องเร่งนัดผบ.ทร. เพื่อชี้แจงประเด็นที่สอบพบ เป็นการแจ้งข้อสังเกตจากการตรวจสอบเอกสารผูกพันที่นำเสนอ ครม.” นายพิศิษฐ์กล่าว

ผู้ว่าฯสตง.กล่าวว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการทำสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำส่อขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ในฐานะผู้ตรวจสอบมีความเห็นในเบื้องต้นได้ แต่ไม่ฟันธงว่า ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสภา เพราะในอดีต การซื้อขายโดยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบรัฐต่อรัฐหลายครั้งไม่เห็นนำเรื่องเข้าสภา นอกจากนี้ คำว่ารัฐต่อรัฐ ในขณะนี้ไม่ได้ทำให้เกิดสนธิสัญญาหรือก่อให้เกิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หรือข้อผูกมัดที่ปฏิบัติแล้วกระทบต่ออธิปไตยของไทย เพียงแต่รัฐบาลเข้ามารับรู้ในขบวนการจัดหาเพื่อไม่ให้บิดพลิ้ว เมื่อเวลาสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันการรับรู้ของรัฐบาล จะทำให้มั่นใจว่าไม่ปรากฏเรื่องคนกลางที่เป็นนายหน้า

ทร.โต้ทันที-เรือดำน้ำจีทูจีจริง

ด้านพล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ แถลงชี้แจงกรณีนายเรืองไกร ยื่นหนังสือถึง สตง. ตรวจสอบเชิงลึกในโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่า กองทัพเรือได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและมีการตรวจรับรองเอกสารของเจ้าหน้าที่ (Notary Public) แล้วว่าบริษัท ไชน่า ชิป บิลดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และหน่วยงานรัฐ State Administration of Science, Technology and Industry for National Defence สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้บริษัทดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลกับรัฐบาล อย่างถูกต้องแล้ว

ส่วนที่ระบุว่าโครงการจัดหาเรือดำน้ำใช้งบประมาณของกองทัพเรือ แต่ในงบกองทัพเรือปีงบประมาณ 2560 ที่เปิดเผยไว้มียอดรวมอยู่ 41,115 ล้านบาท กลับไม่พบว่าส่วนใดคืองบจัดหาเรือดำน้ำ แหล่งเงินที่ใช้จัดหาเรือดำน้ำมาจากที่ใด และจำนวนเงินที่ตั้งงบผูกพันไว้แต่ละปีมีจำนวนเท่าใด รวมเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาดแล้วหรือไม่ พล.ร.อ. จุมพล กล่าวว่า กองทัพเรือขอยืนยันว่า งบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ ได้รับการจัดสรรและบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และได้ชี้แจงแสดงเอกสารรายละเอียดด้านงบประมาณให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน อย่างครบถ้วนทุกประการแล้ว

หมอเปรมผิดจริง-มท.สั่งปลด

รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือถึง ผวจ.ขอนแก่น สั่งปลด นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ออกจากนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น แล้ว

คำสั่งดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการหลังจากสรุปผลการสอบสวนพบมูลความผิดจริง กรณีสั่งจับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แก้ผ้าและกักขังไว้ในห้องพัก ภายในสำนักงานเทศบาลเมืองบ้านไผ่ เนื่องจากไม่พอใจที่นำเสนอภาพการสู่ขอเด็กสาวนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แต่งงาน ซึ่งหลังจากนี้ทางจังหวัดขอนแก่นจะต้องดำเนินตามหนังสือสั่งการ เพื่อแจ้งให้นพ.เปรมศักดิ์รับทราบต่อไป

สำหรับระหว่างการสอบสวน นพ.เปรมศักดิ์ ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ ตามคำสั่งตามมาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.

ระทึกเสียงบึ้มสนามหลวงเจ็บ2

เมื่อเวลา 20.30 น.วันที่ 15 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงคราม ได้รับแจ้งเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ ย่านสนามหลวง กทม. อานุภาพของแรงระเบิด ส่งผลให้หญิงสาวที่อยู่บริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือจนปลอดภัยแล้ว พร้อมประสานเจ้าหน้าที่อีโอดีและกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว พร้อมกันพื้นที่โดยรอบ ห้ามไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปบริเวณดังกล่าว

จากการตรวจสอบทราบชื่อผู้บาดเจ็บคือ น.ส.กัญชนา บุญชีพ ได้รับบาดเจ็บที่ข้อพับด้านขวา และน.ส.จันทร์เพ็ญ วุฒิเอกไพบูลย์ ได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้าย เป็นรอย 2 จุด

หลังเกิดเหตุ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เดินทางเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ กล่าวว่า จากการตรวจสอบในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นจุดบริการที่ให้ประชาชนรอรถประจำทาง ไม่พบว่ามีวัตถุระเบิดแต่อย่างใด โดยไม่พบดินปืนหรือวัตถุที่เป็นส่วนประกอบของระเบิด เบื้องต้นพบเพียงท่อประปาที่ทำเป็นขาป้ายประชาสัมพันธ์บอกทาง ยืนยันว่าไม่ใช่เหตุระเบิดอย่างแน่นอน ส่วนสาเหตุน่าจะเกิดจากแก๊สแรงดันที่อยู่ในท่อเนื่องจากท่อดังกล่าวถูกปิดหัวปิดท้าย จึงทำให้แรงดันแล้วระเบิดขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงอีกครั้ง ก่อนดำเนินการต่อไป

ด้านน.ส.กัญชนา เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุเดินมารอขึ้นรถเมล์บริเวณจุดเกิดเหตุ ทุกอย่างก็ปกติ แต่จู่ๆ มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น ตามมาด้วยควันสีขาว ตกใจมากก่อนรู้สึกตัวอีกครั้งว่า บาดเจ็บบริเวณขาและล้มลงไป จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณสนามหลวงเข้ามาช่วยเหลือและ พาไปปฐมพยาบาล ส่วนหญิงสาวที่บาดเจ็บอีกคน ได้เดินทางกลับบ้านไปแล้ว

ล่าสุด เจ้าหน้าที่อีโอดี ตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบเขม่าดินปืนในวัตถุที่ตรวจพบ และลักษณะของท่อพีวีซีที่พบ มีคราบสี คล้ายกับท่อพีวีซีที่แขวนป้าย ซึ่งมีสภาพหัก สันนิษฐานเบื้องต้นว่าท่อพีวีซีที่แขวนป้ายหักตกลงมา ทำให้มีเสียงดัง พยานได้ยินเสียงจึงเข้าใจว่าเป็นเสียงระเบิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน