หมอธีระวัฒน์ ห่วงไวรัสโคโรนา หยุดไม่อยู่หลังพบ 3 คนขับรถป่วย ชี้แยกคนป่วยยาก!

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ภายหลังจากการพบผู้ติดเชื้อวงจำกัดภายในประเทศ มีผู้ขับรถสาธารณะติดเชื้อแล้ว 3 ราย

โดยระบุว่า การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคปอดอักเสบอู่ฮั่น ซึ่งล่าสุดพบว่ามีคนขับรถโดยสารสาธารณะ ทั้งแท็กซี่และรถทัวร์ในประเทศไทยติดเชื้อดังกล่าว ว่า หลังจากมีผู้ติดเชื้อจากประเทศจีน เดินทางเข้ามาในประเทศ แม้จะมีการปิดเมืองบางส่วนแต่ก็ไม่ทั้งหมด และถ้าจะเริ่มมีอาการหรือมีปอดบวมแลัวก็ตามในประเทศไทย หวังว่าจะอยู่ที่ช่วงเวลานี้ โดยเพิ่มระยะเวลาจนเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ และหวังว่าจะสามารถหน่วงเหนี่ยวการระบาดของโรคให้ช้าลงไปบ้าง

แต่สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ก็คือ ขณะนี้การแพร่เป็นการติดจากคนไทยไปยังคนไทยด้วยกันแล้ว ดังนั้น การป้องกันการติดและการแพร่กระจายในรถโดยสารสาธารณะทุกชนิด ควรต้องกระทำในทุกพื้นที่และคำแนะนำก็คือ

1 จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครมีความโน้มเอียงที่จะติดเชื้อและแพร่ จะเป็นคนไทยเองหรือต่างชาติก็ตาม

2 จะไม่สามารถแยกแยะได้จากลักษณะท่าทาง ได้อย่างชัดเจนนัก ทั้งนี้เนื่องจาก ทั้งผู้ที่ติดเชื้อที่สามารถแพร่ได้เยอะ (จากการที่ปอดมีการอักเสบอยู่) แต่ยังดูปกติ เดินไปเดินมาได้ ไม่มีน้ำมูกไหล จะมีไอหรือจามหรือไม่ก็ตาม และผู้ที่ติดเชื้อที่แพร่ได้น้อยโดยที่ปอดยังไม่อักเสบอยู่ทั้งสองกลุ่มนี้ดูเหมือนคนธรรมดา

3 ผู้ที่ขับรถโดยสารต้องมีการป้องกันตัวมีหน้ากากปิดปากปิดจมูกถ้ามีที่ครอบตาแบบแว่นตาถูกๆที่กันลมได้ยิ่งดีและหมั่นล้างมือบ่อยๆ

4 ผู้โดยสารต้องมีการป้องกันตัวแบบเดียวกันและต้องไม่ลืมว่าละอองฝอยที่กระเด็นออกมาเวลาพูดจากผู้โดยสารที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้ และเวลาไอจามจะติดอยู่ที่ภายในตัวรถ และเชื้อเหล่านี้จะอยู่ได้นานหลายชั่วโมงในอุณหภูมิ 20 ถึง 40 องศาได้ในความชื้นสัมพัทธ์ ในระดับที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไปก็คือระดับที่มนุษย์พอใจ ดังนั้นต้องล้างมือบ่อยๆ ด้วย

5 ถึงเวลาที่ทางการจะต้องออกมาตรฐานในการฆ่าเชื้อในตัวรถในห้องผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารชนิดใด รถประจำทางสาธารณะ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ทั้งนี้นึกถึงภาพสายการบินในการทำความสะอาดในตัวเครื่องบินในเวลาอันรวดเร็ว

หน่วยงานทั้งราชการและเอกชนน่าจะให้คำตอบข้อนี้ได้รวดเร็วมากและมีการได้ใช้ในเร็วๆนี้

การที่ติดแล้วจะพัฒนาถึงขั้นปอดบวมอย่างรุนแรง หายใจไม่ได้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่ได้อยู่ที่จะต้องมีโรคประจำตัวหรือสูงวัยเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่แพร่ออกมาและระยะเวลาที่สัมผัสกับเชื้อที่ออกมาด้วย เชื้อที่แพร่ออกมามาก ได้รับเข้าไปมากผลกระทบก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัวแม้จะเป็นคนปกติก็ตาม”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน