สธ.แจงผลตรวจแล็บยะลา ทำไมพลาดถึง 40 ราย มาจากตัว Negative Control ที่ต้องได้ผลลบเสมอ แต่กลับเกิดผลบวก ทำให้ต้องตรวจใหม่ พรุ่งนี้รู้ผลรอบ 3

วันที่ 5 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลการตรวจห้องปฏิบัติ (แล็บ) ที่ จ.ยะลา 40 ราย ที่ต้องมีการตรวจซ้ำว่า

เดิมประเทศไทยมีห้องแล็บตรวจโควิด-19 ได้ 2 แห่ง คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่โรคมีการระบาดมากขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพการตรวจแล็บให้มากขึ้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะนี้มีเครือข่ายห้องแล็บมาตรฐานแล้วมากกว่า 150 แห่ง ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่างๆ

การตรวจแล็บที่เป็นมาตรฐานคือ ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แต่จุดอ่อนคือ มีขั้นตอนซับซ้อน ผู้ทำต้องมีความรู้ความเข้าใจในการตรวจ เครื่องมือมีราคาพอสมควร และต้องมีระบบความปลอดภัยทางชีวนิรภัย ช่วงแรกๆ การตรวจจะยืนยัน 2 แล็บพร้อมกันถึงจะยืนยันติดเชื้อนี้

นพ.โอภาสกล่าวว่า หลังจากที่กรมวิทย์สร้างเครือข่ายแล็บขึ้น แล็บที่จะตรวจหาเชื้อได้ จะต้องมี 1.นักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจการตรวจ RT-PCR 2.มีเครื่องตรวจ RT-PCR และระบบชีวนิรภัย 3.ผู้ตรวจผ่านการทดสอบความชำนาญ โดยกรมฯ จะส่งตัวอย่างให้ทดสอบ ต้องทำถูกแม่นยำ 100% ถึงผ่าน 4.ต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และ 5.รายงานข้อมูลตามกรมควบคุมโรคกำหนด ซึ่งขณะนี้แล็บทั้ง 150 ห้อง ตรวจตัวอย่างไปแล้ว 227,860 ตัวอย่าง และแนวโน้มการตรวจเพิ่มขึ้นเรื่อย สัปดาห์สุดท้ายที่ผ่านมา ตรวจไปสัปดาห์ละ 6 พันตัวอย่าง มากกว่าตรวจเมื่อต้น เม.ย.ถึง 2 เท่า

นพ.โอภาสกล่าวว่า แล็บที่จ.ยะลา ก็ถือว่าทำตามมาตรฐานและผ่านเกณฑ์ ที่ผ่านมาตรวจให้บริการประชาชนชาวยะลาไปแล้วกว่า 4 พันตัวอย่างใน 1 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจ RT-PCR ในห้องแล็บ จะมีตัวควบคุมมาตรฐานหรือตัวเปรียบเทียบ (ตัวคอนโทรล) 2 ตัวคู่กันเสมอ คือ 1.Positive Control คือ ตัวทดสอบนั้นเวลาตรวจต้องได้ผลบวกเสมอ เพราะเอาตัวอย่างที่มีเชื้อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบ

และ 2.Negative Control ส่วนใหญ่จะใช้น้ำเปล่า เพราะตรวจอย่างไรก็ไม่มีเชื้อ ซึ่งกรณีที่ จ.ยะลา ตรวจแล้วพบมีปัญหา คือ ตัว Negative Control หรือตัวน้ำเปล่า เมื่อตรวจปรากฏว่าเจอเชื้อ แสดงว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องหยุดตรวจและรายงานผู้เกี่ยวข้อง คือ จังหวัดรับทราบ และหาสาเหตุต่อไป

“ในทางห้องปฏิบัติการพบว่า ความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาด (เออเรอร์) เกิดขึ้นได้เสมอ โดยความผิดพลาดอาจเกิดได้ 3 อย่าง คือ 1.จากมนุษย์ 2.เครื่องมือ และ 3.ระบบ ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นต้องหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งห้องแล็บยะลาก็ตรวจจับได้ว่า เกิดความผิดปกติขึ้น ดังนั้น สิ่งที่แล็บยะลาทำถือเป็นมาตรฐาน เป็นขั้นตอนปกติที่ทำ มาตรฐานห้องปฏิบัติการไม่ได้แปลว่าตรวจ 100 ครั้งถูก 100 ครั้ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ตรวจถูกต้อง 100% แต่การถูกต้องต้องให้แม่นยำมากที่สุด และสำคัญคือตรวจแล้วรู้ว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น สามารถตรวจสอบตรวจจับได้ และแก้ไขตามมาตรฐานที่กำหนด” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า การตรวจแล็บไม่ได้แปลว่า ต้องได้ผลซ้ำเดิมทุกครั้งไป มีโอกาสเออเรอร์ได้เสมอ แม้แต่แล็บมาตรฐานอย่างจุฬาฯ และกรมวิทย์ หลายครั้งก็มีผลตรวจไม่ตรงกัน ต้องเอาตัวอย่างมาตรวจซ้ำ หรือหาแล็บอีกแห่งช่วยยืนยัน ก็จะทำให้สรุปได้ว่าตัวอย่างนั้นพบเชื้อหรือไม่ และการเอาผลแล็บไปแปลผลก็ต้องดูวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วย หรือเฝ้าระวังเชิงรุกว่าไม่มีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการอยู่ในชุมชน และต้องคำนึงถึงธรรมชาติการเกิดโรค และสถานการณ์การระบาด เช่น การเฝ้าระวังเชิงรุก จ.ยะลา ปกติการตรวจจะมีโอกาสเจอผู้ป่วยไม่เกิน 5% เมื่อพบความผิดปกติก็ต้องสอบทานกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกรมวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ลงไปสนับสนุนเพื่อช่วยห้องแล็บยะลาดูว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดผิดปกติตรงไหน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคตอีก

“การเก็บตัวอย่างเชิงรุกที่ จ.ยะลา เป็นการเก็บจากจมูกและคอ และตรวจด้วยวิธี RT-PCR ความคลาดเคลื่อนเกิดได้เสมอ แต่สำคัญคือตรวจจับได้และรายงาน เมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนนำตัวอย่างมาส่งตรวจแล็บที่ 2 ที่ใกล้ที่สุดคือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา ซึ่งออกมาเป็นลบ เกิดความขัดแย้งกัน แนวปฏิบัติคือมีการตรวจซ้ำ ซึ่งได้นำมาส่งที่แล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ระหว่างนำส่งที่ส่วนกลางอยู่ คาดว่าผลออกไม่เกินวันที่ 6 พ.ค. คงนำเรียนให้ทราบ ส่วนความคลาดเคลื่อนไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ และไม่มีปัญหาต่อการควบคุมโรค เพราะถ้าตัวอย่างสงสัยจะเป็นบวก ก็ลงไปควบคุมโรคได้เลย เพราะหากเกิดเป็นผลบวกจริงแล้วมาควบคุมโรคจะช้าเกินไป แต่การตรวจแล็บทวนซ้ำก็คงต้องรีบดำเนินการ ซึ่งการตรวจใหม่ใช้ทั้งตัวอย่างเดิมมาตรวจซ้ำ และเก็บตัวอย่างใหม่” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าต้องตรวจคนใกล้ชิด 40 คนยะลาด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เรายังไม่พิสูจน์ว่า 40 คนนี้เป็นผู้ป่วยหรือไม่ หลักปฏิบัติยังไม่จำเป็นต้องตรวจคนใกล้ชิด แต่ต้องเฝ้าระวัง ไปไหนมาไหนอิสระไม่ได้ เมื่อ 40 คนนี้เป็นบวก คนสัมผัสใกล้ชิดต้องตรวจ แต่การตรวจเชิงรุก คือ ลงไปในพื้นที่ และซักประวัติดูว่าใครจำเป็นต้องตรวจไหม เชื่อว่าคนใกล้ชิดส่วนหนึ่งก็ได้รับการตรวจไปแล้ว

อ่านข่าว เผยผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ยะลาติดโควิด 40 ราย ชี้ผลบวกลวง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน