วิกฤตค่ายรถ ยอดผลิตตกต่ำสุดรอบ 30 ปี โชว์รูมไร้คนซื้อ ยอดผลิตรถยนต์เดือนเม.ย.2563 มีทั้งสิ้น 24,711 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 83.55%

วันที่ 20 พ.ค. นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกุล่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือนเม.ย.2563 มีทั้งสิ้น 24,711 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 83.55% เป็นการลดลงทั้งจากการผลิตเพื่อส่งออกที่ผลิตได้ 13,713 คัน ลดลง 81.76% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศผลิตได้ 10,988 คัน ลดลง 85.35%

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ซึ่งกำลังการผลิตในเดือนเม.ย.เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปี ใกล้เคียงกับปี 2533 ที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์ 304,000 คันต่อปี

โดยสอดคล้องกับยอดขายในประเทศอยู่ที่ 30,109 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 65.02% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนอยู่บ้านและไม่อยากใช้เงิน เพราะรายได้และความเชื่อมั่นลดลง และยอดการส่งออกอยู่ที่ 20,326 คัน ลดลง 69.71% ซึ่งลดลงในทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย 65.15% อยู่ที่ 12,389.07 ล้านบาท

“ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าเป้าหมายยอดผลิตปีนี้ที่คาดไว้จะผลิตได้ 1 ล้านคัน จะเป็นไปได้หรือไม่ เห็นได้จากโชว์รูมรถยนต์ที่ไม่มีคนเข้าไปซื้อเลย แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลาย แต่ก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการระบาดกลับมารอบสองหรือไม่ เหมือนต่างประเทศที่บางประเทศดูจะคลี่คลายและปลดล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ก็เกิดการระบาดกลับมาระลอกสองอีก จึงฟันธงไม่ได้ว่ายอดผลิตปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ว่ายืดเยื้อแค่ไหนทั้งในและต่างประเทศที่ไทยมีสัดส่วนส่งออกรถยนต์ถึง 55%”

เบื้องต้นบอกได้เพียงว่ากรณีเลวร้ายที่สุดกำลังการผลิตก็น่าจะอยู่ที่ 1 ล้านคัน ถ้ายืดเยื้อนานกว่าที่ประเมินไว้เดือนมิ.ย.2563 และรุนแรงถึงขั้นปิดทุกโรงงานก็ต้องประเมินใหม่อีกครั้ง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.2563 อยู่ที่ระดับ 75.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 88.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2552 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ

ทั้งนี้ ส่งผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคลดลงโดยเฉพาะสินค้าคงทน ผู้ประกอบการบางรายจึงชะลอการผลิต การลงทุน และลดการจ้างงาน จนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อในภาคเกษตร

“ส.อ.ท.ประเมินดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนนี้จะลดลงมากอยู่แล้วเพราะเป็นเดือนที่มีการล็อกดาวน์ทั้งเดือน แต่ยอมรับว่าดัชนีฯ เดือนเม.ย.ลดลงมากจนน่าใจหายเกือบ 13 จุด อยู่ที่ระดับ 75.9 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและยังเป็นการลดลงต่ำสุดในผู้ประกอบการทุกขนาดกิจการ จึงหวังว่าเดือนพ.ค.จะปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเริ่มคลี่คลาย”

โดยผู้ประกอบการ 69.5% ยังมีความกังวลมากเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง ทำให้ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 88.8 ลดลงจากครั้งก่อนอยู่ที่ 96.0 ต่ำสุดตั้งแต่เดือนพ.ค.2552 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการประกอบกิจการในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะบอตัวลงภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อใด

นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับแนวโน้มการปิดกิจการนั้น มีคณะกรรมการโควิด-19 พิจารณามาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่เป็นปัญหาหลักของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันนี้(20 พ.ค.2563) เห็นว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% มาอยู่ที่ 0.25% เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ภาคเอกชนกลับมาสู่กระบวนการผลิตในต้นทุนที่ถูกลง ลดค่าใช้จ่ายได้ในภาวะวิกฤตที่ค่อนข้างจะยืดยาวและไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน