ไทยชนะ จ่อเปิดกลุ่มใหม่ ใน 1-2 วันนี้ ทั้งราชการ-ออฟฟิศ-ขนส่ง ชี้หน่วยงานราชการควรมีจุดเช็กอินย่อยแบบห้าง ยันข้อมูลเป็นความลับ ต้องขออนุญาต

วันที่ 20 พ.ค. นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ว่า ขณะนี้มีคนไทยใช้ “ไทยชนะ” มากกว่า 5 ล้านคนแล้ว แต่ละวันมีผู้เข้าใช้ใหม่เกือบ 2 ล้านคน มีการเช็กอินเช็กเอาท์มากกว่า 4 ล้านครั้ง มีร้านค้าลงทะเบียนมากกว่า 6.8 หมื่นร้านค้า การตอบรับระบบถือว่าดีมาก อัตราการการเช็กอินเช็กเอาท์อยู่ที่ประมาณ 76% เหลือ 20% กว่าที่ลืมเช็กเอาท์

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นพ.พลวรธน์ กล่าวว่า การใช้งานไทยชนะนั้น ร้านค้ากิจการต่างๆ ต้องลงทะเบียน ซึ่งร้านค้าจะต้องมีตัวตนจริง ดังนั้นต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบของกรมการปกครองก่อน จากนั้นจึงจะได้รับคิวอาร์โค้ดให้พิมพ์ออกมากี่อันก็ได้ เพื่อเอาไปแปะทางเข้าทางออก ช่วงแรกที่ผ่อนปรนในวันที่ 3 พ.ค. เราแนะนำเข้าออกทางเดียว เพื่อสะดวกต่อการจำกัดคน ดูแลประชาชนเข้าใช้บริการ พอมีระบบไทยชนะแล้ว สามารถเข้าออกได้หลายทาง แต่ยังต้องควบคุมดูแลบริเวณนั้นด้วย คนเข้าต้องใส่หน้ากาก จัดให้มีการเว้นระยะห่าง ไม่ให้เกิดการออจนแออัด

นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า ส่วนประชาชนที่จะสแกนคิวอาร์โค้ด แนะนำง่ายที่สุดใช้แอปพลิเคชั่นกล้องถ่ายรูปของโทรศัพท์ที่มากับเครื่อง เพราะบางแอพฯ กล้องจะล็อกฟังก์ชั่นอ่านคิวอาร์โค้ดไม่ได้ ซึ่งแอพฯ กล้องที่มากับเครื่อง พบว่าปัจจุบันมากกว่า 99.99% ใช้ได้หมด ยกเว้นโทรศัพท์แอนดรอย์เวอร์ชันต่ำกว่า 5.0 คือโทรศัพท์ที่ออกเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งรุ่นเหล่านี้ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะไม่ปลอดภัย เสี่ยงติดไวรัสในโทรศัพท์สูง เมื่อถ่ายคิวอาร์โค้ดแล้วจะมี Pop Up ขึ้น ก็แตะเข้าไปจะเข้าไปหน้าเช็กอิน หากเป็นครั้งแรกที่ใช้ก็ป้อนเบอร์โทรศัพท์เข้าไป โดยเบอร์จะถูกเครื่องโทรศัพท์ตัวเองจำไว้ พอสแกนเอาท์ หรือสแกนเข้าอีกร้าน จะไม่ถูกถามเบอร์โทร.แล้ว

“ที่สำคัญคือไม่เก็บข้อมูลใดๆ ไว้ ข้อมูลทั้งหมดจะส่งมาให้กรมควบคุมโรค (คร.) จะใช้ก็ต่อเมื่อมีโรคเกิดขึ้น หรือมีคนเป็นโรคเกิดขึ้น แล้วเอามาติดตาม ตอนนั้นจะประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อหาย้อนกลับว่าคนที่ติดโรคไปที่ไหนบ้าง ไปในที่เดียวกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนหรือไม่ สิ่งที่ลดความวุ่นวาย เช่น มีผู้ติดเชื้อไปห้างตอนเที่ยง แต่เราไปตอน 10 โมง กลับ 11 โมงครึ่ง พอรันระบบมา ถ้าเป็นแบบเก่าที่เขียนหรือกรอก เนื่องจากไม่มีการดับเบิลเช็กในระบบ ท่านต้องโดนเรียกและกรอกข้อมูลในกระดาษต้องเก็บไว้ 60 วัน เท่ากับเปิดเผยตัวตนไปหมด ทั้งชื่อ เบอร์โทร. เวลาเข้าออก แต่ระบบไทยชนะเป็นระบบปิด เมื่อสแกนปุ๊บข้อมูลท่านเป็นความลับ ไม่ถูกเอามาใช้ จนกว่าจะมีผู้ป่วยสัมผัสโรคในสถานที่เดียวและเวลาเดียวกับท่านที่กรมควบคุมโรคกำหนดถึงจะเรียกเอามาประมวลผล” นพ.พลวรรธน์กล่าว

นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า การประมวลผลค่อนข้างซับซ้อน เพราะสิ่งที่บันทึกคือเบอร์โทรศัพท์ ที่ผ่านมาการจะรู้ว่าเบอร์โทรศัพท์นี้เป็นของใครต้องผ่านอำนาจศาล ขอให้กสทช.อนุญาตเปิดเผยชื่อว่าเป็นการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องตามที่ขอไว้กับประชาชนตั้งแต่แรกหรือไม่ แต่ระบบนี้กรมควบคุมโรคจะสามารถประสานขอไปยัง กสทช.โดยตรงเปิดได้ โดยไม่ต้องผ่านอำนาจศาล และต้องขอเป็นรายๆ ไม่ได้ขอเป็นชุด เช่น คนนี้ติดโรคก็ต้องขอ กสทช.เพื่อเปิดระบบไทยชนะเพื่อดูว่า เบอร์นี้เป็นของคนนี้จริงหรือไม่ แล้วค่อยเอาเบอร์ของคนติดเชื้อนี้ไปรันในระบบไทยชนะว่ามีเบอร์ไหนที่ลงทะเบียนอยู่ใกล้บ้าง แล้วโทร.หรือส่งข้อความไปหา เพื่อให้ไปดำเนินการ

ส่วนกรณีใช้ชื่อตัวเองเปิดเบอร์ให้คนอื่นใช้ เช่น พ่อใช้ชื่อตัวเองเปิดเบอร์ให้ลูกเอาไปใช้ ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะแม้ตรวจสอบออกมาแล้วเบอร์เป็นชื่อของพ่อ แต่พ่อก็สามารถยืนยันได้ว่าตนเองไม่ได้ไป แต่ให้ลูกใช้ ก็ยังสามารถติดตามได้ ระบบไทยชนะเคารพความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ได้ไปล้วงตับล้วงข้อมูลอะไร

นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า ในการเช็กเอาท์จะมีส่วนให้เลือกการประเมินร้านค้าตาม 5 มาตรการหลักด้วย อยากขอความร่วมมือให้ช่วยประเมิน เพราะจะใช้เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการปลดล็อกระยะถัดไปที่จะได้เปิดทำการด้วย ตอนนี้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 คะแนน ถือว่าทุกคนทำได้ คะแนนสูงสุดตอนนี้ คือ คลินิกเสริมความงาม/คลินิกธรรมดา ได้ 4.93 คะแนน สำหรับประโยชน์ของไทยชนะ จะช่วยรู้ล่วงหน้าว่าร้านที่ค้นหามีที่ว่างหรือไม่ คะแนนเฉลี่ยเป็นอย่างไร

นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีข้อสรุปว่า ให้ส่วนราชการต่างๆ นำระบบไทยชนะเข้าไปใช้ด้วย แต่ส่วนราชการมีขนาดใหญ่ นอกจากให้สแกนคิวอาร์โค้ดในส่วนของทางเข้าแล้ว หน่วยงานย่อยๆ ของส่วนราชการนั้น ควรลงทะเบียนออกคิวอาร์โค้ดมา เพื่อให้ผู้มารับบริการสแกนเป็นจุดย่อยๆ เหมือนร้านค้าย่อยๆ ในห้าง เพื่อให้ทราบว่าเข้ามาแล้วไปตรงไหน อย่างกระทรวงสาธารณสุขมีขนาดใหญ่มาก มาห้องประชุมนี้ ก็ควรมีคิวอาร์โค้ดของห้องประชุมนี้แปะเพื่อสแกนเข้าด้วย ยิ่งมีจุดให้เช็กอินเยอะก็จะติดตามได้ละเอียดมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งดี

เมื่อถามถึงออฟฟิศ บริษัทต่างๆ หรือกิจการอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกสั่งปิดตั้งแต่แรก สามารถลงทะเบียนไทยชนะได้ด้วยหรือไม่ นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า นอกจากส่วนราชการที่จะเปิดให้ลงทะเบียนได้เพิ่ม จะมีกลุ่มออฟฟิศต่างๆ ขนส่งสาธารณะ และการไปใช้สิ่งอำนวยความสะอวกสาธารณะบางตัว ประปา ไฟฟ้า เป็นต้น จะเปิดระบบให้ลงทะเบียนใน 1-2 วันนี้ เราก็ขอความร่วมมือให้เริ่มลงทะเบียนได้เลย

นอกจากนี้ กำลังพัฒนาระบบให้เลือกได้ด้วยว่า อยู่กี่ชั่วโมงไม่ถือว่าเป็นหนาแน่น เพราะตอนนี้กำหนดไม่เกิน 2 ชั่วโมง ที่คิดว่าเป็นความหนาแน่นสูง แต่ออฟฟิศอาจให้ 8 ชั่วโมง ถึงแม้อยู่กัน 100 คนก็ไม่ถือว่าหนาแน่น เพราะก็มีมาตรการรองรับ ไม่ถือว่าอยู่นาน เพราะถ้าเป็นเกณฑ์ควบคุมโรคอยู่เกิน 2 ชั่วโมง ก็จะโดนว่าหนาแน่น

ถามต่อว่าขนส่งสาธารณะ คือกลุ่มรถไฟฟ้าหรือไม่ นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า รถไฟฟ้าคงยังไม่ได้เปิดลงทะเบียนในไทยชนะ เพราะค่อนข้างยาก คงเป็นการขนส่งข้ามเมืองก่อน เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกสั่งปิด แต่ที่เดินรถไม่ได้ เพราะมาตรการขอให้ลดงดการเดินทางข้ามเมือง ส่วนรถไฟฟ้าที่ยังทำยาก เพราะต้องเช็กอินเช็กเอาท์เยอะ เป็นอุปสรรคในการเดินทาง หากจะทำก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร จัดบริการได้ไหม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน