ทีมแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต เผยประวัติรักษา น้องยิ้ม น้องอิ่ม ชี้ปมทำสงสัยจนรู้โดนวางยาเรียกรับเงินบริจาค เผยค่ารักษาที่แท้จริง!

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 25 พ.ค.ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ห้องประชุม ชั้น 7 อาคารกิตติวัฒนา รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ พร้อมด้วย ดร.ขนิษฐา บูรณพันศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีของน้องอมยิ้ม และ น้องอิ่มบุญ ที่เข้ามารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาล

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวว่า น้องอิ่มบุญ มาที่รพ.ครั้งแรก เข้ารักษาตัววันที่ 13 -23 มกราคม 2563 ในหอผู้ป่วยพิเศษ อาการที่น้องมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือด จากการซักประวัติแม่ปุ๊ก คือเมื่อ 10 วันก่อน น้องมีการการอาเจียนเป็นเลือด หลังจากกินปลาหมึกย่าง จึงต้องเข้ารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อน้องเข้ามา ก็ซักประวัติตรวจเพิ่มเติม และส่องกล้องหาสาเหตุที่อาเจียนออกมาเป็นเลือดสีดำ หลอดอาหาร กระเพราะอาหาร พบมีการอักเสบของเยื่อบุกระเพราะอาหาร

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวต่อว่า น้องได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น สามารถรับประทานอาหารได้ และอาการดีขึ้น จนกระทั่งวันที่ 23 ม.ค. 63 มีอาการทรุดในลักษณะที่คล้ายเดิม คือ ปวดท้องกะทันหัน อาเจียนเป็นเลือด ปากบวม อุจจาระเหลวสีดำ ซึ่งถือว่าวิกฤต จนต้องย้ายน้องเข้ามารักษาอาการที่ห้องไอซียู จากนั้นทำการส่องกล้องซ้ำที่กระเพราะอาหาร มีแผลอักเสบรุนแรง ซึ่งครั้งนี้ทำให้ทางทีมแพทย์เริ่มสงสัยว่าร่างกายของน้องน่าจะได้นับสารกัดกร่อน

“ทีมแพทย์รักษาอีก ในวันที่ 23 ม.ค. จนถึงต้นเดือนเมยายน น้องออกจากห้องไอซียู กลับมารักษาที่หอผู้ป่วยพิเศษ ซึ่งน้องสามารถรับอาหารจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาเยี่ยม และทางญาติก็สามารถเข้ามาเยี่ยมได้ตามปกติ และเมื่อออกมาได้ไม่นาน อาการของน้องก็ทรุดและดี สลับกัน ทางทีมแพทย์จึง แพทย์เริ่มสงสัยอาการที่ไม่สอดคล้องกับการรักษา จึงเริ่มจำกัดการเข้าเยี่ยม ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง โดยไม่อนุญาตให้นำอาหารเข้ามาเยี่ยม และเวลาที่แม่ปุ๊กเข้าเยี่ยมจะมีทีมแพทย์คอยอยู่ด้วยตลอดเวลา”

กระทั่งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. น้องอาการดีขึ้น กำลังจะเตรียมตัวกลับ ทีมแพทย์แจ้งกับแม่ปุ๊ก ว่าให้น้องอยู่ที่โรงพยาบาลไว้ก่อน เพื่อประวิงเวลา ขณะที่หมออีกทีมหนึ่งไปประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ(พม.) เพื่อให้มารับตัวน้องในวันที่ 18 พ.ค.

โดยอาการของน้องอิ่มหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาล จะมีภาวะแทรกซ้อน มีรอยผนังทะลุข้างลำคอ รอให้แผลค่อยๆ หาย และน้องมีอาการเสียงแหบ เหนื่อยง่ายเวลาเล่นเพราะมีการอักเสบทางปอด ซึ่งอาการล่าสุดของน้องอิ่มตอนนี้ยังไม่ได้เข้าไปเยี่ยม แต่หลังจากนี้จะมีการผ่าตัดที่คอเพื่อรักษา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในระหว่างที่รักษาตัวน้องอิ่มนั้น แม่ปุ๊กนั้น จะคอยดูแลน้องอย่างใกล้ชิด และเป็นคนที่ป้อนอาหารน้องเกือบทุกครั้ง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยเด็ก และอยู่ในห้องพิเศษด้วย

ส่วนการตั้งข้อสังเกตของทีมแพทย์นั้น ทางแพทย์รู้สึกว่า ถ้าเป็นการอาการแพ้เมื่อไม่ได้รับเชื้อนั้นแล้ว อาการก็จะทุเลาลงและหายไป แต่ปรากฏว่ากรณีของเด็กทั้งสองคนนี้ แม้ว่าจะไม่ได้รับอาหารชนิดนั้นแล้ว อาการก็ยังคงทรุดอยู่ ทำให้ทีมแพทย์คาดว่า น่าจะเกิดอาการแพ้สารเคมีบางชนิดที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะจุดของร่างกาย ซึ่งเป็นทางระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ปาก ไปจนถึง กระเพราะอาหาร

ในส่วนของอมยิ้ม น้องเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลในวันที่ 20 ธ.ค.2561 รักษากันอยู่ประมาณ 8 เดือน ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 12 ส.ค.2562 โดยมีการเข้าออกจากโรงพยาบาล 7 ครั้ง ซึ่งมีอาการคล้ายกันกับน้องอิ่ม โดยน้องยิ้มมีอาการเลือดออกจากทางเดินอาหาร จึงต้องส่องกล้อง พบว่ามีอาการอักเสบตามเยื่อบุต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา และมีความดันโลหิตสูงมาก และต่อมาน้องเสียชีวิตด้วย ภาวะตับและไตวาย ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่ได้รับ ภาวะแทรกซ้อนหลายโรคและต้องรักษาตามอาการ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรณีที่ของผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายด้วยการดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีสารกัดกร่อน จะมีลักษณะแผลใกล้เคียงแผลของน้องทั้งสองคน แต่อย่างไรก็ตาม อาการของน้องอิ่มและน้องยิ้มนั้น ทางทีมแพทย์ไม่เคยเจอ

ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลของน้องทั้งสองคนนั้น เป็นการรักษาตามสิทธิ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช., กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก และกองทุนสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยค่าใช้จ่ายของน้องยิ้มทั้งหมด อยู่ที่ 1.5 ล้าน ยอดจริง ส่งตรวจเลือดที่ต่างประเทศ แม่จ่ายส่วนต่าง 4.3 แสน น้องอิ่ม 1.2 ล้าน ส่วนเกิน 8.6 หมื่น แม่จ่าย 4.3 หมื่น รพ.ใช้กองทุนเด็ก 4.3 หมื่น

เรื่องของสารเคมีที่เด็กทั้งสองคนได้รับ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จึงอยากให้รอผลอย่างเป็นทางการ จากพนักงานสอบสวน เนื่องจากหลายประเด็นมีผลกระทบต่อรูปคดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน