สธ.ชี้พื้นที่ปิด ทำติดเชื้อได้ไกลกว่า 2 เมตร บีทีเอสมีแผนเปิดหน้าต่างวิ่ง หวังลดเสี่ยงแพร่เชื้อ ย้ำร้านอาหารต้องจัดระยะห่าง 2 เมตร มีฉากกั้นละอองฝอยน้ำลาย

วันที่ 27 พ.ค. นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 รายกลับจากสหรัฐอเมริกา และตรวจพบโควิด-19 วันสุดท้ายก่อนออกจากสถานกักกันของรัฐ (State Quarantine) ว่า

ทั้ง 2 รายมาถึงวันที่ 12 พ.ค. ตรวจครั้งแรก 18 พ.ค. ไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 24 พ.ค. ไม่พบเชื้อ และตรวจครั้งที่ 3 วันที่ 26 พ.ค. ก่อนครบระยะกักตัว 14 วัน จึงพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ จึงเป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลากักตัว ซึ่งการจะดำเนินการใดต้องอาศัยหลักทางวิชาการและความเป็นไปได้ด้วย ไม่ใช่อาศัยหลักคิดไปเอง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

“ผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ทำให้สบายใจกับสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเฉลิมฉลอง เพราะฝ่ายวิชาการยังเชื่อว่า เราจะยังมีผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศ อาจจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ จึงไม่เข้ารับบริการตรวจ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำการเฝ้าระวัง และการออกไปค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” นพ.ธนรักษ์กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แม้จะมี 65 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในรอบ 1 เดือน แต่จังหวัดที่เคยมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากมาก่อน ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะแม้ไม่เจอผู้ป่วยแล้ว แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหลงเหลืออยู่ในชุมชน โดยเฉพาะ 8-9 จังหวัด ได้แก่ กทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายกับจีนที่ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยใหม่มาแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็กลับมาพบผู้ป่วยประปราย แสดงว่ายังมีคนอาการน้อยหลงเหลือในชุมชน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตัวอย่างผลการสอบสวนโรคในจีน เช่น กรณีรถโดยสารปรับอากาศ เป็นสถานที่อากาศปิด ใช้ระบบปรับอากาศ คนจำนวนมากอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน พบว่าเชื้อสามารถแพร่ได้ไกลสุดถึง 4.5 เมตร มากกว่าระยะปกติที่อยู่ 1-2 เมตร ผู้ใช้บริการจะต้องใส่หน้ากากป้องกันตลอดเวลา โดยรถไฟฟ้าบีทีเอสมีแผนที่จะเปิดหน้าต่างวิ่งรถ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

นอกจากนี้ยังมีกรณีร้านอาหารที่จีน มีการใช้เครื่องปรับอากาศทำให้อากาศหมุนเวียนอยู่ภายในร้าน และส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่หน้ากากป้องกัน แม้เป็นคนที่นั่งห่างจากคนป่วยก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้นในร้านอาหารที่อากาศปิดไม่ถ่ายเท จึงต้องจัดให้นั่งห่างกัน 1-2 เมตร ติดฉากกั้นป้องกันไม่ให้ละอองฝอยน้ำลายไปติดคนอื่น

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า สำหรับประเทศสวีเดนนโยบายค่อนข้างเปิด ไม่อยากปิดกิจการเท่าไร จึงปล่อยให้แพร่ระบาด เพราะตั้งใจให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าครึ่งหนึ่งของประชากรจะติดเชื้อใน พ.ค. และจะยุติแพร่ระบาดได้ ถ้าติดเชื้อร้อยละ 60 ของประชากร ทำให้เมื่อเทียบกับกลุ่มยุโรปเหนือ สวีเดนมีผู้ป่วยค่อนข้างมาก อัตราตายสูงกว่าหลายเท่า แต่เมื่อมีการสำรวจไม่กี่วันที่ผ่านว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นไปตามคาดหรือไม่ ปรากฏว่าการติดเชื้อสะสมถึง พ.ค.เพียงแค่ 7% ของประชากรทั้งหมด ไม่ไปเร็วอย่างทางการคิด หลายประเทศที่ใช้มาตรการนี้ก็กังวลจะควบคุมโรคต่อไปอย่างไร

“สอดคล้องกับหลายประเทศในยุโรปที่เคยมีการระบาดกว้างขวาง ยอดติดเชื้อสะสมก็ยังไม่ได้สูงมากเหมือนคาดหวังให้จบไวๆ การเปิดให้แพร่ระบาดโรคอย่างอิสระคงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมของไทย เพราะศักยภาพด้านการแพทย์ จำนวนเตียง แพทย์ต่อประชากร ไม่ได้มีมากมายเหมือนประเทศร่ำรวยแล้ว การแพร่ระบาดเหมือนไปเร็ว ก็ไม่ได้เร็วอย่างที่คิด” นพ.ธนรักษ์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน