คณบดีศิริราช ชี้โควิดทั่วโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ไทยเหมือนอยู่ท่ามกลางไฟไหม้ ต้องเข้มมาตรการไม่ให้เชื้อเข้าประเทศ อย่ากลัวระบาดระลอก 2 แนะวิธีรับมือ

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ไลฟ์วิเคราะห์สถานการณ์โรคโควิด-19 แนวทางดำเนินการกับการระบาดระลอก 2 ผ่านเฟซบุ๊ก Siriraj Channel ว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่และอันตรายของเชื้อโควิด-19 สาเหตุมาจากองค์การอนามัยโลกเฝ้าติดตามการเกิดของผู้ป่วยใหม่ของทั่วโลกพบว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เดิมตัวเลขผู้ป่วยจะผ่านหลักล้านคน จะใช้เวลาเกือบ 10 วัน แต่ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5-16 ก.ค. 2563 พบว่าใช้เวลา 4-5 วัน จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน

ส่วนผู้เสียชีวิตต่อวัน ขณะนี้เกือบๆ 4-5 พันคน ซึ่งการที่อัตราป่วยเพิ่มสูงมาก แต่อัตราเสียชีวิตไม่มาก น่าจะมีปัจจัย 2-3 อย่าง เช่น ความรุนแรงของไวรัสน้อยลงไปหรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหลายประเทศมีการปรับตัว ในการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงรุนแรงและเสียชีวิตให้ห่างไกลจากเชื้อโควิด-19 อย่างสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ทำลายสถิติแทบทุกสัปดาห์ อัตราป่วยเพิ่มขึ้นตลอด อัตราการเสียชีวิตเริ่มถอยลง แต่กำลังกลับมาขึ้นใหม่ บางรัฐเริ่มประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องอยู่ไอ.ซี.ยู. เริ่มมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนบราซิลติดเชื้อวันละ 4-5 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ระบบสุขภาพอาจไม่ดีเท่าหลายประเทศ เมื่อติดเชื้อเยอะมากขึ้น การเสียชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน มีผู้วิเคราะห์ว่า ยังไม่ถึงจุดสูงสุด อาจถึงตอนปลาย ก.ค. หรือ ส.ค. ขณะที่อังกฤษ สถานการณ์เริ่มไปในทางที่ดีขึ้น แนวโน้มค่อนข้างลดลง คู่ขนานกับอัตราการเสียชีวิตก็ค่อยๆ ลดลง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เยอรมนีดีขึ้น เวฟที่ 1 กำลังผ่านไปแล้ว และก็กลับขึ้นมา เหตุที่เกิดขึ้นมาจากจุดเดียวในโรงงานผลิตเนื้อแห่งหนึ่งทางตอนเหนือ ที่ไม่มีการรักษาระยะห่าง รัฐบาลขอที่อยู่คนงานเพื่อติดตามผู้เสี่ยงแพร่เชื้อ บริษัทไม่ยอมให้ แต่แม้ผู้ป่วยจะเพิ่มเป็น 400-500 คน แต่ยังควบคุมอัตราการเสียชีวิตได้ ด้านอิหร่านยังอยู่ในระลอกแรก ตัวเลขยังไม่ลงเลย ติดเชื้อใหม่ 2 พันกว่ารายทุกวัน ขณะที่ญี่ปุ่นคุมได้แล้ว แต่กำลังเข้าสู่ระลอก 2 ซึ่งเริ่มเอาไม่อยู่ แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ที่มีการติดเชื้อแต่อัตราการเสียชีวิตต่ำมาก

สำหรับประเทศไทย ผ่านระลอก 1 ไปแล้ว อัตราการเสียชีวิตน้อย แต่การจัดการกับโรคที่แพร่ระบาดได้ง่ายเหมือนไวรัสแบบนี้ หากพลาดนิดเดียวก็มีโอกาสกลับมาได้ ตอนนี้ทั่วโลกเกิดการแพร่กระจาย และอยู่ในช่วงขาขึ้น เสมือนไฟไหม้ในห้องต่างๆ รอบห้องเรา ซึ่งควันจากไฟไหม้ในห้องต่างๆ มีโอกาสรั่วผ่านหน้าต่างห้องมาในประเทศไทย ดังนั้น หน้าต่างต้องอย่าเปิดเด็ดขาด แต่ก็มีโอกาสรูรั่วต่างๆ ที่ทำให้ผ่านเล็ดรอดเข้ามา หากคนไทยช่วยกันสอดส่อง ทันทีมีไฟรั่วเข้ามา ช่วยกันปิด ค้นหา จัดการ และภายในก็ดูแลสุขภาพให้พร้อมกับสถานการณ์ เรามีโอกาสให้บ้านของเราเป็นสีเขียว ไม่มีสีแดง จนกว่าจะมีวัคซีนหรือสิ่งที่มาดับไฟรอบตัวเรา”

การจัดการโรคติดเชื้อมองเฉพาะประเทศเราเองไม่ได้ ต้องมองโลกทั้งใบ เพราะการเคลื่อนย้ายของคน ไวรัส สามารถผ่านชายแดนเข้ามาได้ง่ายมากในประเทศไทย ไม่ว่าเดินทางเครื่องบิน รถ เท้าเปล่า จากชายแดน มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เราไม่รู้คนเข้ามาติดเชื้อหรือไม่ มาตรการต่างๆ ที่ทำต้องเข้มงวด เพราะมาตรการจะช่วยบ้านเราปลอดจากควันไฟ แต่คนไทยต้องช่วยกัน เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการระบาดระลอก 2 แต่อย่าไปกลัวการระบาดระลอก 2 ไม่ได้เป็นเรื่องว่าจะมา ไม่มา แต่จะมาในรูปแบบไหน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุต่อว่า รูปแบบที่อยากให้เป็น คือ สโลว์เบิร์น คือ รอบแรกที่ติดเชื้อเยอะ เราช่วยกันกดให้ลดลง คือ ทุบด้วยค้อน แต่ต้องแลกด้วยเศรษฐกิจ ไม่สามารถออกไปทำงาน ขายของ แต่เมื่อดีขึ้นก็ต้องผ่อนให้ฟ้อนรำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีก แต่หากรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ โอกาสติดเชื้อน้อยลง สิ่งที่ช่วยกัน คือ เช็กอิน-เช็กเอาต์ให้ได้ ถ้าทำแบบนี้รูปแบบการระบาดระลอก 2 ก็จะเป็นสโลว์เบิร์นได้ คือ ติดเชื้อขึ้นมา แต่ไม่สูงและลดลง

การที่เราไม่มีการติดเชื้อใหม่ เราต้องมองเหรียญสองด้าน ไม่มีติดเชื้อใหม่ในประเทศหรือเป็น 0 เป็นสิ่งที่ดี แต่หากผมติดเชื้อโควิด แต่แข็งแรงดี ไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีอาการ แต่ทุกครั้งไปไหนใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เช็กอิน-เช็กเอาต์ และทุกคนทำเหมือนกัน ต่อให้มีเชื้อ โอกาสแพร่เชื้อจะน้อย เพราะเราทำแบบนี้

“แต่หลายคนเข้าใจว่าการที่ติดเชื้อ 0 แปลว่าไม่มีติดเชื้อในไทยแล้ว ทุกคนตัดสินใจถอดหน้ากากออก ตอนนั้นเชื้อในตัวอาจไปให้คนถัดไป คนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อก็แพร่กระจายต่อ เป็นอีกด้านของเหรียญ แม้ไม่มีเชื้อใหม่กว่า 50 วัน แต่อย่าเพิ่งผ่อน เราไม่กล้าบอกจริงๆ ว่าไม่มี ตอนนี้อาจมีใครติดเชื้ออยู่แต่ไม่มีอาการ แต่ระบบอาจยังตามหาไม่เจอ อาจเจออีก 2 วัน แต่คิดดูกว่าจะเจอ 2 วันไปคุยไปเจอกับใครแล้ว”

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ชี้ว่า ถ้าเราทำกันแบบนี้ จุดตรงไหนที่เกิดอุบัติการณ์ เกิดกับกิจกรรมใด ก็หยุดกิจกรรมนั้น แก้ไขให้ดีแล้วค่อยเปิดใหม่ ตรงไหนไม่มีปัญหาก็ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ คนไทยยังออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ ถ้าการระบาดระลอก 2 เป็นแบบนี้ อัตราเสียชีวิตจะต่ำ ตัวเลขแบบนี้จะไม่เกินระบบบริการสุขภาพ ที่ไม่อยากให้เกิด คือ ยอดเขาหุบเขา คือ ระบาดระลอก 1 ลดติดเชื้อลง เปิดกิจกรรมใหม่ ติดเชื้อเยอะขึ้นมาอีกเหมือนรอบแรก หรืออีกแบบคือมากกว่ารอบแรก

ขณะนี้คนไทยมีภูมิต้านทานเชื้อน้อยมาก สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้เชื้อเข้ามา ไม่ใช่ว่าให้รอแต่วัคซีน แต่เราต้องดูแลและป้องกันตัวเองด้วย และแม้จะบอกว่าเรามียา แต่เราก็ยังนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ต้องไม่ให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก เพราะหากยายังน้อยก็จะน่ากลัวมาก และในเรื่องการกลายพันธุ์นั้น ยังไม่มีหลักฐานว่า จะมีผลต่อวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน