เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบประมาณฉุกเฉินเร่งด่วนประจำปี 2563 ให้แก่ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้รับรายงานผลจากการขุดศึกษา พบว่า โบราณสถานโคกแจง เป็นศาสนสถานสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างด้านละประมาณ 7.20 เมตร ทำบันไดกึ่งกลางด้านทั้ง 4 ด้าน

โดยระหว่างการขุดศึกษา พบหลักฐานใหม่ เป็นแผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 26.2 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในพื้นที่กรอบอิฐ ซึ่งแผ่นดินเผาทรงกลมนี้พบการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์

แผ่นดวงฤกษ์

โดยมีลักษณะการขีดออกเป็นแฉกจากแกนกลาง แบ่งเป็น 12 ช่อง และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย และในแต่ละช่องตารางย่อยพบตัวอักษรจารโบราณกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ริมขอบแผ่นดินเผาอีกด้วย

ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พิจารณาเบื้องต้นจากรูปอักษรบางตัวที่ปรากฏ มีความเห็นว่า รูปอักษรดังกล่าว เป็นอักษรหลังปัลลวะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14หรือ กว่า 1,000 ปี มาแล้ว

ถือครั้งแรกที่พบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยพบหลักฐานแผ่นอิฐมีการทำลวดลายพิเศษ สันนิษฐานว่า เป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม และที่เจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้น แผ่นฤกษ์ มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดี ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน