ทันตแพทยสภา ยืนยันข้อมูล ไทยเลิกใช้ยาชาผสมโคเคนมานับ 100 ปี พร้อมให้ข้อมูลตำรวจ และขอข้อมูลหมอฟัน บอส อยู่วิทยา เล็งสอบ

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่อาคารสภาวิชาชีพ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์มีการใช้โคเคนในทางทันตกรรมมีในอดีตมากกว่า 100 กว่าปี แต่นับตั้งแต่มีการพัฒนายาชาตัวอื่นขึ้นมาก็ไม่มีการใช้อีกเลย ในทางทันตกรรม ส่วนตัวหมอเองก็ไม่เคยใช้โคเคนในทางทันตกรรมเลย เรื่องนี้ทันตแพทย์ต่างตื่นตัวออกมาให้ข้อมูลไปสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าประเทศไทยไม่มีการใช้โคเคนในทางทันตกรรมมามากกว่า100 ปีแล้ว

ด้าน พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งตำรวจให้ข้อมูลว่าสารโคเคนที่ตรวจพบเกิดจากการรักษาฟัน จึงเป็นเหตุให้ตำรวจไม่สั่งฟ้องคดียาเสพติด ว่า โคเคนเป็นสารเสพติดที่มาจากพืชโคคา ในอดีตอาจจะเคยใช้ในวงการทันตกรรมเพื่อให้เกิดอาการชา

แต่ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคน ในการทำฟันแล้ว เพราะมีผลข้างเคียงกับสุขภาพ ทำให้ ความดันโลหิตสูง มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ จึงมีการพัฒนายาชาประเภทอื่นๆ ขึ้นมา เป็นลักษณะของสารสังเคราะห์ คือ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน เป็นต้น ส่วนใหญ่ลงท้ายด้วยคำว่า “เคน” ซึ่งยาชาตัวที่เป็นสารสังเคราะห์ จะทำให้เกิดอาการบาที่ดีกว่า ผลข้างเคียงน้อย ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารนี้ จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้ และหายไปจากวงการทันตกรรม

เมื่อถามถึงฤทธิ์ของโคเคนจะอยู่ในร่างกายคน หากมีการใช้เพื่อรักษาฟันจริง นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน เพราะมีการใช้ในปริมาณน้อยมากและใช้เฉพาะจุด ส่วนตัวยาชาที่เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบ จะมีใช้ 2 รูปแบบคือ การป้ายเยื่อบุบริเวณที่ต้องการให้เกิดกานชา และ การฉีดเฉพาะจุด จะออกฤทธิ์ไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมง เท่านั้น ส่วนจะมีสารตกค้างอยู่ในร่างกายหรือไม่นั้น ก็เหมือนกับสารสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ ที่มี การตกค้างได้บ้าง แต่ไม่ได้อยู่นานตลอดวัน เช่น น้ำยาบ้วนปาก ที่มีการผสมแอลกอฮอล์ หากใช้บ้วนปากแล้ว เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ก็จะพบ ปริมาณแอลกอฮอล์ตกค้างได้

เมื่อถามต่อว่าทันตแพทยสภาจะต้องมีการตรวจสอบดำเนินการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ กล่าวว่า ขณะนี้ ทางตำรวจยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก และโดยปกติทันตแพทย์ จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ยกเว้นเป็นคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ในการเรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ และทางทันตแพทยสภา พร้อมให้ข้อมูล และอยากขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่ให้การรักษานาย บอส อยู่วิทยา ด้วยเช่นกัน หรือ หากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาก็พร้อมตรวจสอบ

นายกทันตแพทยสภา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติด มีการอนุญาตให้ใช้สารเสพติดบางชนิด ในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน,โคเคน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ของแพททย์และ กฎหมาย เพราะ มีกลุ่มคนบางกลุ่ม ลักลอบใช้เป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน